xs
xsm
sm
md
lg

นิคมฯจม-ว่างงานอื้อรบ.เมินดึงกองทุนฯอุ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกชนสวดยับ รัฐบาลเป็นพวก"ทองไม่รู้ร้อน!" ไม่ดูแลผู้ว่างานภาคการผลิตกว่า 7-8 แสนคน แต่นโยบายรัฐบาลกลับทำให้ต้องผิดหวัง หลังเมินข้อเสนอช่วยภาคอุตฯ ดึงเงินกองทุนฯกรณีว่างงาน 5.5 หมื่นล้านเข้าช่วย แถมยืนยันนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน 1 เม.ย.55 ด้านนิคมฯบางชันเร่งวางระบบป้องกันน้ำท่วม หวั่นน้ำทุ่งคลองสอง-คลองพระยาสุเรนต์เอ่อเข้าพื้นที่ทิศตะวันตก ขณะที่การกู้นิคมฯสหรัตนนครใช้วิธีธรรมชาติในการระบายน้ำ คาด 1 สัปดาห์ระดับน้ำลดลง ด้านทูตญี่ปุ่นกระทุ้งรบ.เร่งบริหารน้ำโดยด่วน

**'ห่วงน้ำทุ่งคลองสอง'ทะลักนิคมฯบางชัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก เขตคันนายาวและเขตมีนบุรี ว่า ขณะนี้มีการเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองแสนแสบที่ยังคงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีทหารและเจ้าหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คอยสังเกตการณ์ระดับน้ำที่ท่าเรือวัดบำเพ็ญเหนือ ที่เป็นจุดที่คลองแสนแสบผ่านทิศตะวันออกของนิคมอุตสาหกรรมบางชัน แต่จากการสอบถามทราบว่าขณะนี้ผู้บริหารของนิคมฯ มีความกังวลน้ำทุ่งที่จะไหลมาจากคลองสอง คลองพระยาสุเรนต์ และถ.รามอินทรา เข้านิคมฯบางชันทางทิศตะวันตก ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะมีบึงกระเทียม ที่เป็นพื้นที่แก้มลิงพระราชดำริ คลองกระเทียม และคลองหลอแหล เชื่อมต่อกับคลองบางชันที่ไหลผ่านกลางนิคมฯบางชัน สำหรับคลองบางชันจะเชื่อมต่อจากคลองพระยาสุเรนต์ ก่อนบรรจบกับคลองแสนแสบ ซึ่งขณะนี้น้ำในคลองบางชันไหลเชี่ยวมาก

ทั้งนี้ ที่ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ หลังนิคมฯบางชัน ฝั่งทิศตะวันออกของนิคมฯนั้น ได้เปิดประตูระบายจนพ้นผิวน้ำพร้อมกับนำเรือโดยสารในคลองแสนแสบมาผลักดันน้ำเหนือประตูด้วย ทำให้น้ำไหลได้คล่องมากขึ้น

ขณะที่จากการตรวจสอบพบว่ามีการทำคันดิน เพียงจุดเดียวที่ทิศตะวันตกของโรงงาน เพื่อกั้นน้ำในคลองหลอแหล ส่วนการป้องกันน้ำ ของนิคมฯบางชันนั้นจะใช้กำแพงของโรงงานต่างๆ ในนิคมฯ เป็นหลัก และเสริมกระสอบทรายภายในอีก 1 ชั้น ทำให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถรับกระแสน้ำได้ในระดับที่สูง 1 เมตร ซึ่งขณะนี้หลายโรงงานมีการทำคันกั้นน้ำเป็นของตัวเอง ทั้งการใช้กระสอบทรายปิดกั้นรอบกำแพงโรงงาน โดยภายในแต่ละโรงงานก็จะมีการกั้นกระสอบทรายอีก 1 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตัวอาคารของโรงงาน และได้วางระบบป้องกันน้ำท่วมแบ่งออกเป็น 6 ส่วน มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ ทั้งหมด 13 เครื่อง ความสามารถในการสูบ 13,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และมีระดับแนวป้องกันน้ำท่วม 2.10 เมตร และมีการแจ้งเหตุฉุกเฉินกรณีน้ำท่วม 2 ระดับ คาดว่ารับมือสถานการณ์น้ำท่วมได้

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีพื้นที่ทั้งหมด 677 ไร่ มีโรงงานจำนวน 93 โรง และมีแรงงาน 13,844 คน เป็นนิคมฯ ที่มีอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม มากที่สุด รองลงมาจะเป็นอุตสาหกรรมปุ๋ย สี เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อะไหล่ และอุตสาหกรรมยานยนต์

โดยโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด,บริษัทเดลี่ฟู้ดส์ จำกัด, บริษัท ฮานามิ ฟู้ดส์ จำกัด,บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่จำกัด (ผลิตขนมปังฟาร์มเฮ้าส์),บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด (มี 3 โรงงานผลิตอาหาร), บริษัทฮอนด้าคาร์ส จำกัด,บริษัทฮอนด้าออโตโมบิล จำกัด,เครือสหยูเนี่ยน

***ก.อุตฯมั่นใจนิคมฯรับมือได้

นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระดับน้ำบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ล่าสุดวานนี้ (3 พ.ย.) อยู่ที่ประมาณ 70 ซม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าแนวป้องกันที่ทำไว้ 2.10 เมตร ขณะที่แต่ละโรงงานต่างเสริมแนวป้องกันเพิ่มขึ้น บางรายสูงกว่า 2.10 เมตร

ด้านนายเสรี วิไลวรรณ กรรมการบริหารฝ่ายกลุ่มงานการผลิต และผู้จัดการทั่วไป บริษัท วังไทยอุตสาหกรรมการอาหาร ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ยำยำ กล่าวว่า ได้เสริมแนวป้องกันน้ำเป็น 2.50 เมตร และเฝ้าติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อซ่อมประตูระบายน้ำคลองสามวาเสร็จแล้ว ก็สบายใจขึ้น แต่ก็จะไม่ประมาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ลดกำลังการผลิตจาก 3 ล้านซอง เหลือประมาณร้อยละ 70-80 เพื่อความประมาทของพนักงานที่มีประมาณ 1,100 คน และหยุดทำงานไปแล้วร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านการขนส่ง และศูนย์กระจายสินค้าที่ลาดหลุมแก้วถูกน้ำท่วมด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง ได้ประเมินความเสียที่เกิดขึ้นใน 7 นิคมฯ มีการทำประกันภัยสำหรับน้ำท่วมและความเสียหายต่อเนื่องของธุรกิจวงเงินรับประกัน 6 แสนล้านบาท มีการเคลมความเสียหายเบื้องต้นประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับประกันภัยต่อโดยบริษัทประกันภัยในประเทศญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 60 เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 เป็นบริษัทลูกของบริษัทญี่ปุ่น

***ใช้วิธีธรรมชาติกู้นิคมฯสหรัตนนคร

นายทวี นริศสิริกุล ประธานคณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตฯจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า นิคมฯสหรัตนนคร เป็นพื้นที่ที่มีจุดอ่อนหากเปรียบเทียบกับจำนวน 5 นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึง เป็นพื้นที่แห่งแรกที่ได้รับผลกระทบ โดยมีระดับน้ำสูง 3-4 เมตร และขอบเขตที่เป็นคันดินไม่สามารถมองเห็น คือ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 2 เมตร

ดังนั้น การฟื้นฟูจะใช้วิธีธรรมชาติ ซึ่งจะไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น เนื่องจากพื้นที่อื่นมีขอบเขตที่ชัดเจน และมองเห็นคันดินกั้นน้ำที่มีอยู่เดิม และที่สำคัญนิคมฯสหรัตนนครบนพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ต้องจมลงรวมกับพื้นที่ไร่นาของราษฎรอีกกว่า 3 หมื่นไร่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกู้ทั้งหมด

“เราวางแผนที่จะระบายน้ำออกจากทุ่งทั้งหมด เนื่องจากมีชุมชนกับชาวบ้าน โดยจะระบายน้ำแบบธรรมชาติ ระบายลงสู่ลำคลอง และแม่น้ำ ซึ่งจะดำเนินการใน 1-2 วันนี้ เมื่อลดลงสู่แนวคันดินที่นิคมฯ สร้างไว้ ก็จะสามารถสูบออกเฉพาะตัวนิคมฯ ซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนัก คาดว่า จะเป็นไปตามแผนหรือใกล้เคียง ขณะนี้ได้กำลังพลจากกองทัพบกเข้ามาช่วยฟื้นฟู”

***สวดรัฐ'ทองไม่รู้ร้อน' ไม่ดูแลแรงงาน8แสนคน

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากภาวะน้ำท่วมโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมต่งๆ ในขณะนี้ ส่งผลให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดประสบภาวะว่างงานแล้วประมาณ 7-8 แสนคน โดยรวมกับแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าได้ทยอยกลับต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 1 แสนคน และแนวโน้มการว่างงานอาจจะเพิ่มขึ้นอีกหากภาวะน้ำท่วมเข้ากรุงเทพฯชั้นใน และส่งผลกระทบลุกลามไปยังเขตตะวันตกและตะวันออกเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อขอให้พิจารณาช่วยนำเงินกองทุนประกันสังคมกรณีผู้ว่างงานประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทมาช่วยเหลือแรงงานส่วนหนึ่งแทนนายจ้าง เพื่อลดภาระรายจ่ายที่ขณะนี้โรงงานต่างๆ ไม่มีรายได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)เพราะมีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ

“เรื่องนี้เราได้เสนอไปแต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับอะไรออกมา ทั้งที่เงินส่วนนี้มันก็เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบเข้าไป น่าจะแสดงน้ำใจให้เห็นว่าจะช่วยเหลือกันบ้างซึ่งเอกชนเองไม่มีใครปลดแรงงานหรอกขณะนี้โดยเฉพาะรายใหญ่ แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยพร้อมช่วยเหลือไม่ใช่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน”นายทวีกิจกล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าประกาศที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 40% ทั่วประเทศวันที่ 1 เม.ย.ปี 2555 ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจอีกทั้งที่เอกชนได้เสนอไปแล้วว่าหากจะเร่งฟื้นฟูก็ควรจะชะลอการขึ้นค่าจ้างดังกล่าวออกไปเป็นเม.ย.ปี 2556 แทน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า เอกชนผิดหวังกับแนวคิดของรัฐบาลมากที่ไม่ยอมเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทออกไป 8เดือน -1 ปีตามที่เอกชนร้องขอ เนื่องจากโรงงานต่างๆ ประมาณ 20,000 แห่งที่การจ้างงานกว่า 700,000 คนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมอย่างมาก เพราะต้องมีภาระที่จะหาเงินมาฟื้นฟูกิจการจำนวนมหาศาล

“การขึ้นค่าแรงนอกจากจะช่วยบรรเทาภาะความเดือดร้อนผู้ประกอบการแล้ว ยังจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในไทย เพราะจะได้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการช่วยเหลือไม่ใช่เป็นการซ้ำเติม”นายธนิตกล่าว
 ***ทูตญี่ปุ่นกระทุ้งอีก"ระบายน้ำให้เร็ว"

นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม วานนี้(3พ.ย.)ว่า ญี่ปุ่นยังคงหวังว่ารัฐบาลไทยจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเร็วที่สุด โดยร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชนและนักธุรกิจทำให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่และหาวิธีคุ้มครองความปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยญี่ปุ่นยังคงมองไทยเป็นแหล่งการลงทุนที่ดีสำหรับญี่ปุ่น เพราะมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือซัพพลายเชนที่สำคัญ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางอาเซียน

“ธุรกิจญี่ปุ่นมีความผูกพันกับไทยมานาน ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงง่ายๆ จึงมั่นใจว่าไทยจะไม่เสียการลงทุนจากญี่ปุ่นไป เพราะปัจจัยด้านการลงทุนของไทยมีความพร้อม และกำลังซื้อในประเทศมีสูง แต่รัฐบาลต้องทำไงยังก็ได้เพื่อจัดการน้ำให้เร็วที่สุด” นายโคจิมะ กล่าว

สำหรับความช่วยเหลือญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การช่วยเหลือในเรื่องเร่งด่วน เฉพาะหน้า เช่น การส่งเครื่องสูบน้ำคุณภาพสูงจำนวน 10 เครื่องมาให้พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลการฟื้นฟูต่างๆ 2. ความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) พร้อมให้วงเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจทั้งของไทยและญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ซึ่งจะให้ในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน)แต่วงเงินจะได้มีการพิจารณาอีกครั้ง

3. การร่วมมือแก้ปัญหาน้ำในระยะยาว โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) จะเข้ามาช่วงวางแผนระบบการจัดการน้ำ และการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้ทางไจก้าและระบบการจัดการน้ำของโครงการหลวงได้มีความร่วมมือกันอยู่แล้ว จึงอาจจะมีการเพิ่มความร่วมมือให้มากกว่านี้ โดยญี่ปุ่นจะนำประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำ

รวมถึงการป้องกันภัยธรรมชาติที่ญี่ปุ่นเคยทำมา มาถ่ายทอดให้กับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เอกอัคราชฑูตญี่ปุ่นได้แจ้งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะช่วยเหลือการสูบน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการที่ประสบภาวะน้ำท่วมด้วยการส่งรถสูบน้ำจำนวน 10 คันพร้อมเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำเพิ่มอีก 8 คนจากก่อนหน้าส่งมาแล้ว 2 คน รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงนผ่านเจบิก

“ กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลกรณีบริษัทประกันภัยอาจไม่รับประกันต่อนั้นยอมรับว่าฑูตญี่ปุ่นเองก็กังวลในเรื่องนี้แต่ได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์จะไปดูแลเรื่องดังกล่าวและพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อการฟื้นฟูที่รวดเร็ว”รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น