xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงจารุวรรณ” แจงละเอียดยิบ ยันใช้งบสัมมนาถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(ภาพจากแฟ้ม)
เผยคำชี้แจง “คุณหญิงจารุวรรณ” ยันไม่ได้ใช้งบสัมมนาไปจัดงานทอดกฐินพระราชทาน ที่ จ.น่าน ย้ำ ผู้ไปทอดกฐินออกค่าเดินทางเอง ส่วนการเปลี่ยนที่จัดสัมมนาจากโรงแรม เป็นหมู่บ้านสันติภาพ เป็นความประสงค์ของ อดีต ส.ว.น่าน ผู้เป็นวิทยากร ช่วยประหยัดงบได้กว่า 5 หมื่นบาท แฉ ผู้สูญเสียประโยชน์ ไปให้การ ป.ป.ช.ในลักษณะตอกฝาโลง

ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติจะดำเนินคดีอาญา คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีจัดงานสัมมนาที่ จ.น่าน วันเดียวกับงานทอดกฐินพระราชทาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โดย ป.ป.ช.อ้างว่า มีการจัดสัมมนาที่หมู่บ้านสันติภาพ ของอดีต ส.ว.น่าน ไม่ตรงกับที่ระบุในโครงการว่า จัดที่โรงแรมซิตี้ ปาร์ค ถือว่าเป็นการใช้เงินไม่ถูกต้องนั้น เรื่องดังกล่าวคุณหญิง จารุวรรณ เคยทำหนังสือชี้แจงถึง ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2554 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้

1017 ถ.ประชาชื่น
เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

25มกราคม 2554

เรื่องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
เรียนประธานอนุกรรมการไต่สวน (ศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ)
อ้างถึงบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของสำนักงาน ป.ป.ช.ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2553

ตามอ้างถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งที่ 403/2552 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ในกรณีกล่าวหาคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพวก ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยกล่าวหาว่า ข้าพเจ้า คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญานั้น

ข้าพเจ้า คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อกล่าวหา โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้

ข้อ 1.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นส่วนราชการที่เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการเงินแผ่นดินตามมาตรา 39(2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 นอกเหนือจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐยังมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย ซึ่งภารกิจสำคัญดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประเพณีมานานกว่าเจ็ดสิบปีแล้วในการนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังพระอารามหลวง อันเป็นการสนองต่อพระราชกรณียกิจตามพระราชศรัทธาในการบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสถาพรสืบไป แม้ข้าพเจ้าจะนับถือศาสนาคริสต์ ข้าพเจ้าก็ตระหนักถึงคำว่ากฐินหลวง

ข้อ 2.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้นำไปทอดถวายยังพระอารามหลวงเป็นประจำทุกปี โดยจากหลักฐานที่ปรากฏครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2477 ในสมัยของหลวงดำริอิศรานุวรรต เป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้นำไปทอดถวาย ณ วัดส้มเกลี้ยง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และได้ถือปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประเพณีมายาวนานถึงกว่าเจ็ดสิบปีแล้ว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะนำผ้าพระกฐินไปทอดถวายยังพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละภูมิภาค และเป็นพระอารามหลวงที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังไม่เคยนำผ้าพระกฐินฯ ไปทอดถวายมาก่อน ตั้งแต่ปี 2536-2545 พระอารามหลวงที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้นำผ้าพระกฐินฯ ไปทอดถวาย มีดังนี้

