ผอ.ศูนย์วิจัยสารสนเทศฯค้านข้อเสนอ 20 ส.ส.เพื่อไทยที่จะให้ย้ายเมืองหลวง แจงไม่ใช่เรื่องง่าย สถานที่สำคัญหลายแห่งอยู่ที่นี่ อีกทั้งข้อมูล กทม.ทรุดปีละ 20 ซม.ไม่จริง ขนาดเมื่อก่อนทรุดแค่ 1-3 ซม.ต่อปี ยิ่งทุกวันนี้แทบไม่ทรุดเลยเพราะเลิกใช้น้ำบาดาลแล้ว ซัดถ้ามีเงื่อนไขแค่นี้อย่าพูด มั่นใจใช้แนวคิด “ในหลวง” จัดการน้ำอย่างยั่งยืน และทุกคนช่วยกันทำงานตั้งแต่วันนี้ สู้น้ำได้แน่นอน
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันนี้ (15 พ.ย.) ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผอ.ศูนย์วิจัยสารสนเทศแห่งประเทศไทย ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ว่า ที่พูดกันว่า กทม.จะจมบาดาลใน 50 ปีข้างหน้า อันนั้นไม่น่ากังวลนักหนา แผ่นดินเราไม่ได้ทรุดถึง 20 ซม.ต่อปี อันนั้นข้อมูลคลาดเคลื่อน เมื่อก่อนทรุดประมาณ 1-3 ซม.ต่อปี ซึ่งปัจจุบันก็แทบไม่ทรุดแล้วเพราะเราเลิกใช้น้ำบาดาลมานาน
แม้แต่การศึกษาระดับโลกก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าน้ำจะขึ้นทุกที่เหมือนกัน บางประเทศต่ำกว่าน้ำก็ยังอยู่ได้ การที่กังวลว่า กทม.จะจมน้ำใน 25-50 ปี มันไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลันแน่นอน มันมีจะเงื่อนไขระหว่างทาง ตนไม่กลัวกรุงเทพฯ จมน้ำ เพราะเราอยู่กับน้ำมานานแล้ว เราต่างหากที่รู้สึกว่าต้องไม่มีน้ำ
ผศ.ดร.สมบัติกล่าวอีกว่า มีบางคน (ส.ส.เพื่อไทย) เสนอให้ย้ายเมืองหลวง ถ้ามันง่ายอย่างนั้นก็ดี การเสนออะไรโดยมีเงื่อนไขแค่นี้ไม่ควรพูด เราต้องจำกัดการเติบโตของเมือง ไม่ไปปลูกสร้างในที่ที่ไม่ควร อะไรที่กีดขวางคลองก็ต้องไปจัดการ ที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลย ให้รุกรานทางน้ำผ่าน
แล้วที่บอกว่านครนายกพื้นที่ลาดชันน้ำมาจะระบายออกได้สะดวก ซึ่งพื้นที่ลาดชันในประเทศมีเต็มไปหมด เลือกเอาได้ทั้งอีสาน มีเงื่อนไขแค่นี้มันไม่ควรพูดเรื่องนี้ในตอนนี้
จัดโซนนิ่งทำผังเมืองใหม่ หาเมืองรองรับการขยายตัวของเมือง ได้ทำหรือยัง สิ่งนั้นคือสิ่งที่ต้องทำ แล้วมาออกแบบวิศวกรรมในการป้องกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นฟลัดเวย์ คันกั้นน้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถอยไม่ได้ เมืองเราอยู่นี่ สถานที่สำคัญอยู่ที่นี่ทั้งหมด แล้วจะย้ายไปไหน มันสู้ได้ ไม่อยากให้โดดข้ามช็อตแล้วพูดอะไรออกมาไม่สมเหตุสมผล อยากให้อยู่กับความเป็นจริงแล้วแก้ปัญหา
เมื่อถามว่าการจัดลำดับวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลในฐานะคณะกรรมการกยน.มีอย่างไรบ้าง ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ตนก็ยังใช้แนวคิดของพระองค์ท่าน ที่ดร.สุเมธ ได้ให้สัมภาษณ์หลายๆครั้ง เราต้องดูลุ่มน้ำย่อยทุกระบบ ลุ่มน้ำใหญ่ ให้ยั่งยืน ความหมายคือ ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร จัดการทรัพยากรในพื้นที่ ทุกอย่างต้องมีข้อมูลการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม นั่นคือความยั่งยืนอย่างแน่นอน จะใช้เวลา 20 ปี ก็ต้องทำ เราจะมาแก้ไขปัญหาระยะกลาง ระยะปลายอย่างเดียวไม่ได้
หลายคนกังวลว่าเราจัดการพิบัติภัยอย่างเดียวหรือจัดการน้ำทั้งระบบ มันแยกไม่ออก เพราะหากเราจะจัดการพิบัติภัยเราก็ต้องดูแลน้ำต้นทุน ทั้งใช้ในการเกษตร ทั้งใช้ลดพิบัติภัย ใช้ในหน้าแล้ง การจัดการชายฝั่ง อุตสาหกรรม ใช้ในการอุปโภค บริโภค ซึ่งเราก็ต้องใช้ เราหนีไม่พ้น ต้องใช้ที่ดินให้เหมาะสม ต้องโซนนิ่งมันให้ดี แล้วใส่วิศวกรรมในพื้นที่ที่เราตั้องสู้ นั่นคือมาตรฐานสากล แค่มาดูแลส่วนล่างแล้วผลักน้ำไปให้ดีที่สุด โดยหน้าแล้งไม่มีน้ำใช้ อันนั้นไม่ยั่งยืน ต้องเป็นธรรมกับทุกลุ่มน้ำ
คนมักถามปีหน้าจะน้ำท่วมหนักแบบนี้หรือไม่ ตนคิดว่าทุกคนต้องช่วยกัน ทำงานอย่างเป็นระบบ ทำงานหนักอย่างตลอด ตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่น้ำท่วมแล้วค่อยมาพูดกัน มันไม่ได้