xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยเรือไทย ใน“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” และ “พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ใน่วงนี้ทำให้การจัดงานขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ที่เดิมมีหมายกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2554 มีความจำเป็นต้องเลือนการจัดงานไปในปีหน้า

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงขบวนเรือพระราชพิธีแล้ว ก็ทำให้ฉันอยากที่จะรู้ถึงความเป็นมาของเรือต่างๆของเรา ฉันจึงเดินทางไปบุกยังถิ่นทัพเรือ ฝั่งธนบุรี และมุ่งตรงไปยัง “พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” เพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าพาหนะทางน้ำให้มากยิ่งขึ้น
อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเก่าแก่กว่า 100 ปี
เมื่อเข้าประตูกรมอู่ทหารเรือ ฉันตรงไปจนเกือบจะสุดทาง ทางด้านซ้ายมือจะเจอกับ “พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” เป็นอาคารสีขาวเขียว ดูเก่าแก่สวยงาม ซึ่งอาคารหลังนี้เป็นอาคารเรือนไม้ของแผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี ที่เคยเป็นอาคารกรมยุทธนาธิการทหารเรือเดิม

อาคารเก่าแก่หลังนี้อายุมากกว่า 100 ปี เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ มีระเบียงโปร่งล้อมรอบ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงรอบอาคารประดับด้วยไม้ฉลุลายที่สวยงาม ตามหลักฐานที่ปรากฏ อาคารนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนอกจากความสวยงามและเก่าแก่แล้ว ที่หน้าจั่วของทางเข้ายังมีการเล่นลวดลายสีเขียวเป็นฟันเฟืองของลวดลายช่าง เพื่อผสมผสานกลมกลืนกับเจ้าของสถานที่ที่เคยเป็นอาคารของแผนกช่างมาก่อน
 การจัดแสดงในส่วนจากราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง
และก่อนที่เราจะได้ชมภายในพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องมารู้ประวัติความเป็นมาคร่าวๆของกรมอู่ทหารเรือและพิธีเปิดอู่เรือกันที่ “ห้องแสดงวีดีทัศน์” กันก่อนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอู่เรือหลวงขนาดใหญ่ขึ้นใต้วัดระฆัง เพื่อใช้ในการซ่อมสร้างเรือรบที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น โดยพระองค์เสด็จฯ มาทรงกระทำพิธีเปิดอู่เรือหลวงด้วยพระองค์เองเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2433 ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่กองทัพเรือ

กิจการอู่เรือหลวงได้เจริญก้าวหน้าขึ้น จนต้องสร้างอู่เรือหลวงขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการซ่อมสร้างเรือที่มีเพิ่มมากขึ้น อู่เรือหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างนี้ นับได้ว่าเป็นการวางรากฐานในกิจการของกรมอู่ทหารเรือให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในวีดีทัศน์ยังกล่าวถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย
การจัดแสดงที่ทันสมัยภายในพิพิธภัณฑ์
จากนั้นเจ้าหน้าที่พาเราขึ้นไปที่ชั้นบน เพื่อไปยังส่วนจัดแสดงต่อไปคือส่วน “จากราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง” จัดแสดงประวัติพื้นที่ก่อนจะมีการสร้างอู่เรือหลวงขึ้น ต่อเนื่องด้วย “จากอู่เรือหลวงสู่กรมอู่ทหารเรือ” เป็นส่วนที่อธิบายถึงความสำคัญของงานอู่เรือกับการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเล และความจำเป็นของการมีอู่เรือขนาดใหญ่

ถัดไปเป็นส่วน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานนาวิกสถาปัตย์” โดยกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพแห่งพระองค์ด้านการต่อเรือ การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.91 ตามแนวพระราชดำริ และการขยายผลสู่ชุดเรือ ต.991 และชุดเรือ ต.994

ต่อด้วย “การเสริมสร้างสมุททานุภาพให้กองทัพเรือ” ซึ่งจัดแสดงให้เห็นถึงกระบวนการต่อเรือ วิทยาการและเทคโนโลยีการต่อเรือจากอดีตถึงปัจจุบัน จากนั้นจึงเข้าสู่ส่วนจัดแสดง “การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ” ซึ่งนำเสนอการต่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 การอนุรักษ์ และการซ่อมเรือพระราชพิธี
เรือตรวจการณ์ ต.991 จำลอง
จากนั้นเจ้าหน้าที่พาฉันลงไปยังชั้นล่างเพื่อชมส่วนจัดแสดงต่อไป คือ “ทำเรือให้พร้อมรบ” อันแสดงถึงกระบวนการซ่อมทำเรือรบ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ และผลงานการซ่อมทำเรือที่สำคัญของกรมอู่ทหารเรือ จนมาต่อที่ส่วน “งานอื่นๆนอกเหนือจากการซ่อมสร้างเรือ” เช่น อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองจากพิษณุโลกมายังโรงหล่อ การผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซล การทำเชือกชักฉุดราชรถ การอบรมหลักสูตรเรือใบซูเปอร์มด เป็นต้น