ปี 2536 วัดกษัตราธิราช อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปี 2537 วัดจันทน์กะพ้อ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ปี 2538 วัดมณีชลขัณฑ์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ปี 2539 วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ปี 2540 วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ปี 2541 วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ปี 2542 วัดเขาบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ปี 2543 วัดวชิราลงกรณวราราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ปี 2544 วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ปี 2545 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เนื่องจากการได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวายเป็นพระมหากรุณาธิคุณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถือเป็นเกียรติยศอย่างสูงที่จะต้องดำเนินการให้สมพระเกียรติ ดังนั้น ด้วยเหตุความสำคัญดังกล่าวสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในภารกิจที่สำคัญ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานขึ้นในแต่ละปี จากผู้บริหารระดับสูง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับพิธีถวายผ้าพระกฐินฯ ให้สำเร็จลุล่วงอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งได้ดำเนินการในภารกิจดังกล่าวด้วยดีตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบให้เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐิน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ยังให้ความสำคัญกับบริวารกฐินทาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของต่างๆ ซึ่งถวายแด่พระภิกษุสามเณรที่จะใช้อุปโภคบริโภค ส่วนที่เหลือนำไปพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังบริจาคทรัพย์ให้แก่โรงเรียนหรือโรงพยาบาลในท้องที่ที่นำผ้าพระกฐินฯ ไปทอดถวายอันเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นทานที่ประกอบกันให้พิธีถวายผ้าพระกฐินนี้ มีมหาอานิสงส์อำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและแท้จริง ด้วยเหตุดังกล่าว พิธีถวายผ้าพระกฐินฯ จึงเป็นบุญประเพณีนิยมมหากุศลของข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ได้ร่วมแสดงความเลื่อมใสศรัทธาที่จะสืบทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ และสนองต่อพระราชกรณียกิจตามพระราชศรัทธาในการบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สมัครใจไปร่วมพิธีไม่ต่ำกว่า 400 คน

การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานบุญประเพณีกฐินพระราชทานนี้ นอกจากจะต้องทำให้ถูกพระธรรมวินัยแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังมีหน้าที่ต้องจัดให้ถูกต้องตามแบบพิธีและสมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอีกด้วย และเมื่อเสร็จพิธีแล้วสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ต้องรายงานการถวายผ้าพระกฐินฯ และยอดเงินโดยเสด็จพระราชกุศลไปยังกรมการศาสนา เพื่อจะได้รวบรวมดำเนินการกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานถวายพระราชกุศล

สำหรับปี 2546 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้นำผ้าพระกฐินฯไปทอดถวาย เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยปี 2546 นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เลือกวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารและวัดพญาภู อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดที่จะถวายผ้าพระกฐินฯ เนื่องจากวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารและวัดพญาภูเป็นพระอารามหลวงที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังไม่เคยนำผ้าพระกฐินฯ ไปถวายมาก่อน ประกอบกับจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) ซึ่งเพิ่งสร้างที่ทำการเสร็จสิ้นและเปิดใช้ทำการเมื่อปี 2545 ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงพิจารณาแล้วเห็นว่าการไปถวายผ้าพระกฐิน ที่จังหวัดน่าน จะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับสำนักงานในพื้นที่ คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 อีกด้วย

ในการดำเนินการเกี่ยวกับการถวายผ้าพระกฐินฯ ประจำปี 2546 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 102/2546 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2546 โดยแต่งตั้งให้ นางสาววิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ เป็นประธานกรรมการ และประกอบด้วยกรรมการอื่นคือ นายคัมภีร์ สมใจ (ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล) นางสาวพีรพร เมธาวิกูล (ผู้อำนวยการตรวจเงินภูมิภาค สำนักงานฯที่ 9) นางสาวนิตยา ชัยเพชร (ผู้อำนวยการสำนักงานการเงินและการคลัง) นางจันทรกานต์ เพชรมะโนสัจจะ (ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานกลาง) นายปราการ งามสันติพงศา (เจ้าหน้าที่บริหารงานพัสดุ 7) และ นางสาวพวงชมนาถ จริยะจินดา (นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8) เป็นกรรมการ และประธานคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐิน ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน รวม 5 คณะ ตามคำสั่งคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2546 ที่ 1/2546 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2546

ข้อ 3.สำหรับเหตุผลที่เลือกหัวข้อการสัมมนา ในหัวข้อ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” นั้น เนื่องมาจากว่า หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธสักราช 2540 มีผลใช้บังคับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 โดยต้องรายงานผลการตรวจสอบและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 47 มาตรา 48 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

