ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษ “วันชัย จงจรูญหิรัญ” สมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์ฯ เครือข่ายเสื้อแดง ฐานหมิ่นประมาท “คุณหญิงจารุวรรณ” กรณีออกแถลงการณ์กล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ซื้อบ้านหลังละ 50 ล้าน สมัยเป็นผู้ว่าฯ สตง. ให้จำคุก 3 ปี 3 เดือน แต่จำเลยไม่เคยต้องโทษ จึงลดเหลือจำคุก 10 เดือน พร้อมรอลงอาญา 2 ปี
คดีดังกล่าว คุณหญิงจารุวรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ยื่นฟ้องนายวันชัย จงจรูญหิรัญ ประธานกลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมืองและการต่อต้านคอรัปชั่น ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีที่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.51 นายวันชัยได้พิมพ์แถลงการณ์ให้เข้าใจว่าคุณหญิงจารุวรรณร่ำรวยผิดปกติ สามารถสร้างบ้านราคา 50 ล้านบาท ซื้อที่ดินมาแล้วให้บุตรชายถือครองแทน นำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีไม่ยอมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้พยายามติดสินบน 100 ล้านบาท และเป็นคนท่าดีทีเหลว หลอกลวงสาธารณชน กรณีเป็นกรรมการ คตส.แต่ไม่สามารถดำเนินคดีผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เช่น กรณีทุจริตเครื่อง CTX ได้
คุณหญิงจารุวรรณให้การว่า กรณีแลถงการณ์กล่าวหาว่าสร้างบ้านราคา 50 ล้านบาทนั้น ความจริงบ้านหลังดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ราคา 4,400,000 บาท สร้างมาแล้ว 2 ปีเศษ ตามกำลังรายได้ โดยวิธีการเหมาค่าแรงและซื้อวัสดุก่อสร้างเอง ส่วนที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ สามีได้ซื้อไว้เมื่อปี 2505 ก่อนสมรส ส่วนที่กล่าวหาบุตรชายเพิ่งจบการศึกษา เหตุใดมีเงินซื้อที่ดินมูลค่า 12 ล้านบาทนั้น ความจริงบุตรชายอายุ 31 ปี จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มาแล้ว 8 ปี และที่ดินผืนดังกล่าวมีราคาเพียง 4 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เสนอสินบนให้ 100 ล้านบาทนั้น เหตุเกิดเมื่อปี 2551 เวลา 19.30 น. มีบุคคลไม่ทราบชื่อโทรศัพท์ไปที่หมายเลขกลางของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ละเว้นการตรวจสอบเรื่องหนึ่ง จึงได้นัดให้ไปพบที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้พนักงานรักษาความปลอดภัยจับกุม แต่บุคคลดังกล่าวไม่ไปพบ จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้
ส่วนกรณีกล่าวหาว่านำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ส่วนตัว เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย และนายวันชัยไม่ได้ระบุว่านำไปใช้เรื่องใด ที่ไหน เมื่อใด กรณีการตรวจสอบการทุจริตเครื่อง CTX นั้น เป็นการดำเนินการในฐานะกรรมการ คตส.คุณหญิงจารุวรรณไม่ได้ดำเนินการคนเดียว แต่นายวันชัยแถลงการณ์ให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าคุณหญิงจารุวรรณตรวจสอบเพียงคนเดียวและการตรวจสอบไม่ประสบความสำเร็จ ท่าดีทีเหลว หลอกลวงสาธารณชน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายวันชัยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โทษจำคุก 1 ปี และปรับ 15,000 บาท แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี หลังจากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เห็นว่า แถลงการณ์ของจำเลย ข้อ 3 กรณีกล่าวหาว่าโจทก์นำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ในเรื่องส่วนตัว และข้อ 5 กรณีกล่าวหาว่าโจทก์ท่าดีทีเหลว หลอกลวงสาธารณชนเรื่องการตรวจสอบเครื่องซีทีเอ็กซ์ มีผลให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา มิใช่เพียงข้อ 2 กรณีกล่าวหาโจทก์ซื้อบ้านหลังละ 50 ล้านเพียงข้อเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ จึงฟังขึ้นบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ศาลเห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศ จำเลยในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ รวมทั้งเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน แต่การตรวจสอบดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คดีนี้จำเลยจัดทำแถลงการณ์ที่มีข้อความเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หลายข้อโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้ บางเรื่องเป็นการกล่าวหากันลอยๆ จึงเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยหนักขึ้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดในคดีที่มีข้อหาเช่นเดียวกันนี้มาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนโดยรอการลงโทษเอาไว้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 3 ปี 3 เดือน ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเอาไว้มีกำหนด 2 ปีเช่นเดิม
สำหรับนายวันชัย จงจรูญหิรัณย์ เป็นสมาชิกกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ หนึ่งในขบวนการ “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ นปก. มีอาชีพคนขับรถตู้ และเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.50 เคยขับรถตู้แกนนำกลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ฝ่าฝืนสัญญาณเจ้าหน้าที่ตำรวจและพุ่งชน ส.ต.ท.วศิน ปิ่นวัฒนะ ผบ.หมู่ สน.นางเลิ้ง จนได้รับบาดเจ็บ ขณะโบกให้หยุด นอกจากนี้ ชื่อของนายวันชัย ยังเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ นปก.รุ่น 2 ซึ่งขณะนี้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงอีกด้วย
รายละเอียดคำพิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ ๓๑๐/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๓๕/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลอุทธรณ์
วันที่ ๑๘ เดือนพฤกษาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
ความอาญา
ระหว่าง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา โจทก์
นายวันชัย จงจรูญหิรัณย์ จำเลย
เรื่อง หมิ่นประมาท
โจทก์และจำเลย อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอาญา
ลงวันที่ ๑ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๒
ศาลอุทธรณ์รับวันที่ ๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลากลางวัน จำเลยจัดพิมพ์แถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความใส่ร้ายและหมิ่นประมาทโจทก์หลายประเด็น โดยจำเลยลงลายมือชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวและแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยมีเจตนาทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความดังต่อไปนี้
“ตามที่กลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่นได้แสดงหลักฐานและแถลงการณ์เพื่อถามข้อเท็จจริงในพฤติกรรมของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เพื่อขอร้องให้คุณหญิงได้กรุณาตอบข้อสงสัยที่เราได้ตั้งประเด็นสอบถามไปแล้วนั้น ซึ่งคุณหญิงได้ตอบคำถามต่อสังคมตามที่เราเรียกร้องเพียงบางส่วน และส่วนใหญ่ก็เป็นการตอบไม่ตรงคำถามและเบี่ยงเบนโดยใช้ถ้อยคำท้าทายทางกลุ่มฯในหลายประเด็น ทางกลุ่มฯขอเรียนชี้แจงต่อสาธารณชนและต่อสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ ดังนี้
๑. ในเรื่องบ้านและที่ดินที่คุณหญิงอ้างว่าคุณหญิงใช้เงินค่าก่อสร้างไปประมาณ ๔ ล้านบาท โดยกล่าวว่าบ้านหลังดังกล่าวมีราคาไม่ถึง ๕๐ ล้านบาท ตามที่วิศวกรที่เรารู้จักทำการประเมินให้นั้น โดยกล่าวท้าทายว่าจะขายให้ทางกลุ่มฯในราคา ๔๐ ล้านบาทนั้น ทางกลุ่มฯขอเรียนให้ทราบว่า กลุ่มของเราเป็นประชาชนที่ทำมาหากิน ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ คงไม่มีเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปซื้อคฤหาสน์หลังดังกล่าวจากคุณหญิงได้ แต่หากคุณหญิงยืนยันว่าคุณหญิงใช้เงินสร้างบ้านหลังดังกล่าวในราคา ๔ ล้านบาทจริง เราใคร่ขอซื้อในราคา ๗ ล้านบาท ซึ่งเราพอจะเรี่ยไรจากสมาชิกของกลุ่มฯได้ โดยให้กำไรคุณหญิงถึงร้อยละ ๗๕ ซึ่งจัดว่าเป็นกำไรเกินควรด้วยซ้ำ แต่ราคา ๔๐ ล้านบาทที่คุณหญิงเสนอนั้น จะคิดเป็นกำไรจากเราถึง ๑๐ เท่า หรือ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราเห็นว่ามากเกินสมควรไปจนอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้ เข้าขั้น “หน้าเลือด” ซึ่งจะเป็นผลลบต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของคุณหญิงได้ ทางกลุ่มเราจะไม่ยอมทำลายชื่อเสียงของคุณหญิงด้วยวิธีนี้อย่างเด็ดขาด
๒. ในเรื่องที่ดินบริเวณใกล้เคียงกันซึ่งบุตรชายของคุณหญิงเพิ่งซื้อมา ซึ่งไม่มีทางที่บุตรชายของคุณหญิงจะมีเงินมาซื้อที่ดินผืนดังกล่าวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองได้ คุณหญิงไม่ตอบคำถามนี้เลย เราสงสัยว่านี่คือการซุกที่ดิน เป็นตัวแทนถือทรัพย์แทนคุณหญิงและสามี เพื่อเหตุผลในการปกปิดทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อคณะกรรมการปปช. กราบเรียนคุณหญิงได้กรุณาตอบคำถามนี้ต่อสังคมด้วย
๓. เรื่องของการนำรถยนต์ประจำตำแหน่งที่ให้ไว้เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการเท่านั้น ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว คุณหญิงก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามนี้เลย เราขอกราบเรียนให้คุณหญิงได้โปรดกรุณาตอบคำถามในประเด็นนี้ให้กระจ่างด้วย
๔. ในเรื่องที่คุณหญิงกล่าวอ้างก็คือคุณหญิงเล่าว่ามีบุคคลที่คุณหญิงไม่เปิดเผยชื่อได้นำเงินจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท มาให้เพื่อพยายามติดสินบนคุณหญิง ซึ่งคุณหญิงปกปิดไม่แจ้งความหรือดำเนินการใดๆ กับบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๕ ซึ่งคุณหญิงก็มิได้ตอบคำถาม หรือเปิดเผยและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด หากคุณหญิงยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เราคงต้องแจ้งความดำเนินคดีกับคุณหญิงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามทุจริตต่อไป
๕. ในเรื่องอื่นๆ ที่คุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนว่า จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทันที โดยปล่อยเวลาให้เวลาเนิ่นนานมาเกือบ ๒ ปี ตั้งแต่คุณหญิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของ คตส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX นั้น การณ์กลับปรากฏว่า ไม่มีการส่งฟ้องใดๆมาจนกระทั่งบัดนี้ ตามสำนวนชาวบ้านคงต้องบอกว่า “ท่าดีทีเหลว” ทำให้เราเข้าใจว่าคุณหญิงได้หลอกลวงโป้ปดมดเท็จต่อสาธารณชน เพื่อสร้างภาพให้คุณหญิงดูดีตอนที่ คมช. แต่งตั้งคุณหญิงให้ดำรงตำแหน่งใน คตส. เท่านั้น ซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการระดับสูง ซึ่งต้องดำรงตนให้สาธารณชนเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเช่นคุณหญิงไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการทำลายเกียรติยศของตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เราจึงขอเรียกร้องให้คุณหญิงได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำครั้งนี้ของคุณหญิงด้วย...”
ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง และจำเลยมีเจตนาจะให้สาธารณชนทั่วไปที่ได้อ่านแถลงการณ์ดังกล่าวของจำเลยเข้าใจว่าโจทก์มีความร่ำรวยผิดปกติ สามารถสร้างบ้านที่มีราคาสูงถึง ๕๐ ล้านบาท ซื้อที่ดินมาแล้วให้บุตรชายถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ นำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ในเรื่องส่วนตัวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยการปกปิดไม่ยอมแจ้งความดำเนินคดีแก่บุคคลที่พยายามจะให้สินบนแก่โจทก์ และโจทก์เป็นคนท่าดีทีเหลวหลอกลวงโป้ปดมดเท็จต่อสาธารณชน ไม่สามารถดำเนินคดีผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐในฐานะเป็นคณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ อันเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และได้รับความเสียหาย กรณีที่จำเลยกล่าวในแถลงการณ์ว่า โจทก์ก่อสร้างบ้านมีราคา ๕๐ ล้านบาท ความจริงบ้านของโจทก์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีราคาเพียง ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท ลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ๓ ชั้น โจทก์ก่อสร้างมา ๒ ปีเศษ ตามกำลังรายได้ของโจทก์ โดยวิธีเหมาค่าแรงและโจทก์ซื้อวัสดุในการก่อสร้างเอง ส่วนที่ดินซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ เป็นของสามีโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ก่อนสมรสกับโจทก์ ขณะนั้นยังไม่มีความเจริญ มูลค่าที่สูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากความเจริญของบริเวณใกล้เคียง โจทก์ระบุที่ดินแปลงดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทางทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ แล้ว กรณีที่จำเลยกล่าวหาว่าบุตรชายโจทก์เพิ่งจบการศึกษา เหตุใดมีเงินซื้อที่ดินจำนวน ๑ ไร่ มูลค่า ๑๒ ล้านบาท ความจริงบุตรชายโจทก์ปัจจุบันอายุ ๓๑ ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มานาน ๘ ปีแล้ว และที่ดินดังกล่าวมีราคาเพียง ๔ ล้านบาท กรณีผู้ให้สินบนจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นปี ๒๕๕๑ วันที่เท่าใดโจทก์จำไม่ได้ เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ นาฬิกา โจทก์ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่ยอมแจ้งนามที่โทรศัพท์หมายเลข ๐๒-๒๗๓-๖๙๔๗ ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์กลางของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน บุคคลดังกล่าวขอให้โจทก์ละเว้นการตรวจสอบเรื่องหนึ่ง โจทก์นัดให้ไปพบโจทก์ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพื่อให้พนักงานรักษาความปลอดภัยจับกุม แต่บุคคลดังกล่าวไม่ไปพบโจทก์ โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวเพราะไม่ทราบชื่อและไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวให้โจทก์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เรื่องใด โจทก์ออกข่าวเรื่องดังกล่าวเพราะประสงค์ให้สังคมรับทราบว่ามีความพยายามที่จะให้สินบนแก่โจทก์ เพื่อไม่ให้ตรวจสอบการกระทำความผิด กรณีจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์นำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ในเรื่องส่วนตัว เป็นการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย โจทก์ไม่เคยนำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และจำเลยมิได้ระบุว่าโจทก์นำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ส่วนตัวที่ไหน เมื่อใด และกรณีกล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนหลอกลวงโป้ปดมดเท็จต่อสาธารณชน เช่น กรณีตรวจสอบทุจริตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โจทก์ไม่ได้ดำเนินการเพียงผู้เดียว จำเลยกล่าวในแถลงการณ์โดยมุ่งหมายให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบการตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพียงผู้เดียวและการตรวจสอบดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ท่าดีทีเหลว หลอกลวงสาธารณชน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลเช่นจำเลยในฐานะที่เป็นประชาชนย่อมกระทำได้ หากแต่จำเลยมีเจตนานำเอาความเท็จมากล่าวเผยแพร่ต่อบุคคลที่สามหรือสาธารณชนโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒ ให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๐๙๙/๒๕๕๐ หมายเลขแดงที่ ๑๒๗๐/๒๕๕๑ ของศาลแขวงดุสิต กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลโดยละเอียดในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ แนวหน้า สยามรัฐ และเดอะเนชั่น เป็นเวลา ๗ วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา หากจำเลยไม่สามารถลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นตามที่โจทก์เป็นผู้กำหนด โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฎิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ จำคุก ๑ ปี และปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์ มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เวลากลางวัน