xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จับตากระบวนการยุติธรรม เด้งรับ “ระบอบทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายราเมศ รัตนเชวง แนะนำกลุ่มทีมนักกฏหมายรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วยคณะ แถลงข่าวกรณีกลุ่มนิติราษฎร ที่เพียรพยายามคิดที่จะแก้กฏหมายเพื่อประโยชน์ช่วยใครบางคนโดยเฉพาะ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ แล้วไปลงสมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะได้ประกาศตัวให้ชัดเจนในการแก้กฏหมายฉบับนี้ พร้อมกับเตือนข้าราชการอัยการสูงสุดอย่าตกเป็นเครื่องมือของพวกนักการเมือง แถลงข่าวพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 2 ก.ย. 2554
ทีมโฆษก ปชป.ปัดขู่ อสส. ยันตรวจสอบตามหน้าที่ฝ่ายค้าน ตอกกลับเพื่อไทยอ้างถอดถอนเข้าข่ายขัดขวางทำหน้าที่ ส.ส. แนะจับตากระบวนการยุติธรรมเด้งรับ “ระบอบทักษิณ” หลังคดีกฤษดานคร-ซีทีเอ็กซ์ 9000 ถูกทำหมัน


วันนี้ (2 ต.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวปฏิเสธถึงการกดดันอัยการสูงสุดตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหา โดยระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ทราบดีถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 2550 ที่ให้อิสระอัยการในการพิจารณาสั่งคดีแปละปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม แต่ก็ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วยว่าในการทำงานของอัยการนั้นเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวยังได้สร้างความกังขาแก่สังคม เพราะเป็นคดีที่การพิจารณาได้เกิดความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ดังนั้น ศาลฎีกาก็ควรจะมีการพิจารณาชี้ขาดเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กดดันแต่อย่างใด แต่เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบการทำงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่ามีการทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าจะถอดถอน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงชื่อถอดถอนอัยการสูงสุด โดยมีการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 270-271 นั้น นายสกลธีกล่าวว่า เป็นสิทธิที่พรรคเพื่อไทยจะทำได้ แต่ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายข่มขู่ และขัดขวางการทำหน้าที่ของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่มีการหลบเลี่ยงภาษีในจำนวนเงิน 273 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าธรรมเนียมจะสูงถึงประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องนี้แล้วอาจจะทำให้สังคมเสียหายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กำลังรอคำชี้แจงของอัยการ โดยในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ทราบว่านายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด จะไปชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรับฟังและขอเอกสารก่อนนำไปสู่การถอดถอนอัยการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270-271 ต่อไป

นายสกลธีกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทราบข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าในกรณีการตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และกรณีที่ธนาคารกรุงไทยมีการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท กฤษดามหานคร ซึ่งมีการพิจารณาคดีในเวลาที่ไล่เลี่ยกับคดีการเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่ได้มีคำสั่งฟ้องร้องเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องจับตาการทำงานของอัยการสูงสุด เพราะขณะนี้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีกระบวนการทำงานที่เป็นอิสระหรือไม่

นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การตรวจสอบของพรรคยึดถือกระบวนการกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ทุกประการ และในกรณีคำสั่งของอัยการสูงสุดไม่ว่าจะเป็นคดีปกติเล็กๆ น้อยๆ หรือระดับชาติ อำนาจดุลพินิจอัยการ อำนาจดุลพินิจของพนักงานอัยการถือว่าเป็นอำนาจที่สามารถที่จะตรวจสอบถ่วงดุลได้ ซึ่งก็มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3905/2549 ที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอัยการผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคดีอาญาเป็นจำเลย ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ตัดสิน และเป็นหลักฐานยืนยันว่าอำนาจของอัยการสามารถตรวจสอบได้ ถ่วงดุลกัน ยิ่งเป็นคดีหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะย่อมทำได้เช่นเดียวกัน

“ความอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยคดีนั้นไร้ขอบเขต แต่ทั้งนี้ก็ต้องยึดตามกฎหมาย ความสมเหตุสมผล เพื่อให้สังคมยอมรับได้ ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ” นายราเมศกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น