xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจคนเห่เรือพระราชพิธี ‘น.ต.ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ รน.’ ความเป็นศิลปินที่ซ่อนไว้...ภายในท่วงทำนอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงขับเห่ล่องลอยมาตามสายน้ำพร้อมกับริ้วกระบวนเรือพระที่นั่ง ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามตระการตา ทั้งกระบวนกว่า 52 ลำ และใช้จำนวนคนถึง 2,200 คน ในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย กำลังถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อกองทัพเรือรับหน้าที่จัดกระบวนเรือพระราชพิธี ทำการฝึกซ้อมอย่างเคร่งครัดเพื่อถวายงานในพระราชพิธีทอดกฐิน ในวันที่ 22 ตุลาคม 2554 ที่จะถึงนี้

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะขาดเสียไม่ได้ในกระบวนเรือครั้งนี้ คือเสียงเห่เรือ ที่จะเพิ่มเสน่ห์ของกระบวนเรือพระราชพิธี ผู้ทำหน้าที่ต้นเสียงครั้งนี้ คือ น.ต.ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ รน. พนักงานเห่เรือในกระบวนเรือพระราชพิธี ที่เริ่มจากฝีพายเรือพระที่นั่งจนได้รับหน้าที่สำคัญหลังจาก พล.ร.ต.มงคล แสงสว่าง พนักงานเห่เรือและศิลปินแห่งชาติเกษียณอายุราชการ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ น.ต.ณัฐวัฏ เข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญนี้ ตั้งแต่เรียนจบจาก ร.ร.ชุมพลทหารเรือ พรรคนาวิน เหล่าสามัญ เป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ รุ่นที่ 22 ได้คัดเลือกให้เป็นฝีพายประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เมื่อปี 2525 และได้เข้าร่วมพระราชพิธีกระบวนพระพยุหยาตราชลมารคมาแล้วกว่า 30 ปี

ก่อนจะมาเป็นพนักงานเห่เรือ ได้ทำหน้าที่อะไรมาก่อน
เป็นฝีพาย เป็นคนเห่สำรอง เป็นพนักงานขานยาว แล้วก็มาเป็นพนักงานเห่

คุณสมบัติเด่นที่ถูกเลือกของการเป็นพนักงานเห่
เรารู้กันมากกว่า ส่วนใหญ่ฝีพายก็จะร้องเป็นทุกคน แต่อยู่ที่ว่าบางคนอาจไม่ได้จำหรือสนใจ คิดว่าเลิกกันแล้วก็แล้วกันไป อย่างผมพอฝึกนานๆ หลายๆ วัน สมัย ร.ท.สุจินต์ สุวรรณ ครูสอนการเห่เรือ ครูร้องทุกวันๆ เราก็ร้องตามไปด้วย พายไปด้วยมันก็เป็น เราก็มาขอครูหัดร้อง และด้วยอากาศร้อนก็ขอครูหลบมาอยู่ที่ร่มเพื่อหัดร้อง แต่ก็ยังร้องไม่เป็นมันไม่ลงจังหวะ ครูสุจินต์ก็พยายามสอนให้

แสดงว่าสนใจเรื่องการเห่เรืออยู่ไม่ใช่น้อย
ใช่ คนที่สนใจก็จะมีอยู่ เขาก็เป็นกันเยอะหลายคน แต่ทีนี้พอเขาสอบเลื่อนฐานะแล้วก็ไปจากที่นี้ เพราะฉะนั้นคนที่เลื่อนยศได้ก็ไม่ได้อยู่

การร้องเป็นความชอบส่วนตัวด้วยไหม
ชอบร้อง ใช่! ชอบอะไรพวกนี้ ชอบคาราโอะเกะร้องเพลงอะไรประมาณนี้ สมัยก่อนไม่มีคาราโอะเกะก็ร้องตามท้องนา ไปทำสวนก็ร้องเพลงไปเรื่อยๆ