ในขณะนั้นภายหลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2542 ต่อวุฒิสภาแล้วซึ่งล่าช้าและไม่ปรากฏผลงาน วุฒิสภาได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 189 ในคราวการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ปรากฏรายละเอียดตามประกาศวุฒิสภา เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมาธิการดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 19 คน มีพันเอก สมคิด ศรีสังคม เป็นประธาน และนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ เป็นเลขานุการ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและนำเสนอรายงานการศึกษาเรื่อง การปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและวุฒิสภาได้พิจารณารายงานในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 สรุปสาระสำคัญของรายงานการพิจารณาศึกษาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ว่า จากรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณล่าสุด 2542 ในขณะนั้นการตรวจสอบทุจริตตรวจสอบได้เพียงสามสิบล้านบาทเศษ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณแปดแสนล้านบาท นับว่าตรวจสอบได้น้อยมากทำให้เห็นถึงการปฏิบัติงานที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นเพราะการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินล่าช้า ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขาดหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน และผลการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพ และมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ เช่น หน่วยรับตรวจที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณแปดหมื่นหน่วย แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีบุคลากรเพียงสองพันคนเศษเท่านั้น จำเป็นต้องนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้เพิ่มการอบรมฝึกฝนบุคลากรเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อป้องกันมิให้เงินแผ่นดินรั่วไหลดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ และได้ส่งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบ (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพิ่งแต่งตั้งได้ในปี 2544 และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพิ่งแต่งตั้งได้ในปี 2545)

สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วิเคราะห์งานแล้ว เห็นว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และฝ่ายบริหารโดยคณะรัฐมนตรี ทั้งยังต้องมีหน้าที่ในการเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และเสนอรายงานระหว่างปีเมื่อสิ้นสุดรายงานการตรวจสอบเฉพาะกรณี ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงมีความประสงค์จะจัดฝึกอบรมข้าราชการเพื่อให้ข้าราชการได้รับทราบความคิดเห็นหรือข้อแนะนำจากองค์กรดังกล่าว รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนา หรือปรับปรุงงานตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะจัดสัมมนาขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

เพื่อให้ข้อแนะนำของวุฒิสภาได้รับการตอบสนอง จึงมีการจัดสัมมนาในส่วนกลางนั้น ในระหว่างวันที่ 21-31 พฤษภาคม 2546 สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร “Modern Auditing” ณ เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในวันสุดท้ายของการฝึกอบรมได้จัดให้มีการสัมมนาและอภิปราย เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยมี สมาชิกวุฒิสภาพันเอกสมคิด ศรีสังคม นายสุพร ศุภสร และ นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี เป็นวิทยากรภาคเช้า และสมาชิกวุฒิสภา นายชัย ชิดชอบ นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ และ นายสมศักดิ์ คูณเงิน เป็นวิทยากรภาคบ่าย ซึ่งผลตอบรับปรากฏว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอย่างมาก ต่อมาข้าพเจ้าได้รับคำหารือจากสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงเห็นว่าควรจัดการสัมมนาต่อเนื่องจากหลักสูตรเดิมจึงกำหนดให้มีการจัดสัมมนาโครงการ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ขึ้นในส่วนภูมิภาค มีกำหนดดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการสำรวจสถานที่ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อความเหมาะสมในการจัดสัมมนาตั้งแต่กลางปี 2546 แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการกำหนดเวลาแน่นอนของการสัมมนาจะมีการพิจารณาและกำหนดวันเวลาที่แน่นอนอีกครั้งเมื่อใกล้ช่วงเวลาดังกล่าว

จากการจัดสัมมนาโครงการ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ณ สโมสรหมู่บ้านสันติภาพ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมี นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน เป็นวิทยากร นั้น เป็นการสัมมนาที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกัน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนั้น การจัดฝึกอบรมและสัมมนาในคราวต่อๆ มา สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้เข้าสัมมนาได้รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน อาทิ โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักบริหารการตรวจเงินแผ่นดินระดับ 8” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 - 25 มกราคม 2551 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้บริหาร สตง.ยุคใหม่” (ระดับ 9) ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2551 ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ข้อ 4.ในส่วนของการจัดทำแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากร ประจำปีงบประมาณ 2547 (ซึ่งต้องวางแผนงานในปี 2546) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีบันทึกขอข้อคิดเห็นและข้อมูลเพื่อจัดทำร่างกรอบแผนการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2547 ตามบันทึกข้อความสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0001/ว 175 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2546 สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการและแผนการเพิ่มศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐให้สามารถบริหารการเงินของแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้โดยมีกิจกรรมที่จะดำเนินการและเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจน ซึ่งในการจัดทำกรอบแผนการปฏิบัติราชการดังกล่าวได้บรรจุการจัดสัมมนาโครงการ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ไว้ในแผนการปฏิบัติราชการด้วย ต่อมาได้มีการสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นและปรับปรุงร่างกรอบการจัดทำแผนการปฏิบัติราชการประจำ ปีงบประมาณ 2547 ในช่วงระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2546 และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 สำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งเวียนให้สำนักงานต่างๆ จัดทำแผนการปฏิบัติราชการฯ ตามแนวทางในการจัดทำแผนการปฏิบัติราชการประจำปี 2547 ที่แนบท้ายคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 117/2546 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2546 และให้จัดทำแผนการปฏิบัติราชการฯ เป็นรายกลุ่ม/จังหวัด และสรุปเป็นภาพรวมของแต่ละสำนักงาน/กลุ่มงาน ส่งสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายในวันที่ 26 กันยายน 2546 รายละเอียดปรากฏตามบันทึกข้อความสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0002/ว 285 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546

เนื่องจากการจัดทำแผนการปฏิบัติราชการดังกล่าว จะต้องมีกิจกรรมและเป้าหมายที่ชัดเจนต้องจัดทำรายละเอียดของโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความจำเป็น ประกอบกับมีการแบ่งงานภายในของกลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็น 2 กลุ่มงาน เมื่อได้นำเสนอข้าพเจ้าในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้ว ข้าพเจ้าได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิทยากรและรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมและให้จัดทำเป็นแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาพรวม อย่าทำเป็น ครั้งๆ (piecemeal) และการอบรมสัมมนาแต่ละระดับ แต่ละครั้งต้องนำสู่การทำงานที่ต่อเนื่อง งานใหญ่ย่อมมีอุปสรรค ข้าพเจ้าได้สั่งการให้จัดทำรายละเอียดแผนเวลา แผนวิทยากรให้ข้าราชการและลูกจ้างทุกคนต้องได้รับการอบรมสัมมนาอย่างน้อง 1 ครั้ง ภายใน 2-3 ปี และให้ชี้แจงเพิ่มเติมประการอื่นๆ ทำให้แผนใหญ่ล่าช้า และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ซึ่งได้อนุมัติไปในวันที่ 7 มกราคม 2547 และสำนักงานผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้รวบรวมและสรุปแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2547 ในภาพรวมของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อทราบในการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินครั้งที่ 13/2547 ณ วันที่ 1 เมษายน 2547

อนึ่ง ในการจัดฝึกอบรมและสัมมนาแต่ละโครงการ สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นรายโครงการ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 ข้อ 6 ดังนั้น หากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอนุมัติให้จัดฝึกอบรมสัมมนาโครงการใดแล้ว สำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลย่อมสามารถดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้แผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาพรวมจะยังมิได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็ตาม ด้วยข้าพเจ้ามีความเห็นว่าในการจัดฝึกอบรมสัมมนาไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ แต่สามารถทำขั้นตอนอื่นก่อนหากไม่ทำให้แผนการแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาพรวมเปลี่ยนไป

ข้อ 5.สำหรับเหตุผลที่ให้มีการจัดการสัมมนาในหัวข้อดังกล่าวที่จังหวัดน่านในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการถวายผ้าพระกฐิน นั้น เนื่องจากคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินฯ ได้พิจารณาร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า การจัดสัมมนานั้นเป็นโครงการที่มีการกำหนดในแผนปฏิบัติงานอยู่แล้วทั้งเนื้อหาหัวข้อการสัมมนายังเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในจังหวัดน่านที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะไปดำเนินการถวายผ้าพระกฐิน นั้น มีสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อศึกษาและสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคุ้นเคยกับการทำหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอย่างดีอยู่ในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว สามารถขอความร่วมมือมาเป็นวิทยากรในการดำเนินการสัมมนาได้ไม่ยาก เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ในหน่วยงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าควรไปดำเนินการถวายผ้าพระกฐินฯ และจัดสัมมนาพร้อมกันที่จังหวัดน่าน โดยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาและผู้เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐิน ออกเดินทางไปพร้อมกัน ซึ่งการร่วมกันเดินทางดังกล่าวเป็นเพียงการเดินทางไปในคราวเดียวกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การถวายผ้าพระกฐิน และการสัมมนาก็ยังคงแยกต่างหากจากกันอย่างชัดเจน โดยมีผู้อำนวยการสำนักการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสัมมนา ส่วน นางสาว วิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐิน รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับพิธีถวายผ้าพระกฐินฯ ทั้งการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ของทางราชการ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่เบิกจ่ายไปสำหรับการจัดการสัมมนาทั้งสิ้น ดังนั้น การดำเนินการสัมมนากับการจัดพิธีถวายผ้าพระกฐิน จึงมิได้เป็นรูปแบบที่เกี่ยวข้องกัน บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งการสัมมนาและการดำเนินการเรื่องกฐินฯ นั้น เป็นบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น การที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาจัดให้มีงานทั้งสองในคราวเดียวกันนั้น เป็นผลดีในแง่ที่ทำให้ใช้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกันได้ นอกจากนี้ ผู้เดินทางไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินฯ ยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง มิใช่กรณีที่มีการเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการแต่อย่างใดอีกด้วย โดยคณะกรรมการดำเนินการถวายผ้าพระกฐินฯ และสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลต่างปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ตนต้องรับผิดชอบ สำหรับการถวายผ้าพระกฐินฯ ประจำปี 2546 นี้ ได้มีกำหนดการในการถวายผ้าพระกฐินฯ ไว้แล้ว ต่อมาสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 ให้ดำเนินการจัดการสัมมนาโครงการ “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” โดยกำหนดสัมมนาในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ระหว่างเวลา 08.30-18.30 น.ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

