ASTVผู้จัดการออนไลน์ - โฆษกพันธมิตรฯ โต้คนกระทรวงยุติธรรม ยัน พ.ร.ฎ.อภัยโทษเอื้อ“ทักษิณ” แม้มีหมายจับคดีอื่นรออยู่ แต่หากไม่ต้องเข้าคุกคดีที่ดินรัชดา ก็มั่นใจว่าคดีอื่นได้ประกันตัว ชี้ประเด็น พ.ร.ฎ.อัปยศ อยู่ที่การลบมาตรา 4 บิดเบือนหลักการ ให้คนหนีคุกไม่เคยสำนึกผิดได้อภัยโทษ เจตนาแฝงเร้นนิรโทษกรรม เตือนคนยุติธรรมอย่าคิดแทน“นช.แม้ว”
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" แถลงการณ์
จากกรณีที่แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า การปรับแก้ร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (พ.ร.ฎ.อภัยโทษ) ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกทั้งหมด เพราะยังมีหมายจับอีก 3 คดีรออยู่ และเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือออกกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น
วันนี้ (19 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้กับ ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยกล่าวว่าการที่กระทรวงยุติธรรมกล่าวว่าการปรับแก้ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างว่ายังมีคดีอื่นๆ อีกนั้น แต่คดีเหล่านั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาแล้วก็ยังไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องโทษ โดยอาจจะได้รับการประกันตัว ในคดีต่างๆ อาทิ คดีทุจริตการหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ ซึ่งศาลพิพากษาแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับการประกันตัวได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ต้องโทษ หรือผู้ต้องคำพิพากษาแล้ว
ส่วนการลบมาตรา 4 ของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ที่กำหนดว่าผู้ที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษต้องอยู่ในที่คุมขังก่อนวันพระราชทานอภัยโทษนั้น เท่ากับว่าทำลายหลักการใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งความแตกต่างระหว่างการอภัยโทษกับการนิรโทษกรรม อยู่ที่การนิรโทษกรรมไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ก็ได้รับการปล่อยตัวโดยคณะรัฐมนตรี โดยสภาผู้แทนราษฎรที่ออกพระราชบัญญัติ แต่การอภัยโทษผู้ที่จะได้รับคือ ผู้ที่ต้องได้รับโทษอยู่แล้ว เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 261 ทวิ ระบุอย่างชัดเจนว่าใช้สำหรับผู้ต้องโทษ ซึ่งต่างจาก ป.วิอาญามาตรา 259 ให้ใช้คำว่าผู้ต้องคำพิพากษา
“ผู้ต้องคำพิพากษาขอพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ถ้าจะเป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษใช้กับผู้ต้องโทษเท่านั้น ซึ่งผู้ต้องโทษก็หมายความว่ามารับโทษก่อน การมารับโทษก่อนก็เท่ากับว่าจะต้องมีฐานะเป็นผู้รับโทษแล้ว เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว และสำนึกผิดแล้ว จากนั้นจึงได้รับการปล่อยตัว แต่ถ้าเราเบี่ยงความหมายหรือว่าบิดเบือนความหมายของการอภัยโทษให้กลายเป็นนิรโทษกรรม โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา ตรงนี้ถือว่าเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ไม่น่าจะกระทำได้” นายปานเทพกล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องผ่านหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติ แต่ถึงจะทำได้พันธมิตรฯ ก็ต้องค้านเพราะไม่เห็นด้วย ถือว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ทั้งนี้ การอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นพันธมิตรฯ ก็ไม่ก้าวล่วงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการในการถวายคำแนะนำต้องชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วทันทีที่มีการทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เป็นการถวายแบบไม่รับผิดชอบ
“เป็นการถวายโดยเอาสิ่งที่ผิดกฎหมายไปถวายพระองค์ท่าน ถ้าพระองค์ท่านปฏิเสธก็จะกลายเป็นว่าไม่มีพระบรมราชโองการเพื่อช่วยนักโทษเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล เหมือนกับทุกปีที่เป็นมหามงคล ก็จะเป็นกระบวนการในการลดทอน ในการอาศัยช่วงบำเพ็ญพระราชกุศลไปช่วยนักโทษคนๆ หนึ่งโดยเจตนาตั้งแต่เริ่มต้นว่าไม่ต้องให้รับโทษเลยแม้แต่นิดเดียว อันนี้เป็นการทำลายหลักการของคำว่าอภัยโทษให้กลายเป็นนิรโทษกรรม นอกจากเอาเรื่องการเมืองมาโยงกับพระราชอำนาจแล้ว ยังทำลายหลักการอภัยโทษให้กลายเป็นนิรโทษกรรมแทน อันนี้มันผิดความหมาย และอาศัยกฎหมายผิดมาตรา โดยเนื้อหาเป็นนิรโทษกรรมแต่แฝงเร้นในการอภัยโทษ ซึ่งทำไม่ได้” นายปานเทพกล่าว
เมื่อถามว่า จากแหล่งข่าวของกระทรวงยุติธรรมที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่กลับประเทศไทยโดยอาศัยการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษอย่างแน่นอน เพราะยังไงก็ต้องถูกจับติดคุก นายปานเทพกล่าวว่าเป็นการคิดแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเขาไม่ควรที่จะคิดแทนไปเอง ผู้ที่มีหน้าที่ในการร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษจะต้องร่างโดยตอบคำถามว่าทำไมถึงทำลายหลักการ เอาคนที่ไม่ต้องโทษหนีคดีกลับมารับโทษเลย สามารถพ้นความผิดได้ เท่ากับเป็นการทำลายหลักการของการอภัยโทษ ทำลายหลักการของกระบวนวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 260 ทวิ ซึ่งใช้กับผู้ต้องโทษ ซึ่งต่างจากผู้ที่ต้องคำพิพากษาแล้ว
“ผู้ต้องโทษคือผู้ต้องโทษแล้ว แต่อันนี้ไม่ต้องโทษเลย ยังไม่ถูกจำคุกเลยแม้แต่นิดเดียว อันนี้เป็นการทำลายหลักการใหญ่ ผมเชื่อว่าคำถามนี้มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะมารับผิดหรือไม่รับผิด จะใช้เครื่องมือนี้แล้วติดเงื่อนไขอีกหรือไม่ มันเป็นการคิดแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ตัวกระทรวงยุติธรรมต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงเปลี่ยนหลักการนี้มาเป็นหลักการใหญ่” นายปานเทพกล่าว