ถัดจากนั้นบริเวณกลางห้องโถง ได้ถูกจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดงเรื่อง “อู่เรือและอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ” เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกิจการอู่เรือ และพาณิชย์นาวีของประเทศในด้านต่างๆ
การจัดแสดงในส่วนประสานเทคโนโลยีรวมบุคลากร
และมาจบลงที่ส่วนจัดแสดงสุดท้าย คือ “ประสานเทคโนโลยี รวมบุคลากร” ที่แสดงถึงการจะต่อเรือลำหนึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและบุคลากรในสาขาต่างๆ เพื่อให้บรรลุภารกิจการซ่อม สร้าง และดัดแปลงเรือ

เมื่อรับชมภายในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงจบแล้ว ฉันเห็นที่อู่จอดเรือ มีเรือพระที่นั่งจอดอยู่ 4 ลำ ซึ่งเจ้าหน้าที่เล่าว่า ในช่วงของการซ้อมขบวนเรือ จะนำเรือพระที่นั่งมาจอดในบริเวณนี้เพื่อเป็นการสะดวกในการเคลื่อนย้ายและการตรวจบำรุงรักษา
ส่วนจัดแสดงเรือใบซูเปอร์มด
ใครที่อยากจะรู้จักกับเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธีอย่างใกล้ชิด ฉันขอแนะนำให้ไปต่อที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ที่อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงแห่งนี้

โดยพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธีแห่งนี้ มีลักษณะเป็นโรงเรือขนาดใหญ่ ด้านในตู้กระจกขนาดใหญ่ที่อยู่ในสุดของพิพิธภัณฑ์บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของการแห่เรือ และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งไว้อย่างละเอียด ซึ่งเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนและขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น มีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา
 เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯขณะซ่อมบำรุงที่อู่เรือ
โดยในอดีตเรือพระราชพิธีจะหมายถึงเรือที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ในยามศึกสงคราม และเป็นราชพาหนะของกษัตริย์ในการเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล หรือประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ แต่เรือเหล่านั้นได้ถูกทำลายไปหมดเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่สอง

ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรือประกอบขบวนขึ้นอีกครั้ง และในรัชกาลต่อๆ มาก็มีการสร้างเรือเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายลำ แม้ในช่วงหลังๆ เรือพระที่นั่งเหล่านี้จะไม่ได้ใช้ในการสงครามแล้ว แต่ก็ได้ใช้ในการสืบทอดแบบแผนกขบวนพยุหยาตราทางชลมารคต่อไป
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณฯและเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่อู่เรือ
เมื่อรู้ประวัติกันแล้วก็มายลโฉมเรือพระที่นั่งและเรือในขบวนเรือพระราชพิธี ที่ตั้งอยู่อย่างงามสง่า 8 ลำด้วยกัน โดยเรือลำแรกที่มีความสำคัญมากก็คือ “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเสร็จลงในสมัยรัชกาลที่ 6 มีโขนเรือเป็นรูปหงส์ ซึ่งตามตำนานอินเดียถือว่าหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม และเป็นเครื่องหมายของความสง่างาม สูงส่ง

ถัดมาคือ “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” เป็นเรือพระที่นั่งที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนคนไทยในสมัยนี้มากที่สุด เพราะเรือลำนี้เป็นเรือที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักพระราชวัง โดยเพิ่งสร้างเสร็จในปี 2539 เพื่อทดแทนเรือพระที่นั่งลำเดิม และเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกอีกด้วย
เรือพระที่นั่งที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี
“เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” โขนเรือเป็นรูปนาคเจ็ดเศียร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยปรกติแล้ว เรือพระที่นั่งลำนี้จะใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ หรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ส่วน “เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์” เป็นเรือพระที่นั่งรอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โขนเรือจำหลักลายปิดทองรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก

ส่วนเรือที่เหลือนั้น มิได้เป็นเรือพระที่นั่ง แต่เป็นเรือประกอบในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ รวมทั้งหมด 8 ลำที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จริงๆ แล้วเรือในขบวนพยุหยาตรายังมีมากกว่านั้น แต่เก็บรักษาไว้ในสถานที่อื่นๆ คือในโรงเรือแผนกพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมขนส่งทหารเรือ และโรงเรืออู่ยนต์หลวง ท่าวาสุกรี

สำหรับใครที่อยากชมเรือพระที่นั่งอย่างใกล้ชิดก็สามารถเข้าชมได้ เพราะทั้งเรื่องราวของขบวนเรือพระราชพิธีและเรือต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองไทยที่ทรงคุณค่ายิ่ง
 ตู้แสดงประวัติเรือพระราชพิธี
 อาคารโรงเรือพิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวง” ตั้งอยู่ที่ กรมอู่ทหารเรือ ถ.อรุณอมรินทร์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรีวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า และเข้าชมเป็นหมู่คณะ 12-50 คน หากน้อยกว่านั้นทางพิพิธภัณฑ์จะจับกลุ่มให้ สอบถามโทร. 0-2475-4185

ส่วน”พิพิธภัณฑ์ฯเรือพระราชพิธี” ตั้งอยู่ที่ เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ ถ.อรุณอมรินทร์ ศิริราช บางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น. คนไทย 20 บ. ต่างชาติ 100 บ. โดยในช่วงนี้ปิดให้บริการ และจะเปิดอีกครั้งในเดือนพ.ย. นี้ สอบถามโทร. 0-2424-0004
กำลังโหลดความคิดเห็น