“อานนท์” มั่นใจ 30 พ.ย.ระดับน้ำคลองรังสิต-หกวา ต่ำกว่าตลิ่ง ซึ่งจะสามารถเอาบิ๊กแบ็กบริเวณทางรถไฟสายเหนือไปถึงถนนสายไหม 85 ออกได้ พร้อมวอนประชาชนที่ขัดแย้งเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ ให้ทำความเข้าใจ เนื่องจากปล่อยน้ำผ่าน กทม.เพื่อให้ระบายออกไม่ได้เอามาขังไว้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันนี้ (24 พ.ย.) ในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง ได้โทรศัพท์เข้าร่วมพูดคุยในประเด็นน้ำท่วม
ต่อข้อถามว่าเมื่อไหร่บิ๊กแบ็กจะหมดบทบาทและรื้อออกได้ ดร.อานนท์กล่าวว่า ขอพูดถึงบิ๊กแบ็กส่วนดั้งเดิมที่สร้างขึ้นอันแรก คือตั้งแต่แนวทางรถไฟสายเหนือที่ตัดสะพานข้ามคลองรังสิต ยาวลงมาหัวสนามบินดอนเมืองเลี้ยวผ่านหัวสนามบิน ไปตามแนวถนนจันทรุเบกษาถึงแนวคลองหกวา ยาวไปตะวันออกจนไปถึงถนนสายไหม 85 อันนี้ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร แต่เดี๋ยวนี้มีไปสร้างบิ๊กแบ็กหลายที่ ตนขอพูดถึงเฉพาะบิ๊กแบ็กดั้งเดิมอันนี้ว่า เราสามารถเอาออกทั้งหมดเมื่อระดับน้ำคลองรังสิต-คลองหกวา อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ซึ่งตอนนี้ก็เกือบแล้ว หมายความว่าประมาณวันที่ 30 พ.ย. สิ้นเดือนนี้ บิ๊กแบ็กอันนี้ไม่มีความจำเป็นแล้ว
ส่วนแผนการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออก ตอนนี้พยายามเร่งโปรยน้ำลงสู่ทะเล ซึ่งตอนพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในระบบเกือบหมดแล้ว ส่วนฝั่งตะวันตกจะมีพื้นที่ตรงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่น้ำยังไม่เข้าในระบบอยู่
โดยจะแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบน จาก กทม.ขึ้นไปนนทบุรี ปทุมธานี ไล่ไปถึงยังบางส่วนของพระนครศรีอยุธยา ต้องไล่จากข้างล่างที่พื้นที่เข้าสู่ระบบมากสุดแล้ว พื้นที่ กทม.และปริมณฑลส่วนพุทธมณฑล ตรงนี้น้ำเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบการบริหารจัดการแล้ว ไม่ได้หมายความว่าไม่ท่วม แต่แม้ว่าน้ำเอ่อท่วมอยู่ แต่เราสามารถบริหารได้ เพียงแต่ว่าน้ำยังไหลไปในทิศทางที่เราไม่สามารถเร่งให้เร็วกว่านี้ได้
ดร.อานนท์กล่าวอีกว่า ตอนนี้แม่ท่าจีนระบายน้ำได้ดี 24 ชั่วโมง แต่แม่น้ำจ้าพระยาสามารถเปิดได้เฉพาะช่วงน้ำทะเลลงและยังต้องใช้เครื่องสูบ ซึ่งดูอยู่เมื่อน้ำทะเลลงเปิดประตูจะเร่งระบาย ตอนนี้ทีมวิศวกรรมกำลังเร่งหาวิธีที่จะเร่งน้ำให้ได้
ส่วนเรื่องเปิดประตูระบายน้ำทำให้ประชาชนในต่างพื้นที่ขัดแย้งกัน คงต้องดูว่าเปิดแล้วผลที่เกิดขึ้นรุนแรงหรือไม่ บางครั้งน้ำเพิ่ม 2-3 ซม. ซึ่งอยู่ในระดับรับได้ แต่ถ้าขึ้นไม่สิ้นสุดทุกคนกังวล เพราะน้ำขึ้นเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับความเร็วในการระบายออก เราไม่ได้เปิดน้ำมาขังใน กทม.แต่เปิดเพื่อให้ผ่านออกไป
ไม่ได้มาใช้ตรงนี้เป็นแก้มลิง ถ้าใช้เป็นแก้มลิงแสดงว่าจะเก็บน้ำไว้ แต่การผ่านลำน้ำมันอีกเรื่องหนึ่ง บางคนสับสนในเรื่องนี้ เพราะคลองบางอันเราใช้เป็นแก้มลิง บางทีก็ใช้เป็นทางผ่านน้ำ มันมีเทคนิคบริหารหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน