กระแสลุกฮือของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ต่อความไม่รู้ผิดชอบชั่วดีของรัฐบาลเพื่อไทย-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กระทำการอันไม่สมควรในการจะฉวยโอกาส แอบช่วยทักษิณ ชินวัตร พี่ชายนายกรัฐมนตรี ด้วยการหมกเม็ดในการเสนอร่างพระราชกกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษพ.ศ.2554
รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังบังอาจฉวยโอกาสในวันสำคัญคือ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวามหาราช เพื่อหวังช่วยคนๆเดียวคือ ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิด กลับไทยโดยไม่ต้องติดคุก
เสมือนกับต้องการท้าทายพระราชอำนาจและทำให้ทักษิณคือความถูกต้องทุกอย่างในประเทศนี้ ซึ่งรายละเอียดความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ก็ได้มีการชำแหละ-แฉกันไปมากแล้ว จนทำให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวยับยั้งการคิดชั่วเช่นนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แม้เส้นทางการกลับไทยของทักษิณ ยังไม่สามารถบอกได้ตอนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางความสงสัยของหลายคนที่ติดตามคดีความของทักษิณ ชินวัตรที่ทางอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) สอบสวนเอาผิดและส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)สอบสวนต่อหลังคตส.หมดวาระ
ยังพบว่า คดีทุจริตคอรัปชั่นหรือคดีที่ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง มีอีกหลายคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุด
หมายความว่า เมื่อทักษิณกลับไทย ไม่ว่าจะมาแบบไหน ติดคุกหรือรอดคุกในคดีที่ดินรัชดาฯที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี ซึ่งกำลังบังอาจแก้กฎหมายเพื่อไม่ยอมติดคุก กดดันพระมหากษัตริย์ผ่านช่องทางขอพระราชทานอภัยโทษ ทักษิณก็ต้องกลับมาเริ่มกระบวนการสอบสวน-ไต่สวนคดีที่พักค้างอยู่ในศาลกันใหม่
หากมีการออกพ.ร.ฎ.บัดซบเช่นนี้ออกมาเป็นบรรทัดฐานแล้ว ทักษิณกลับไทย ก็ต้องไปขึ้นศาลเบิกความหรือไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสู้คดีอื่นที่ยาวเป็นหางว่าว ทีนี้พอถึงวันนัดตัดสินคดี หากทักษิณไม่มั่นใจว่าจะรอดหรือไม่ แล้วจะไม่หนีคดีออกไปต่างประเทศเหมือนคดีที่ดินรัชดาฯ กลายเป็นนักโทษหนีคดีซ้ำซากอีกหรือ?
จากนั้นก็ให้พวกนักการเมืองขี้ข้าในพรรคของเขา ตรากฎหมายออกมากดดันให้พระมหากษัตริย์พระราชทานอภัยโทษให้อีก แบบนี้บ้านเมืองไม่ล่มสลายคราวนี้จะเจ๊งคราวไหน?
อย่างไรก็ตาม คนวงในการเมืองต่างเชื่อว่า หากในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทักษิณกลับไทยได้ ไม่ต้องติดคุก นั่นย่อมหมายความว่าทักษิณย่อมมั่นใจว่าทุกอย่างจัดการเรียบร้อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรมาวุ่นวายใจ ไม่ต้องมาเตรียมตัวสู้คดีให้เสียเวลาอีกแล้ว
ถ้าทักษิณ กลับไทย จึงน่าจะหมายถึงว่า คดีความหลายต่อหลายคดี ที่จะต้องถูกรื้อฟื้น-ปัดฝุ่นกันใหม่ หลังมีการพักสำนวน จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวเพราะทักษิณหนีไปต่างประเทศ เมื่อทักษิณกลับมาก็ต้องมาเปิดห้องพิจารณาคดีกันใหม่
แต่ทักษิณคงเชื่อว่า แม้จะต้องกลับมาสู้คดีอีกมากมายแต่น่าจะไร้ปัญหา ไม่อย่างงั้นคงไม่กลับมาแน่นอน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ อันนี้ก็ต้องรอพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมกันต่อไป
สำหรับคดีความของทักษิณ ที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน-ในชั้นศาลรวมถึงในการตรวจสอบขององค์กรอิสระอย่างป.ป.ช.จะพบว่ามีอยู่หลายคดี แต่คดีหลักที่เป็นคดีใหญ่ๆและมีการฟ้องไปที่ศาลแล้ว จะมีดังนี้
คดีที่อยู่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เคยตัดสินว่าทักษิณทำผิดคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ทำให้ทักษิณต้องหนีไปหลบอยู่ต่างประเทศไม่ยอมรับโทษ และไม่เคยสำนึกผิดแม้แต่น้อย จากการตรวจสอบพบว่าทักษิณตกเป็นจำเลยตามสำนวนการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯรวมทั้งสิ้น 4 คดีดังนี้
1. .คดีที่อัยการสูงสุดยุคชัยเกษม นิติศิริ ยื่นฟ้องทักษิณ ชินวัตร ในความผิดกรณีใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองเข้าไปแสวงหาประโยชน์ผ่านช่องทางทั้งฝ่ายบริหารคือมติคณะรัฐมนตรี และนิติบัญญัติคือรัฐสภา ออกมาตรการเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมเช่นการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตทำให้รัฐเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท
คดีนี้มีทักษิณเป็นจำเลยคนเดียวและหลังยื่นฟ้องแล้วศาลได้ประทับรับฟ้องแต่ได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เพราะติดตามจำเลยมาไต่สวนคดีไม่ได้เพราะหลบหนีคดีไปต่างประเทศ
ซึ่งสำนวนฟ้องได้ระบุว่าทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสีย หายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ป.ป.ช.
2.คดีที่เป็นผลจากคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร 4.6 หมื่นล้านบาท ที่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯระบุว่าหุ้นชินคอร์ปที่มีการซื้อขายกันระหว่างตระกูลชินวัตรกับกลุ่มเทมาเส็ก แท้ที่จริงเป็นหุ้นของทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร
ทำให้หลังศาลตัดสินแล้ว ทางป.ป.ช.ได้มีการเอาผิดทักษิณกรณีซุกหุ้นชินคอร์ปที่เป็นการทำผิดตามพรบ.ป.ป.ช.มาตรา๑๑๙ ที่เป็นการเอาผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์
3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัวและ 3 ตัวโดยคณะรัฐมนตรีสมัยทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี
คดีนี้ศาลฎีกาได้ตัดสินไปแล้วโดยยกฟ้องจำเลยเช่นรัฐมนตรีที่อยู่ในที่ประชุมครม.ขณะออกมติหวยบนดิน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการไต่สวนสู้คดี ทักษิณที่เป็นจำเลยคนที่ 1 ไม่ได้อยู่ในประเทศ ไม่ได้มาสู้คดีเหมือนจำเลยคนอื่น
จึงทำให้เวลานั้นองค์คณะฯผู้ตัดสินคดีหวยบนดิน ไม่ได้มีการตัดสินคดีว่าทักษิณพ้นผิดด้วยหรือไม่ เพราะได้พักการไต่สวนทักษิณเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อทักษิณกลับมา ก็จะต้องมาต่อสู้คดีหวยบนดินกันใหม่ โดยมีทักษิณสู้คดีคนเดียว ที่ดูแล้วแม้ผลการตัดสินคดีของศาลในคดีนี้จะยกฟ้องคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
แต่ก็ไม่มีคำตอบว่า กรณีของทักษิณศาลจะว่าอย่างไร กระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะองค์คณะฯก็คงต้องคัดเลือกกันใหม่ แม้ดูแล้วจะใช้เวลาการไต่สวนคดีไม่นาน แต่ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร
4.คดีปล่อยเงินกู้ของเอ็กซิมแบงค์หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการบริษัทในเครือชินคอร์ป
ที่ในสำนวนคดีระบุว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะเงินกู้ที่รัฐบาลทักษิณปล่อยให้พม่ากู้ไปหลายพันล้านบาท พบว่าไปใช้ทำธุรกิจกับบริษัทเครือข่ายของทักษิณและครอบครัว เช่นการนำเงินกู้ไปซื้อดาวเทียมและอุปกรณ์ดาวเทียมไอพีสตาร์ของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ในเครือชินคอร์ปฯ
คดีนี้พบว่า หลังจากที่คตส.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาและศาลรับฟ้องแล้วก็มีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวด้วยเหตุผลเดียวกันคือตัวจำเลย ทักษิณ หลบหนีคดีไปต่างประเทศ