ข้อ 6.สำหรับพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในแต่ละปี คณะกรรมการถวายผ้าพระกฐินฯ ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสมัครใจร่วมเดินทางไปถวายผ้าพระกฐินฯ เป็นจำนวนหลายร้อยคน โดยผู้ร่วมเดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการไปร่วมพิธีในแต่ละปีมีจำนวนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกลและสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดที่ไปทอดผ้าพระกฐิน

ในส่วนของผู้สมัครใจไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินฯครั้งนี้ สวัสดิการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีบันทึกแจ้งเวียนค่าใช้จ่ายและสอบถามจำนวนผู้ประสงค์จะร่วมเดินทางไปร่วมพิธีประจำปี 2546 โดยกำหนดให้แจ้งความประสงค์ภายในเดือนกรกฎาคม 2546 และต้องชำระเงินให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน 2546 (ให้สามารถผ่อนส่งได้)

สำนักที่รับผิดชอบการฝึกอบรม/สัมมนา ได้เสนอตัววิทยากรและข้าพเจ้าพิจารณาว่า ในขณะนั้น นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอยู่เสมอๆ จึงน่าจะรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึง โดยแผนงานคือ ภาคเช้าเป็นการให้ข้อคิดเห็นของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโดยที่ผู้บริหารระดับสูงจะไม่เข้าร่วมการสัมมนา โดยมีภารกิจในการร่วมพิธีทอดผ้าพระกฐิน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาในระดับล่างได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ต่อมาหลังจากที่ข้าพเจ้าทำพิธีทอดกฐินฯ แล้วเสร็จทั้งสามวัด และเตรียมตัวเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเพื่อลงมาเข้าร่วมสัมมนาที่โรงแรม ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจาก นายคัมภีร์ สมใจ (ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในขณะนั้น) ว่า ได้มีการตกลงกับทางโรงแรมผู้จัดขอย้ายสถานที่การจัดการสัมมนา ซึ่งข้าพเจ้าก็เกิดความสงสัยและคงมีสีหน้าไม่ดี แต่ได้รับคำชี้แจงจากผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลว่า ได้หารือกับทาง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายในขณะนั้น) แล้ว เห็นว่า กระทำได้ ข้าพเจ้าจึงมิได้โต้ตอบเพราะต้องการให้เป็นการตัดสินใจของคณะทำงานมากกว่าจะเป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้รับทราบในภายหลังว่า ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้จ่ายค่าสถานที่ให้กับทางโรงแรมบางส่วน เช่น ค่าดอกไม้ และทางโรงแรม ก็ไม่ติดใจ

