xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งใหญ่ตระการตา “ขบวนเรือพระราชพิธี” มรดกวัฒนธรรมในสายน้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธีฯ ที่ชาวไทยจะได้ชมกันอีกครั้ง
“...สุวรรณหงส์ลงลอยล่อง เพียงหงส์ทองล่องลอยนภา พู่ห้อยร้อยรสนา งามหยาดฟ้ามาแดนชล...”

ส่วนหนึ่งของกาพย์เห่เรือบทใหม่ที่นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย แต่งขึ้นสำหรับโอกาสอันเป็นมหามงคล ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 โดยกองทัพเรือได้รับมอบหมายให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 22 ต.ค. 2554 ซึ่งในการพระราชพิธีครั้งนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะเสด็จแทนพระองค์ฯ และเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ก่อนที่จะมีการประกาศเลื่อนงานไปในปีหน้าอันเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่
ร่วมชมขบวนเรือพระราชพิธีได้ตั้งแต่ริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 8 ถึงวัดอรุณฯ
การเสด็จทางน้ำที่เรียกว่าขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้นมีมายาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแม่น้ำลำคลองถือเป็นเส้นทางสัญจรหลัก อีกทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ เมื่อบ้านเมืองปราศจากสงครามก็จะมีการฝึกซ้อมกระบวนยุทธทางเรือกันในช่วงฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นช่วงที่ราษฎรว่างจากการทำนา ประจวบกับเป็นช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือเพื่อให้ไพร่พลได้รื่นเริงในการกุศล

ไม่เพียงประเพณีถวายผ้าพระกฐินเท่านั้น ขบวนพยุหยาตราชลมารคในอดีตยังจัดขึ้นในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญ พระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ถือเป็นต้นแบบมาจนปัจจุบัน คือขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเรียกขบวนเรือว่า “ขบวนเพชรพวง” ซึ่งเป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ นับเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของขบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อมา
วัฒนธรรมไทยอันงดงามที่ไม่มีที่ไหนเหมือน
ความงดงามของขบวนเรือในสมัยนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า “...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...”

เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาทำลายเรือจนหมดสิ้น จนในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก บางลำได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันและยังได้นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เช่น เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ 6 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6
ขบวนเรือจะล่องไปในคุ้งน้ำเจ้าพระยา
ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ขึ้นเมื่อปี 2537 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 โดยใช้ต้นแบบลำเดิมของเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเดิมโขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาค จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังครุฑ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำใหม่นี้ว่านารายณ์ทรงสุบรรณ

สำหรับพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินนั้น เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ได้สูญหายไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นานจวบจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ โดยทรงเสด็จทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามฯ ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา
ภาพการซ้อมของฝีพาย
เหตุที่มีพระราชประสงค์ในการฟื้นฟู ก็ด้วยเสด็จยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้ามีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นคงไม่สิ้นเปลืองอะไรมากนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้คนของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้แรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะเหล่านี้ จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ

และในวันที่ 22 ต.ค. นี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยจะได้ชมความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิด สำหรับขบวนพยุหยาตราในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 16 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยขบวนเรือพระราชพิธีสองครั้งก่อนหน้านี้ก็คือขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2549 และขบวนพยุหยาตราชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2550
ฝีพายจากกองทัพเรือต่างเตรียมพร้อมเพื่องานพระราชพิธีฯ
ในครั้งนี้เป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ 5 ริ้ว ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง จำนวน 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์ จำนวน 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือดั้ง 22 ลำ และเรืออื่นๆ อีก 18 ลำ รวมความยาวของขบวนเรือจากหัวขบวนถึงท้ายขบวน 1,280 เมตร และความกว้างขบวน 110 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ทั้งสิ้น 2,200 นาย โดยริ้วขบวนเรือพระราชพิธีจะเริ่มจากท่าวาสุกรี ไปสิ้นสุดที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

นอกจากจะได้ชมขบวนเรืออันงดงามแล้ว ผู้ที่มาชมก็ยังจะได้ฟังกาพย์เห่เรืออันไพเราะดังก้องทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา โดยความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของขบวนเรือพระราชพิธีในครั้งนี้ก็คือบทเห่เรือบทใหม่ ซึ่งนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือได้ประพันธ์กาพย์เห่เรือขึ้นมาใหม่ จำนวน 3 บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือขบวน และบทชมเมือง ใช้เวลาในการขับเห่ประมาณ 45 นาที โดยนาวาตรี ณัฐวัฎ อร่ามเกลื้อ หัวหน้าแผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เป็นพนักงานเห่
การซ้อมย่อมครั้งสุดท้ายจะมีในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค. นี้
ในขณะนี้กองทัพเรือกำลังเร่งซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อม โดยได้ดำเนินการตั้งแต่การซ่อมทำเรือ การจัดเตรียมกำลังพลฝีพาย การอบรมนายเรือและนายท้ายเรือเพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกฝีพาย โดยเริ่มฝึกฝีพายบนบก บนเขียงฝึกที่มีลักษณะคล้ายกับอยู่ในเรือ ก่อนจะทำการฝึกซ้อมพายเรือในน้ำโดยผูกเรือกับหลักอยู่กับที่ในพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพเรือ พร้อมกับทำการฝึกพาย เข้าเทียบ ออกเทียบ กลับเรือ พายรักษาระยะต่อ ระยะเคียงตามตำแหน่งเรือ และในขณะนี้ได้นำกำลังพลไปรวมฝึกในแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างสะพานพระราม 8 และสะพานกรุงธน โดยเดิมนั้นทางสำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการจัดงานขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 22 ตุลาคม 2554 แต่ดวยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มการประกาศเลื่อนงานขบวนเรือพระราชพิธีดังกล่าวไปเป็นปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น