ส่วนคดีค้างคาอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นป.ป.ช.-อัยการ ที่มีทักษิณโดนสอบสวนเอาผิด ก็มีอีก 2คดีใหญ่ นั่นก็คือ คดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000
แม้อัยการจะไม่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯด้วยเหตุผลว่าพบข้อไม่สมบูรณ์แห่งคดี แต่ป.ป.ช.ก็จะฟ้องเองต่อศาลฎีกาฯในเร็วๆนี้ อันเป็นการฟ้องตามสำนวนเดิมที่ยกมาจากชั้นคตส.ที่มีการเอาผิด บุคคลจำนวนมากทั้งนักการเมือง- คณะกรรมการและพนักงานบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) -นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา
ในความผิดฐานทำโครงการจัดซื้อดังกล่าว โดยมุ่งมิให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ,เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ-ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
หนึ่งในผู้ที่ถูกเอาผิดในคดีนี้ด้วยก็คือ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี
รวมถึงอีกหนึ่งคดีที่ป.ป.ช.จะฟ้องศาลฏีกาเองหลังอัยการไม่ฟ้องให้นั่นก็คือคดีการทุจริตการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับนักการเมือง และผู้บริหารกับกลุ่มกฤษดามหานคร ผ่านบริษัทเอกชน วงเงิน 9,900 ล้านบาท ซึ่งทักษิณถูกเอาผิดด้วยในชั้นคตส.-ป.ป.ช.พร้อมกับ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายและอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยรวมถึงกลุ่มผู้บริหารกลุ่มกฤษดามหานคร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคดีอาญาทั่วไปที่ขึ้นศาลอาญาไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่น่าจับตาก็คือ คดี “เผาบ้านเผาเมือง”ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอเอาผิดทักษิณกับพวกรวม 25 คน
ในความผิดฐาน ผู้ต้องหา คดีร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด หรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 , 135/2 , 135/3 ประกอบมาตรา 83, 84 , 85 และมาตรา 86
ที่หนักกว่านั้นคือ คดีผู้ก่อการร้ายนี้ มีการเอาผิดทักษิณมากกว่าคนอื่น คือยังสั่งฟ้องเอาผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ข้อหาเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอกประเทศ ถ้าเหตุร้ายเกิดขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 127 ประกอบ มาตรา 4 , 5 , 6 และ 7 เพิ่มอีกหนึ่งกระทงด้วย
ในคดีผู้ก่อการร้ายนี้ มีคนโดนดีเอสไอเอาผิดตามสำนวนที่สรุปส่งฟ้องไป ตัวหลักนอกจากทักษิณ ก็มีอาทิจตุพร พรหมพันธุ์ -ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-น.พ.เหวง โตจิราการ -อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง- อดิศร เพียงเกษ -ก่อแก้ว พิกุลทอง-ขวัญชัย ไพรพนา
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาหลายคนตามสำนวนดีเอสไอ ปรากฏว่า ในช่วงการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการทางดีเอสไอยังติดตามตัวมาไม่ได้เพราะหลบหนีคดี ทำให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาไปแค่บางส่วนคือ 19 คนก่อนในช่วงแรก
หากทักษิณกลับไทย ดีเอสไอก็ต้องคุมตัวมาสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหา เสร็จแล้วตัวทักษิณก็ต้องปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย สอบปากคำเสร็จดีเอสไอก็ต้องส่งสำนวนในส่วนของทักษิณไปให้อัยการเพื่อยื่นฟ้องทักษิณต่อศาลอาญาเป็นจำเลยเพิ่มเติมตามหลังแกนนำเสื้อแดงอีกหลายคนก่อนหน้านี้
หากรัฐบาลน้องสาวทักษิณอุ้มพี่ชายกลับมาได้ตามความคาดหมาย เท่ากับว่าพลังศีลธรรมของสังคมไทยพ่ายแพ้ยับเยินแก่อำนาจชั่ว
อาจได้เห็นทักษิณเดินเข้าห้องพิจารณาคดีในฐานะ “จำเลยแผ่นดิน”ในหลายคดีที่รออยู่ เขาอาจถูกพิพากษาให้มีความผิด ได้รับโทษจำคุก แต่เขาจะไม่ติดคุก