ร้องที่ท้องนาเหมือนจะมาแนวของคุณพุ่มพวงจากสุพรรณหรือเปล่า
อยู่ที่ราชบุรี (หัวเราะ) พอดีชอบร้องเพลงแล้วมาตรงนี้ก็มาลงล็อก ตอนนั้นเราแค่คิดว่ามีงานทำก็ดีใจและทำงานเต็มที่ ทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเราทำให้มันดีมันก็จะเป็นผล แล้วมันก็จะเป็นกรรม กรรมคือผลของการกระทำไง ไม่ใช่กรรมเวรนะ (หัวเราะ…)

คิดว่าอะไรที่ทำให้ได้รับตำแหน่งนี้
คงเพราะพอออกงานได้รู้ๆกันเอง ไม่มีการคัดกันเป็นทางการ ถ้ามันเข้าท่า มันมีการเอื้อนที่น่าฟัง ก็รู้ๆกัน ซึ่งเอกลักษณ์การเห่ของเรา คือต้องเอาเสียงออกมาให้สุดๆ ออกเต็มเสียง มันก็ไม่ยากนะแต่ต้องมีจังหวะที่จะต้องจับให้ได้ แต่พออยู่จนชินก็เลยไม่รู้ว่ายากมันเป็นยังไง

การเอื้อนเสียงที่น่าฟังต้องมีลักษณะแบบไหน
ต้องดูหางเสียงเป็นยังไง ขึ้นเป็นยังไง การเห่เรืออีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือร่างกาย เพราะว่าเวลาร้องต้องร้องดังๆเต็มเสียงอย่างบางครั้งฝึกซ้อมในกระบวนร้องทีเดียวสองชั่วโมงโดยที่ไม่หยุดเลย ก็ต้องร้องให้ได้ มันก็ต้องออกกำลังกาย ร่างกายต้องแข็งแรง

ดังนั้นกลวิธีการรักษาเสียงก็คือการออกกำลังกายตลอดเวลา
(หัวเราะ) ตลอดเวลาคงไม่ได้หรอก…คือออกกำลังกายทุกวันเพื่อเสียงจะได้มีพลัง การทำงานเราไม่ได้ทำเห่เรืออย่างเดียว เราต้องเอาเรือเข้าออกและดูแลรักษาเรือ เราทำงานกับแดดกับฝน เราต้องระวังจะเผลอไม่ได้ ยิ่งเฉพาะหน้าฝนต้องระวัง ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเสมอ

มีวิธีการซ้อมเข้ากระบวนเรืออย่างไรบ้าง
การซ้อมเราไม่ใช่มานั่งฝึกคนเดียว หรือแอบฝึกที่บ้านคนเดียว แบบลับๆ เราจะฝึกกับฝีพาย เพราะฝีพายเขาก็พายเรือทุกวันเราก็ร้อง ร้องทุกวัน ตอนที่เป็นฝีพายเราก็ร้องทุกวันเหมือนกัน ได้บทมาเราก็ฝึกร้อง ร้องไม่ดีวันนี้วันต่อไปเราก็แก้ไข ร้องให้ได้ ซึ่งซ้อมเข้ากระบวนหรือไม่ก็ต้องซ้อมกันทุกวันอยู่แล้ว ถ้าไม่ซ้อมเข้ากระบวนที่แม่น้ำก็จะฝึกในบ่อน้ำที่อู่เรืออยู่แล้ว ส่วนสมาธิต้องมีอยู่แล้วเพราะว่าเมื่ออยู่ในกระบวนเสียงจะดังมาก เราจะวอกแวกไม่ได้เลย ดังนั้นการมีสมาธิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

มีคนมาผลัดเปลี่ยนช่วยเห่บ้างไหม
เราต้องเห่คนเดียวตั้งแต่ต้นเลยไม่มีการผลัดเปลี่ยน ส่วนใหญ่แล้วก็ประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่วันจริงเขาก็จะมีการคำนวณน้ำไว้แล้ว คือคำนวณกระแสน้ำไม่เกินจากเวลาที่กำหนดไว้