ข้อ 7.โดยสรุปสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความประสงค์ที่จะจัดโครงการสัมมนาดังกล่าว ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค ในช่วงบ่ายของวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ดำเนินการติดต่อขอจองใช้ห้องของโรงแรมซิตี้ปาร์คและโรงแรมได้ออกใบสั่งงานแล้ว ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนสถานที่จัดสัมมนาจากโรงแรมซิตี้ปาร์คมาเป็นสโมสรหมู่บ้านสันติภาพนั้น เนื่องจากเป็นความประสงค์และเป็นการแสดงน้ำใจของนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในวันดังกล่าว ที่เสนอขอให้เปลี่ยนสถานที่สัมมนาไปจัดยังสโมสรหมู่บ้านสันติภาพของนายสันติภาพเอง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้บริหารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสถานที่ดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายในการสัมมนา ทั้งการดำเนินการจัดการสัมมนาที่สโมสรหมู่บ้านสันติภาพดังกล่าวยังเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศในการสัมมนาให้น่าสนใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการให้เกียรติต่อนายสันติภาพ ซึ่งมีสถานะทางสังคมในขณะนั้นเป็นถึงสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่านอีกด้วย ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ดังกล่าว คือ ยังเป็นการทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในการจัดสัมมนาให้กับทางโรงแรมซิตี้ปาร์คอีกด้วย โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาให้กับทางราชการไปได้ถึงกว่าห้าหมื่นบาท อนึ่ง ผลดีอีกประการหนึ่งของการย้ายสถานที่ก็คือ ทำให้มีระยะเวลาในการสัมมนาในเนื้อหายาวนานขึ้นกว่าการจัดที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค และที่สำคัญยังทำให้ข้าราชการผู้ไปร่วมถวายผ้าพระกฐิน มีโอกาสได้ร่วมฟังการสัมมนาอันเป็นการเพิ่มพูนความรู้ขึ้นอีกด้วย

ข้อ 8.ส่วนที่คณะอนุกรรมการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปแบบการสัมมนาว่า การจัดสัมมนาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ดี การจัดสถานที่บรรยายไม่เหมาะสมทำให้ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร รวมทั้งไม่มีการสรุปผลการสัมมนาเพื่อนำข้อสรุปไปพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ให้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการสัมมนา ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา นั้น ในประเด็นดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า

8.1 ในเรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ในหัวข้อเรื่อง “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” นั้น

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า วัตถุประสงค์ดังกล่าวมีระบุอยู่ในเอกสารโครงการสัมมนา โดยมีหลักการและเหตุผลมาจาก บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 และหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีภารกิจในการตรวจสอบการรับจ่ายเงินของแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องทำรายงานผลการปฏิบัติงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปีเมื่อสิ้นสุดงานตรวจสอบ ความเห็นและมุมมองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและบุคลากรในองค์กรควรจะต้องรับทราบ หัวข้อการจัดสัมมนาเรื่อง “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” จึงเป็นหัวข้อสัมมนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการสัมมนาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต้องการคือ การทำให้บุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบและเข้าใจมุมมองของสมาชิกวุฒิสภา และในขณะเดียวกันก็ทำให้สมาชิกวุฒิสภาทราบถึงวิธีการรวมทั้งอุปสรรคในการทำงานของบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปพร้อมๆ กัน

8.2 ในประเด็นที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การจัดสถานที่บรรยายไม่เหมาะสมกับการสัมมนาทำให้ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร รวมถึงไม่มีการสรุปผลการสัมมนาซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ นั้น

ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าขอเรียนชี้แจงว่า ประเด็นของความเหมาะสมของสถานที่ สโมสรหมู่บ้านสันติภาพมีลักษณะที่เหมาะสมต่อการจัดสัมมนา โดยเป็นอาคารชั้นเดียวหลังคาเป็นดาดฟ้า เวทีสัมมนาจัดตั้งอยู่บนดาดฟ้าของอาคารซึ่งสามารถรองรับผู้เข้าสัมมนาได้กว่าร้อยคน ส่วนที่เหลือจัดโต๊ะเข้าร่วมการสัมมนาบริเวณรอบอาคารสโมสร และมีการติตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างโดยรอบ รวมถึงการติดตั้งเครื่องเสียง ลำโพงกระจายเสียง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาและบุคคลภายนอกรวมถึงผู้ไปร่วมถวายผ้าพระกฐินฯ ได้ร่วมฟังการสัมมนาด้วย โดยเริ่มการสัมมนาเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา และปิดการสัมมนาเวลาประมาณ 22.00 นาฬิกา ภายหลังจากการฟังคำบรรยายของนายสันติภาพแล้ว ได้จัดให้ผู้เข้าสัมมนารับประทานอาหารเย็นควบคู่ไปกับการแสดงความคิดเห็นของประธานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยการสัมมนาในลักษณะนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิด ทัศนคติ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการสัมมนาในลักษณะนี้หาได้มีการกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดไว้แน่นอนแต่อย่างใด การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีการจัดที่นั่งที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าสัมมนา และระหว่างผู้เข้าสัมมนาด้วยกันได้สะดวก รวมทั้งมีบรรยากาศของการยอมรับในความแตกต่างทางความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการสนับสนุนให้มีการแสดงออก และมีความเป็นกันเอง จึงเห็นว่า อาคารสโมสรหมู่บ้านสันติภาพนั้นมีความเหมาะสมในการจัดสัมมนาในลักษณะนี้ ดังนั้น ประเด็นการจัดสถานที่สัมมนาไม่เหมาะสมตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ไม่เป็นเหตุอันจะถือได้ว่ามิได้มีการจัดสัมมนาจริงแต่อย่างใด

