โฆษก ปชป.โต้ “เหลิม” อ้าง 15 ล้านเสียงหาความชอบธรรมออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมินกระแสคัดค้าน โวยชอบใช้เสียงข้างมากลบล้างความผิดให้ตัวเอง เตือนนายกฯ อย่าทำตัวเหนือปัญหาหนีแก้ไขน้ำท่วม ลอยแพ ปชช.แต่กลับโยนบาปให้องค์กรท้องถิ่น
วันนี้ (24 พ.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี อ้างถึงคะแนนเสียง 15 ล้านเสียงที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแล้ว จะทำให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยมิต้องฟังเสียงคัดค้านว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายบริหารจะอ้างเสียงของพี่น้องประชาชนแล้วสามารถไปแทรกแซงอำนาจในส่วนอื่นๆ เช่น ในส่วนของตุลาการ หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตใครที่ทำผิดคิดร้ายต่อประเทศก็สามารถหาทางเอาชนะการเลือกตั้งแล้วลบล้างความผิดให้แก่ตัวเองได้ รัฐบาลควรเอาเวลาไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้ รวมทั้งการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้มีการหาเสียงไว้ เช่น ค่าแรง 300 บาท ที่ขณะนี้ก็มีการเลื่อนไปเริ่มต้นใน7 จังหวัดนำร่องในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่ได้เคยสัญญากับประชาชนว่าจะทำทันที
สำหรับประเด็นในเรื่องสถานการณ์อุทกภัยในขณะนี้นั้น ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีจะทำตัวอยู่เหนือปัญหาเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข แต่ปล่อยให้ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ตกลงแก้ไขปัญหาเอาตัวรอดกันไปเอง เราต้องเห็นภาพของพี่น้องประชาชนรวมตัวกันประท้วง ปิดถนน ข่มขู่ ในการที่จะเรียกร้องให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา ภาพของการทำลายทรัพย์สิน รถยนต์ บนโทลล์เวย์ เพียงเพื่อต้องการให้รัฐหันมาสนใจแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาอย่างจริงจัง แต่ถึงขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถให้ความมั่นใจใดๆ ได้เลย ทั้งๆ ที่หน้าที่การบริหารในภาพรวมทั้งหมด เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะ ศปภ.ซึ่งอ้างว่าเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงาน และต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายให้ท้องถิ่นปฏิบัติเพื่อให้สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศดีขึ้นโดยเร็ว รวมทั้งต้องเป็นผู้ให้ความมั่นใจในเรื่องการชดเชยเยียวยาที่เพียงพอต่อประชาชน
นอกจากนั้น รัฐบาลยังเหมือนพยายามโยนบาปให้กับท้องถิ่น โดยเฉพาะ กทม. ทั้งๆ ที่การปฏิบัติการใดๆ ก็เป็นสิ่งที่ ศปภ.เห็นชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และนายกรัฐมนตรีเองก็มีอำนาจสูงสุดตามมาตรา 31 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เหตุใดหากมีปัญหาจริงจึงไม่ใช้อำนาจของตัวเองในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่านายกฯ ทราบดีว่าปัญหาต่างๆ มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง แต่เพียงต้องการโยนบาป โยนความรับผิดชอบออกจากตัวเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ท่านละทิ้งหน้าที่ ละทิ้งประชาชน รวมทั้งไม่ให้ความใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาของพี่น้อง รวมทั้งมิได้มีท่าทีตอบสนองอย่างชัดเจน ต่อข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านในเรื่องมาตรการเยียวยาที่ต้องมีการเยียวยาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับผู้ที่ประสบอุทกภัยยาวนานมากกว่า 7 วัน สมควรได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่า 5,000 บาท ในลักษณะของอัตราการจ่ายแบบขั้นบันได ส่วนในพื้นที่ที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่ท่วม 100% นั้น พรรคฯ เห็นว่ารัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่นั้นทันที โดยมิต้องดำเนินการตรวจสอบทางเอกสาร หรือขั้นตอนระเบียบทางราชการใดๆ เพิ่มเติม