แสดงว่าเนื้อร้องที่เห่ก็พอดีกับเวลาที่คำนวณไว้แล้ว
ส่วนใหญ่แล้วกาพย์เห่เรือจะมีการแต่งไว้พอดีกับระยะทาง ส่วนใหญ่แล้วจะเหลือนิดๆ เผื่อไว้ หรือถ้าทวนน้ำไม่พอก็วนกลับมาใหม่ ถ้าวันจริงส่วนใหญ่จะพอดี จริงๆ แล้วคือเราจะร้องปกติ ส่วนช้าเร็วก็จะไปอยู่ที่น้ำหนักของฝีพาย จะขึ้นอยู่ที่พายหนักพายเบา เราต้องร้องให้จังหวะลงล็อกเพราะฝีพายจะได้ไม่พะวง...เดี๋ยวช้าเดี๋ยวเร็ว

บทเนื้อร้องกล่าวถึงอะไรบ้าง
กาพย์เห่เรือจะแต่งเฉพาะงาน งานไหนก็แต่งสำหรับงานนั้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน มีการแต่งขึ้นใหม่ 3 บท ได้แก่ ‘สรรเสริญพระบารมี’ ‘ชมเรือกระบวน’ และ ‘ชมเมือง’ ซึ่งประพันธ์โดย น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย เมื่อประพันธ์เสร็จก็จะส่งบทมาให้เรา เราก็ร้องให้ฝีพายฝึกไปเลย
คนประพันธ์จะรับผิดชอบเฉพาะส่วนเนื้อหา ส่วนเราก็ต้องมาดูเองว่าตรงไหนจะเอื้อนจะทำยังไง ลงน้ำหนักเสียงลงยังไง ก็ต้องดูอารมณ์ให้ลงกับเนื้อ อย่างเช่นเราลงหวาน ก็ต้องให้รู้สึกถึงความหวาน…ถ้ามาตัดหวานไม่ลากเสียงให้รู้สึกหวาน มันก็ไม่ใช่หวาน ใช่ไหม (หัวเราะ) เราต้องดูเนื้อและทำให้เข้าถึงอารมณ์ อย่างตูม ตูม! เสียงตึงตัง ต้องทำให้ดังสนั่น ไม่ใช่ตูมตูมตูม เสียงตึงตังอะไรเบาๆ มันก็ไม่ใช่ มันไม่ตึงตัง

อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นศิลปะหรือนักแสดงเหมือนดาราเลยได้ไหม
(หัวเราะ) ใช่มันอันเดียวกัน เราต้องไปกับบทเลย เราต้องไปกับเนื้อหานะ ถ้าเราร้องเราวอกแวกเนี้ยไม่ได้เลยนะ ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่ได้ ซึ่งในกระบวนจะเสียงดังลั่นมาก แล้วเราต้องร้องไมค์สดๆ ในเรือ

มีความสุขหรือว่ารู้สึกยังไงเวลาเห่อยู่บนเรือ
อย่างคนชอบร้องเพลงก็มีความสุขนะ

เหมือนกันกับร้องเพลงแต่เนื้อเพลงต่างกันแบบนั้นใช่ไหม
ใช่แค่เนื้อจะต่างกัน เห็นหรือเปล่าอย่างคนร้องเพลงจะไม่เครียด

ในกระบวนพนักงานเห่เรือจะนั่งในเรือที่ชื่อว่าอะไร
เรืออนันตนาคราช

สมัยก่อนคนเห่ก็นั่งเรือลำนี้
สมัยก่อนเคยได้ยินนะ แต่ไม่มีหลักฐาน ว่ากันว่าเรือพระที่นั่งจะมีคนเห่ทุกลำ ผมก็ไม่แน่ใจนะ แล้วผมก็ถามว่าทำไมสมัยนี้มีคนเห่คนเดียว เขาเล่ากันว่าเพราะเดี๋ยวนี้คนเห่หายากและมีเครื่องขยายเสียงด้วย ถ้ามีเครื่องขยายเสียงหลายคนร้องมันก็จะตีกัน

