xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ นัดแกนนำถกท่าที รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษเอื้อ "ทักษิณ" สัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปานเทพ  พัวพงษ์พันธ์ (แฟ้มภาพ)
พันธมิตรฯ เตรียมประชุมกำหนดท่าที รัฐบาลออกร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เอื้อ “นช.แม้ว” สัปดาห์หน้า “ปานเทพ” ฉะเข้าข่ายกดดันพระราชอำนาจ เย้ย “ปูนิ่ม” หนีความผิดไม่พ้น จี้ ครม.ออกมาแจงกันคนสับสน บอกสังคมขัดแย้งหรือไม่อยู่ที่ขัดหลักนิติรัฐหรือไม่ ยอมรับเรื่องละเอียดอ่อนกระทบสถาบัน

วันนี้ (16 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่อาจมีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า การออกกฎหมายอภัยโทษลักษณะนี้ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง ครม.มีหน้าที่เพียงการถวายคำแนะนำเท่านั้น ต่างจากการออกกฎหมายในรูปแบบพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาทั่วไป ดังนั้นการถวายคำแนะนำ ครม. ควรมีความระมัดระวัง เพราะมีโอกาสสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการกดดันพระราชอำนาจ

ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลี่ยงที่จะเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีการพิจารณาวาระดังกล่าว นายปานเทพ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือสละความเกี่ยวข้องกรณีนี้ได้ รวมทั้งยังไม่สามารถตัดขาดความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อาจได้ประโยชน์จากการออกพระราชกฤษฎีกานี้

อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องนี้ออกมาอย่างไร รัฐมนตรีแต่ละคนพูดและให้ข้อมูลไปคนละทาง บ้างก็ว่ามีมติออกมาแล้ว หรือบอกว่าอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการศึกษา จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้เกิดความสับสนหรือคลุมเครือขึ้นในสังคม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในเรื่องนี้จะกลายเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่รัฐบาลจะทำนั้นขัดต่อหลักนิติรัฐ และมีความชอบธรรมหรือไม่ รวมไปถึงต้องระมัดระวังประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการกดดันพระราชอำนาจอีกด้วย โดยยอมรับว่าประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนทางการเมืองสูง ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มพันธมิตรฯจะมีการประชุมแกนนำรุ่นที่ 1 และ 2 ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดท่าทีต่อกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น