จำเลยกับพวกนำแถลงการณ์ของกลุ่มติดตามการปฎิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ซึ่งจำเลยเป็นผู้จัดทำและลงลายมือชื่อในฐานะประธานกลุ่ม ตามแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ ไปยื่นที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ผ่านไปมา จำเลยนัดสื่อมวลชนไปทำข่าวด้วย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไปรับแถลงการณ์และรายงานให้โจทก์ทราบ ข้อความในแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงบ้านของโจทก์มีราคาไม่ถึง ๕๐ ล้านบาท ตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ เนื่องจากที่ดินเป็นของนายทรงเกียรติ เมณฑกา สามีโจทก์ ซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๐๕ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.๕ ส่วนบ้านหลังดังกล่าวมีราคาเพียง ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามสำเนาภาพถ่ายและใบสรุปค่าก่อสร้างเอกสารหมาย จ.๔ เมื่อรวมราคาบ้านและที่ดินเป็นเงิน ๑๙,๐๖๐,๘๐๐ บาท ตามสำเนาแบบสำรวจและประเมินราคา หลักประกันเอกสารหมาย จ.๗ โจทก์มีรายได้จากการสอนพิเศษ ไม่ได้ทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติ สามีโจทก์เคยนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองหลายครั้ง โจทก์ไม่เคยซื้อที่ดินแล้วใส่ชื่อบุตรชายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน บุตรชายโจทก์จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มานาน ๑๐ ปีเศษ สามารถซื้อที่ดินราคาเพียง ๔,๗๐๐,๐๐๐ บาท ได้เอง โจทก์ไม่เคยนำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้ส่วนตัว กรณีมีผู้ติดต่อให้สินบนแก่โจทก์ทางโทรศัพท์ โจทก์เคยหลอกให้บุคคลดังกล่าวนำสินบนมาให้โจทก์ เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจับกุม แต่บุคคลดังกล่าวไม่มาตามนัด โจทก์ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร เป็นเหตุให้ไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดี ส่วนกรณีเครื่องจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ คณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการ มีมติว่ามีการกระทำความผิดจริงและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ตามหนังสือปัจฉิมบท คตส. หมาย จ.๙ หน้า ๖๗ โจทก์เคยให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ตาสว่าง และทำหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติตามที่จำเลยไปร้องเรียนโจทก์ ตามสำเนาหนังสือชี้แจงเอกสารหมาย จ.๑๑ ทั้งยังเคยแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามบัญชีรายการเอกสารหมาย จ.๒๐ และโจทก์แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในแบบแสดงรายการเอกสารหมาย จ.๑๒ แล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบอีก การใส่ความของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นประธานกลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่น และในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี จำเลยย่อมมีสิทธิตรวจสอบโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเคยยื่นแถลงการณ์สอบถามโจทก์ แต่โจทก์ตอบในรายการตาสว่างไม่ครบทุกประเด็น เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยกับพวกไปยื่นแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ ให้แก่โจทก์ จำเลยยังได้ยื่นเอกสารดังกล่าวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย แถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ มีลักษณะเปรียบเปรยเพื่อให้โจทก์ชี้แจง มิใช่การกล่าวหาโจมตีโจทก์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ลงข่าวที่โจทก์ถูกร้องเรียนกล่าวหาเช่นกัน ตามสำเนาหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย ล.๒ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าบ้านของโจทก์มีราคา ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามสำเนาใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๔ นั้น นายครรชิต จิระไชยเขื่อนขันธ์ วิศวกรรับเหมาก่อสร้าง พิเคราะห์เอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านของโจทก์แล้วเห็นว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านโจทก์สูงกว่าราคาดังกล่าว โจทก์ตรวจสอบกรณีการทุจริตเครื่องตรวจจับระเบิดซีทีเอ็กซ์ไม่เสร็จภายใน ๗ วัน ตามที่โจทก์เคยกล่าวไว้ จำเลยจึงยื่นแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ ให้โจทก์ชี้แจง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จำเลยจัดทำแถลงการณ์กลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ กล่าวถึงโจทก์รวม ๕ ข้อ ข้อแรก เกี่ยวกับราคาบ้านของโจทก์ ข้อ ๒ เกี่ยวกับที่ดินของบุตรชายโจทก์ ข้อ ๓ เกี่ยวกับการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ ข้อ ๔ กรณีโจทก์เปิดเผยว่ามีบุคคลพยายามติดสินบนโจทก์ด้วยเงินจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท และข้อ ๕ เกี่ยวกับการให้ข่าวของโจทก์เรื่องการตรวจสอบทุจริตกรณีเครื่องจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ (CTX) ตามแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ และเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยยื่นแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยก่อนว่าจำเลยจัดทำแถลงการณ์กลุ่มติดตามการปฏิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๒ โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นนอกจากโจทก์ทราบด้วยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ไปแจกแถลงการณ์ดังกล่าวที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ ให้โจทก์อ่านและตอบคำถาม แต่โจทก์ไม่ออกมารับ จำเลยจำเป็นต้องส่งมอบแก่นายพิศิษฐ์ แทน การที่นายพิศิษฐ์เปิดอ่านเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย ในข้อนี้โจทก์มีนายพิศิษฐเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับรายงานจากหน่วยรักษาความปลอดภัยหน้าอาคารว่ามีกลุ่มบุคคลถือป้ายหลายข้อความและแจกแถลงการณ์ พยานลงไปดูพบกลุ่มบุคคลถือป้ายและยืนแจกแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่ผ่านไปมาที่บันไดหน้าอาคาร พยานรับแถลงการณ์ดังกล่าวจากจำเลยเพื่อรายงานโจทก์ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายพิศิษฐ์มีตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีเพราะขณะที่จำเลยนำแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ ไปยื่นให้โจทก์ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โจทก์ไม่อยู่ ประกอบกับไม่มีเหตุผลประการใดที่นายพิศิษฐ์จะต้องมาเบิกความเท็จต่อหน้าศาลเพื่อปรักปรำจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่จำเลยยื่นแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ แก่นายพิศิษฐ์ มีพวกของจำเลยยืนแจกแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่ผ่านไปมาที่บันไดหน้าอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การที่นายพิศิษฐ์เปิดอ่านแถลงการณ์ที่รับไปจากจำเลยเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลยนั้น ตามคำเบิกความของนายพิศิษฐ์ปรากฏว่า แถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ อยู่ในซองจดหมายไม่ได้จ่าหน้าซองและไม่ได้ปิดผนึก แสดงว่าจำเลยมิได้สนใจว่าจะมีใครเปิดอ่านหรือไม่ การที่นายพิศิษฐ์นำเอกสารดังกล่าวมาเปิดอ่านจะถือว่าเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลยย่อมมิได้ ประกอบกับการที่จำเลยจัดทำเอกสารดังกล่าวในรูปแบบของแถลงการณ์แทนที่จะจัดทำในรูปแบบของจดหมายส่งถึงโจทก์โดยตรง และกล่าวในตอนต้นของแถลงการณ์ว่า “...ทางกลุ่มขอเรียนชี้แจงต่อสาธารณชนและต่อสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ...” ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยประสงค์ให้ข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นที่ทราบกันทั่วไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจัดทำเอกสารแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ โดยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นทราบข้อความในเอกสารดังกล่าวด้วย มิใช่มีเจตนาให้โจทก์อ่านเพียงคนเดียวดังที่อ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยมีว่า ข้อความในแถลงการณ์กลุ่มติดตามการปฎิรูปการเมืองและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๒ ที่กล่าวถึงโจทก์ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อความในเอกสารดังกล่าวข้อ ๑ และข้อ ๓ ถึงข้อ ๕ เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวข้อ ๒ มิได้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์เป็นลำดับไป
ในส่วนข้อความในแถลงการณ์ข้อ ๑ ที่ว่า “...ในเรื่องบ้านและที่ดินที่คุณหญิงอ้างว่าคุณหญิงใช้เงินค่าก่อสร้างไปประมาณ ๔ ล้านบาท โดยกล่าวว่าบ้านหลังดังกล่าวมีราคาไม่ถึง ๔๐ ล้านบาท ตามที่วิศวกรที่เรารู้จักทำการประเมินให้นั้น โดยกล่าวท้าทายว่าจะขายให้ทางกลุ่มฯในราคา ๔๐ ล้านบาทนั้น ทางกลุ่มฯขอเรียนให้ทราบว่า กลุ่มของเราเป็นประชาชนที่ทำมาหากินในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ คงไม่มีเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปซื้อคฤหาสน์หลังดังกล่าวจากคุณหญิงได้ แต่หากคุณหญิงยืนยันว่าคุณหญิงใช้เงินสร้างบ้านหลังดังกล่าวในราคา ๔ ล้านบาทจริง เราใคร่ขอซื้อในราคา ๗ ล้านบาท ซึ่งเราพอจะเรี่ยไรจากสมาชิกของกลุ่มฯได้ โดยให้กำไรคุณหญิงถึงร้อยละ ๗๕ ซึ่งจัดว่าเป็นกำไรเกินควรด้วยซ้ำ แต่ราคา ๔๐ ล้านบาท ที่คุณหญิงเสนอนั้น จะคิดเป็นกำไรจากเราถึง ๑๐ เท่า หรือ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราเห็นว่ามากเกินสมควรไปจนอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้ เข้าขั้น “หน้าเลือด” ซึ่งจะเป็นผลลบต่อชื่อเสียงและเกียติคุณของคุณหญิงได้ ทางกลุ่มเราจะไม่ยอมทำลายชื่อเสียงของคุณหญิงด้วยวิธีนี้อย่างเด็ดขาด” นั้น สาระสำคัญของแถลงการณ์ข้อนี้ก็คือ จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่า บ้านของโจทก์มิได้มีราคาก่อสร้างประมาณ ๔ ล้านบาท ดังที่โจทก์อ้าง เพราะวิศวกรที่กลุ่มของจำเลยรู้จักประเมินว่ามีราคา ๕๐ ล้านบาท ส่วนข้อความอื่นเป็นเพียงถ้อยคำล้อเลียนหรือเปรียบเปรย มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ จึงไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าในทางใด ในส่วนข้อความที่เป็นปัญหาคือข้อความเกี่ยวกับราคาค่าก่อสร้างบ้านของโจทก์นั้น โจทก์เบิกความยอมรับว่า เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายหนึ่งกล่าวหาโจทก์เช่นกันและโจทก์เคยไปแถลงที่สภาผู้แทนราษฎรว่าค่าก่อสร้างโครงสร้างบ้านหลังดังกล่าวเป็นเงินเพียง ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยยอมรับว่าโจทก์เคยไปออกรายการโทรทัศน์ชื่อรายการตาสว่างและตอบคำถามว่าบ้านหลังดังกล่าวราคาไม่ถึง ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์อ้างถึงรายละเอียดค่าก่อสร้างตามใบประเมินราคาเอกสารหมาย จ.๔ แผ่นที่ ๒ แสดงว่าโจทก์เคยกล่าวหลายครั้งว่า บ้านของโจทก์มีราคาเพียงประมาณ ๔ ล้านบาท ดังที่ปรากฏในตอนต้นของแถลงการณ์ข้อนี้จริง และเมื่อพิจารณาสภาพบ้านหลังดังกล่าวตามที่ปรากฏในสำเนาภาพถ่ายที่โจทก์อ้างส่งเอกสารหมาย จ.๔ หนังสือพิมพ์มติชนฉบับลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๖ และภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งหมาย ล.๒ จะเห็นได้ว่า เป็นบ้านหลังค่อนข้างใหญ่ หากไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษดังเช่น โจทก์ซื้อวัสดุก่อสร้างได้ในราคาต่ำกว่ามาก หรือผู้รับเหมาก่อสร้างคิดค่าแรงในราคาต่ำมาก ค่าก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวน่าจะต้องสูงกว่า ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาทมาก ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์เองปรากฎว่า บริษัทชาเตอร์ เซอร์เวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เคยประเมินราคาบ้านตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบที่โจทก์ยื่นกู้กับธนาคารเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ๓ ปีเศษว่า ค่าก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวเป็นเงิน ๑๔,๒๖๐,๘๐๐ บาท เมื่อรวมกับที่ดินที่มีราคาในขณะนั้น ๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙,๐๖๐,๘๐๐ บาท ตามแบบสำรวจและประเมินหลักประกันเอกสารหมาย จ.๗ ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างบ้านจำนวนเงินสูงกว่าที่โจทก์ระบุมาก ทั้งที่ราคาดังกล่าวยังไม่รวมงานตกแต่งภายใน งานสุขภัณฑ์ งานไฟฟ้า งานประปา งานระบบปรับอากาศ และงานอื่นๆ นอกจากนี้จำเลยมีนายครรชิต จิระไชยเขื่อนขันธ์ ซึ่งประกอบวิชาชีพวิศวกรมานานประมาณ ๓๐ ปี มาเบิกความว่า ราคาค่าก่อสร้างบ้านของโจทก์ หากประเมินให้ละเอียดจะมีราคาสูงกว่าใบประเมินราคาทั้งตามเอกสารหมาย จ.๔ และเอกสารหมาย จ.๗ มาก กรณีจึงมีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์ระบุราคาบ้านของโจทก์ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หากโจทก์ระบุราคาบ้านของโจทก์ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ย่อมเป็นการส่อให้เห็นถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จำเลยในฐานะประชาชนคนหนึ่งย่อมมีสิทธิตั้งข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน ซึ่งหากโจทก์มีพยานหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือมาแสดงว่าโจทก์สามารถก่อสร้างบ้านได้ในราคาต่ำตามที่โจทก์ระบุ ย่อมจะไม่มีผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนี้อีก ข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนข้อความคำแถลงการณ์ข้อ ๓ ที่ว่า “เรื่องของการนำรถยนต์ประจำตำแหน่งที่ให้ไว้เพื่อใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ทางราชการเท่านั้น ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว คุณหญิงก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามนี้เลย เราขอกราบเรียนให้คุณหญิงได้โปรดกรุณาตอบคำถามในประเด็นนี้ให้กระจ่างด้วย” นั้น แม้จำเลยกล่าวเป็นทำนองว่า เคยถามโจทก์เรื่องนี้ แต่โจทก์เลี่ยงไม่ตอบคำถาม และความตอนท้ายจำเลยเพียงแต่ขอให้โจทก์ตอบคำถามในเรื่องนี้ก็ตาม แต่ความในตอนแรกเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำรถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัวย่อมทำให้ผู้ที่ได้อ่านซึ่งไม่ทราบความเป็นมาของแถลงการณ์ฉบับนี้เกิดความเคลือบแคลงว่า โจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบมิให้มีการกระทำเช่นนั้น แต่กลับกระทำผิดเสียเอง และเมื่อพิจารณาถ้อยคำในแถลงการณ์ข้อนี้ ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์นำรถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัวเรื่องใดและเมื่อใด ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในเรื่องนี้เช่นกัน จึงต้องฟังว่าเป็นการกล่าวหากันลอยๆ ต้องถือว่าข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้เป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้เป็นเพียงการที่จำเลยขอให้โจทก์ตอบคำถามที่จำเลยเคยถาม