เพียงแต่ตรวจสอบรายชื่อประชาชนในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านก็สามารถชดเชยตามหลักเกณฑ์ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่น้ำท่วมขังนั้นไม่ได้เกิดจากภาวะภูมิประเทศโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากนโยบายของภาครัฐที่ทำให้พื้นที่นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่ประสบภาวะน้ำท่วมมากและยาวนานเป็นพิเศษ ยิ่งต้องได้รับการดูแลชดเชยให้เหมาะสม ส่วนการดำเนินการในมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆ นั้นพรรคฯ เห็นว่าเมื่อรัฐบาลมีมติให้มีการชะลอการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้กับพี่น้องประชาชนนั้น รัฐบาลก็ควรชะลอในเรื่องของการลดภาษีรายได้นิติบุคคลให้กับบริษัท โดยอาจนำส่วนต่าง 7% ที่รัฐบาลตั้งใจจะชดเชยให้กับบริษัทเหล่านี้ มาตั้งเป็นกองทุนดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหารวมทั้งทบทวนแนวทางการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหากมีการจ่ายเงินชดเชยแบบขั้นบันไดให้กับประชาชนแล้ว ประชาชนอีก 3 ล้านครัวเรือนที่ประสบภัยในขณะนี้ หากชดเชยเพิ่มเต็มวงเงินอีก 1 หมื่นบาท ก็จะใช้เงินอีก 3 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นวงเงินที่เท่ากับโครงการรถคันแรกของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องผลักดันนโยบายดังกล่าว
มาตรการที่เหมาะสมในขณะนี้นั้น พรรคฯ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งระบายน้ำออกทั้งในฝั่งตะวันตก และตะวันออกของ กทม.ให้เต็มศักยภาพเพราะในขณะนี้สถานีสูบน้ำที่คลอง 13 คลอง 6 วา ก็ยังไม่ได้เปิดใช้เต็มที่ รวมทั้งที่สถานีคลองแสนแสบ ส่วนในฝั่งตะวันตกนั้น พรรคฯ เห็นว่ารัฐบาลอาจย้ายเครื่องสูบน้ำในจังหวัดสมุทรปราการที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ขณะนี้เพราะน้ำไปไม่ถึง ย้ายมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำให้กับพื้นที่ทางตะวันตกเพื่อนำน้ำออกในแม่น้ำท่าจีน สำหรับส่วนกลางของ กทม.นั้นก็ควรเร่งรัดในการขจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำเพื่อให้น้ำสามารถระบายลงตามคูคลองต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
ส่วนมาตรการในระยะการฟื้นฟูนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศว่ารัฐบาล มีแผนในการที่จะสร้างมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยเช่นนี้ ในอนาคต รวมทั้งมีแนวทางที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ เพื่อทำให้บริษัทต่างชาติ มีความมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยไม่ย้ายฐานการผลิต รวมถึงบริษัทประกันภัยก็จะมีความมั่นใจในการที่จะสามารถขายกรมธรรม์ให้กับบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ประเทศ รวมทั้งจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากนั้น กระบวนการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ก็นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีช่องทางการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังต่างชาติว่า สถานการณ์ในขณะนี้รัฐบาลสามารถดูแลควบคุมให้มีความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา รวมทั้งควรมีหน่วยงานในการชี้แจงข้อเท็จจริงและการประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสุดท้าย รัฐบาลควรให้ความสนใจกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่กำลังก่อตัวขึ้นในภาคใต้ สถานการณ์ดินโคลนถล่ม พายุพัดถล่มใน จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ซึ่งดูเหมือนในขณะนี้รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการป้องกัน และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในภาคใต้ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยร้ายแรงขึ้นอีก นอกเหนือจากการที่พี่น้องประชาชนจะต้องเสียชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มเติมแล้ว ความเชื่อมั่นของต่างชาติที่รัฐบาลตั้งความหวังจะสร้างกลับมาก็จะมลายหายไปสิ้น
เช่นเดียวกับกรณีของภัยหนาวที่กำลังก่อตัวขึ้นในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรมีการป้องกันเตรียมพร้อมในการดูแลประชาชนเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ได้ และโดยเฉพาะสถานการณ์ปีนี้มีน้ำมากก็จะทำให้อากาศเย็นลงเร็ว และมากกว่าปกติ