เดี๋ยวนี้คนเห่ยังหายากอยู่หรือเปล่า
คนที่ร้องส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในนี้ คนในกองทัพเรือมีอยู่นะ ซึ่งคนมันน้อยอัตราที่มีอยู่ก็ถือว่าน้อย คนที่ร้องมันมีกันเยอะแต่เขาไม่มีโอกาสมาทำตรงนี้ เห็นนักร้องที่มาประกวดกันหรือเปล่าล่ะ นักร้องเสียงแจ๋วๆ กันทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้ผลักดันให้มาตรงนี้ หน้าตาดีก็ไปเป็นนักร้อง หน้าตาไม่ดีก็เป็นไม่ได้ก็เลิกหายกันไป ไม่เหมือนต่างประเทศ หน้าตาเป็นยังไงก็รับหมดขอให้เสียงดี ตอนนี้ก็มีแต่คนในกองทัพเรือเท่านั้นที่ฝึกร้องกัน

จำเป็นไหมที่คนเห่ต้องเป็นคนในกองทัพ
ถ้าจะดีก็ต้องเป็นฝีพายด้วย เพราะจะได้รู้จังหวะซึ่งมันเกี่ยวเนื่องกันหมด ต้องทำงานด้วยกันรู้ว่าจังหวะนี้ทำยังไง ขนาดเราเคยร้องมา แล้วมาเจอฝีพายจ้วงน้ำเร็วๆจังหวะมันจะไม่ตรงกัน ดังนั้นต้องมาฝึกด้วยกัน ให้มันลงกัน

รู้สึกอย่างไรกับการได้ทำหน้าที่เห่เรือ
รู้สึกดีใจมากกว่านะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวน และได้ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดีใจที่ได้ทำหน้าที่นี้และจะทำให้ดีที่สุด

ตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นครูฝึกแล้วหรือเปล่า
ตอนนี้ได้แล้วนะ ซึ่งตอนแรกครูสุจินต์ฝึกให้ แล้วครูอีกคนที่ชอบเสียงมาก พล.ร.ต.มงคล แสงสว่าง เพราะท่านเป็นคนที่เสียงดีมาก ซึ่งแต่ละคนเสียงจะไม่เหมือนกัน แต่ทำนองเหมือนกัน การเอื้อนหรืออะไรไม่เหมือน อย่างครูมงคลก็จะเป็นแบบอย่างของเรา

คนข้างนอกฝึกได้ด้วยไหม
คนข้างนอกก็ได้ถ้าอยากฝึก มาขอฝึกได้ สอนให้ได้อย่างใครอยากเรียน อยากศึกษา คนข้างนอกก็สามารถเข้าถึงได้เราก็จะฝึกให้ ส่วนใหญ่ก็จะติดเรื่องเวลานิดหน่อยเพราะจะยุ่งๆ แต่เราอยากฝึกให้อยู่แล้วไม่ว่าคนข้างนอกหรือข้างใน ถ้าไม่มีเวลาก็โทรศัพท์สอนให้ได้มาขอบทแล้วก็โทร.มาให้ร้องให้ฟัง แต่ว่าต้องโทร.มานะ (หัวเราะ)

อนาคตข้างหน้ากับการเห่เรือ
คิดว่าจะอยู่จนเกษียณ ตอนนี้ก็อายุ 50 แล้วอีก 10 ปีเราคงจะไม่ได้ย้ายไปไหนแล้วล่ะ ก็คงจะดูแลเด็กๆ สอนการเห่ถ่ายทอดต่อไป ถ้าเราไม่ถ่ายทอดสักวันหนึ่งมันจะตาย ถ้าเราถ่ายทอดไว้มันจะไม่ตาย เราตายมันก็จะอยู่ต่อไป ถ้าคิดว่าเราหนุ่มอยู่ถ้าเกิดเราเป็นอะไรไปมันก็จบ ดังนั้นเราก็ต้องถ่ายทอดไว้ให้มันอยู่ต่อไป อันนี้เป็นหน้าที่ของเราแล้ว เพราะว่าเรากินเงินเดือนหลวง เราต้องทำอะไรให้แก่แผ่นดิน
>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : อุบลวรรณา โพธิ์รัง
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ




กำลังโหลดความคิดเห็น