แต่โจทก์ตอบไม่ชัดเจนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ในส่วนข้อความในแถลงการณ์ข้อ ๔ ที่ว่า “ในเรื่องที่คุณหญิงกล่าวอ้างก็คือคุณหญิงเล่าว่ามีบุคคลที่คุณหญิงไม่เปิดเผยชื่อได้นำเงินจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท มาให้เพื่อพยายามติดสินบนคุณหญิง ซึ่งคุณหญิงปกปิดไม่แจ้งความหรือดำเนินการใดๆ กับบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๕ ซึ่งคุณหญิงก็มิได้ตอบคำถาม หรือเปิดเผยและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด หากคุณหญิงยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เราคงต้องแจ้งความดำเนินคดีกับคุณหญิงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป” นั้น ในข้อนี้โจทก์เบิกความยอมรับว่า โจทก์เคยออกข่าวว่ามีคนพยายามที่จะให้สินบนแก่โจทก์เพื่อให้ละเว้นการตรวจสอบโครงการหนึ่งจริง และยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้ไปแจ้งความจริง โดยอ้างว่าเพราะโจทก์ไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใครและไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวประสงค์ให้ละเว้นการตรวจสอบโครงการใด แต่แม้เป็นเช่นนั้น โจทก์ก็น่าจะต้องไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจอาจมีช่องทางในการดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำการดังกล่าวมาลงโทษก็เป็นได้ การที่โจทก์ออกข่าวว่ามีผู้พยายามให้สินบน แต่ไม่ไปแจ้งความย่อมมีเหตุให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ดังเช่นโจทก์ไม่พึงกระทำ ส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่า หากโจทก์ยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จำเลยกับพวกจะแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็เป็นเพียงการเรียกร้องให้โจทก์ดำเนินคดีผู้กระทำความผิด และหากโจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยกับพวกจะแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเท่านั้น ข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงไม่ทำให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ข้อความในคำแถลงการณ์ข้อ ๕ ที่จำเลยกล่าวว่า “ในเรื่องอื่นๆที่คุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนว่า จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทันที โดยปล่อยเวลาให้เวลาเนิ่นนานมาเกือบ ๒ ปี ตั้งแต่คุณหญิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของ คตส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX นั้น การณ์กลับปรากฏว่า ไม่มีการส่งฟ้องใดๆมาจนกระทั่งบัดนี้ ตามสำนวนชาวบ้านคงต้องบอกว่า “ท่าดีทีเหลว” ทำให้เราเข้าใจว่าคุณหญิงได้หลอกลวงโป้ปดมดเท็จต่อสาธารณชน เพื่อสร้างภาพให้คุณหญิงดูดีตอนที่ คมช. แต่งตั้งคุณหญิงให้ดำรงตำแหน่งใน คตส. เท่านั้น ซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการในระดับสูงซึ่งต้องดำรงตนให้สาธารณชนเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเช่นคุณหญิงไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการทำลายเกียรติยศของตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เราจึงขอเรียกร้องให้คุณหญิงได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำครั้งนี้ของคุณหญิงด้วย” นั้น สาระสำคัญของแถลงการณ์ข้อนี้ก็คือ การกล่าวหาว่าโจทก์หลอกลวงโป้ปดมดเท็จต่อสาธารณชน โดยอ้างถึงคำกล่าวของโจทก์ที่ว่า จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ผ่านไปแล้ว ๒ ปี ยังทำไม่ได้ แต่การตรวจสอบทุจริตในฐานะที่โจทก์เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐคนหนึ่ง จำเลยย่อมต้องทราบดีกว่า โจทก์มิได้ดำเนินการเพียงคนเดียว เพราะเป็นการดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ และข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีมติว่ามีการกระทำความผิดจริงและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ตามหนังสือปัจฉิมบท คตส. หมาย จ.๙ หน้า ๖๗ แม้ฟังว่าไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้ตามสื่อดังที่จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ แต่ก่อนจำเลยกล่าวหาโจทก์เช่นนั้น จำเลยควรตรวจสอบก่อนว่าเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนใด การที่จำเลยกล่าวหาโจทก์โดยไม่ตรวจสอบก่อน ย่อมต้องถือว่าการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้เป็นเพียงการที่จำเลยขอให้โจทก์ตอบคำถามที่จำเลยเคยถาม แต่โจทก์ตอบไม่ชัดเจนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนข้อความในแถลงการณ์ข้อ ๒ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า มิได้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น ข้อความในคำแถลงการณ์ข้อ ๒ มีว่า “ในเรื่องที่ดินบริเวณใกล้เคียงกันซึ่งบุตรชายของคุณหญิงเพิ่งซื้อมา ซึ่งไม่มีทางที่บุตรชายของคุณหญิงจะมีเงินมาซื้อที่ดินผืนดังกล่าวได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองได้ คุณหญิงไม่ตอบคำถามนี้เลย เราสงสัยว่านี่คือการซุกที่ดิน เป็นตัวแทนถือทรัพย์แทนคุณหญิงและสามี เพื่อเหตุผลในการปกปิดทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อคณะกรรมการปปช. กราบเรียนคุณหญิงได้กรุณาตอบคำถามนี้ต่อสังคมด้วย” ในข้อนี้แม้ความตอนท้ายเพียงแต่ขอให้โจทก์ตอบคำถาม แต่ความตอนแรกเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าบุตรชายของโจทก์ไม่มีทางที่จะมีเงินมาซื้อที่ดินที่เพิ่งซื้อมา และแม้จำเลยใช้ถ้อยคำต่อมาว่า เพราะเหตุดังกล่าวทำให้จำเลยสงสัยว่า โจทก์ให้บุตรชายถือที่ดินแปลงดังกล่าวแทนโจทก์และสามีโจทก์เพื่อปกปิดทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อคณะกรรมการปปช. แต่ความตอนแรกย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า โจทก์กระทำการดังกล่าวเพื่อปกปิดทรัพย์สิน ซึ่งในเรื่องนี้ตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของโจทก์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๑๑ โจทก์ชี้แจงว่า บุตรชายโจทก์จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ก่อนเกิดเหตุประมาณ ๘ ปี เคยทำงานบริษัทเอกชนและขณะเกิดเหตุคดีนี้บุตรชายโจทก์ทำงานในตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งตามบัญชีค่าตอบแทนแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเอกสารหมายเลข ๒๓ ในแฟ้มเอกสารหมาย จ.๒๐ ปรากฏว่า ตำแหน่งดังกล่าวเงินเดือน ๓๗,๐๐๐ บาท ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ของบุตรชายโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยสามารถตรวจสอบได้ และในแถลงการณ์ขอจำเลยข้อนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าราคาที่ดินแปลงดังกล่าว ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในเรื่องนี้เช่นกัน ในขณะที่โจทก์เบิกความยืนยันว่า บุตรชายโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวในราคา ๔ ล้านบาทเศษ และจำเลยกล่าวในอุทธรณ์ด้วยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคา ๔,๗๐๐,๐๐๐ บาท จึงต้องฟังว่าบุตรชายจำเลยอยู่ในฐานะที่จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ด้วยว่า ผู้เสียหายในเรื่องนี้คือบุตรชายโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายนั้น ข้อความในแถลงการณ์ที่ว่า “...เราสังสัยว่านี่คือการซุกที่ดิน เป็นตัวแทนถือทรัพย์แทนคุณหญิงและสามี...” ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายจากข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้ด้วย การที่จำเลยกล่าวในทำนองว่าโจทก์ปกปิดทรัพย์สินโดยให้บุตรชายมีชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินแทน โดยไม่ได้ตรวจสอบรายได้ของบุตรชายโจทก์ก่อน และไม่มีพยานหลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยเข้าใจเช่นนั้นโดยสุจริต ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาใส่ความโจทก์ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับข้อความในแถลงการณ์ข้อนี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
กล่าวโดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อความในคำแถลงการณ์เอกสารหมาย จ.๒ ข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๕ มีผลให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา มิใช่เพียงข้อ ๒ ข้อเดียวดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า กรณีมีเหตุอันควรลงโทษจำเลยหนักขึ้นและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศ จำเลยในฐานะประชาชนย่อมมีสิทธิตรวจสอบการทำงานของโจทก์ รวมทั้งเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน แต่การตรวจสอบดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คดีนี้จำเลยจัดทำแถลงการณ์ที่มีข้อความเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หลายข้อโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่สามารถกระทำได้ บางเรื่องเป็นการกล่าวหากันลอยๆ จึงเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยหนักขึ้น แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดในคดีที่มีข้อหาเช่นเดียวกันนี้มาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนโดยรอการลงโทษไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย ๑ ปี ๓ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๐ เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี เช่นเดิม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.
นายอธิคม อินทุภูติ
นายวีระศักดิ์ เสรีเศวตรัตน์
นายนิรัตน์ จันทพัฒน์
คดีหมายเลขดำที่ ๓๑๐/๒๕๕๓
คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘๓๕/๒๕๕๔
ศาลอุทธรณ์
14 ก.ค. 2554
ข้าพเจ้าขอรับรองว่าคดีนี้นายนิรัตน์ จันทพัฒน์ ได้ร่วมปรึกษา
และมีความเห็นพ้องกัน ดังได้ลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาแล้ว
แต่เนื่องจากนายนิรัตน์ จันทพัฒน์ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น
ก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาฉบับนี้ จึงได้บันทึกไว้
(นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม)
ประธานศาลอุทธรณ์