ส่วนในประเด็นเรื่องสรุปผลของการสัมมนานั้น ข้าพเจ้าขอเรียนชี้แจงว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมสมองเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องระดมสมองเพื่อหาข้อยุติ ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงจึงเป็นไปเพื่อให้ทราบมุมมองและความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายขององค์กรที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกัน กรณีจึงแตกต่างจากการสัมมนาในเรื่องอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แตกต่างไป เมื่อการสัมมนาครั้งนี้มิได้จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่ประสงค์จะให้ข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีประสบการณ์รู้จักและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และประธานตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินบางท่าน ซึ่งก็ถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปของการสัมมนาเพื่อนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด ประกอบกับระเบียบของทางราชการไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีสรุปผลของการสัมมนาไว้เป็นขั้นตอนที่บังคับให้ต้องดำเนินการ ดังนั้น การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้จัดทำสรุปผลการสัมมนาตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน จึงไม่มีผลทำให้การสัมมนาเสียไปหรือไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ แต่อย่างใด

8.3 ประเด็นที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีลักษณะเป็นการอำพราง ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากต้องจ่ายเงินงบประมาณ 294,440 บาท นั้น

ข้าพเจ้าขอเรียนชี้แจงว่า โครงการสัมมนาดังกล่าวได้เสนอไว้ตั้งแต่การจัดทำกรอบแผนการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2547 แล้ว เนื่องจากเป็นการจัดสัมมนาต่อเนื่องจากการสัมมนาปีงบประมาณ 2546 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า โครงการสัมมนานี้มีการกำหนดให้มีขึ้นแล้วก่อนดำเนินการเรื่องกฐินพระราชทาน หาได้มีการจัดทำเป็นการเฉพาะหน้าเพื่อต้องการเบิกเงินของทางราชการไปใช้จ่ายในเรื่องการถวายผ้ากฐินฯ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางแต่อย่างใดไม่ การดำเนินการในเรื่องการจัดสัมมนามีการจัดทำโครงการ รวมตลอดถึงหลักฐานของทางราชการที่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเอกสารการเบิกจ่ายเป็นเท็จหรือมีลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเบิกเงินของทางราชการเป็นลายมือชื่อปลอมแล้ว กรณีย่อมต้องถือว่าการเบิกจ่ายดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแล้ว และต้องถือว่ามีการจัดทำและดำเนินการสัมมนาตามโครงการดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการ “อำพราง”

ส่วนเงินจำนวน 294,440 บาท ที่คณะอนุกรรมการไต่สวนอ้างว่าเป็นจำนวนความเสียหายที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับนั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายไปในทางราชการเพื่อการสัมมนาของบุคลากรในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อมีการเบิกจ่ายโดยถูกต้องตามหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่าข้าพเจ้าหรือบุคลากรใดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับผลประโยชน์จากเงินจำนวนดังกล่าว กรณีย่อมต้องถือว่าเงินจำนวน 294,440 บาท นั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ใช้จ่ายไปโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแล้ว ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าการเบิกจ่ายดังกล่าว จะทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับความเสียหายตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน

ข้อ 9.ข้าพเจ้าขอแสดงความบริสุทธิ์ใจและยืนยันว่า ทั้งหมดไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดคิดการชั่วร้าย หรือไม่สุจริตแต่อย่างใด และไม่มีผู้ใดได้รับผลประโยชน์ทั้งโดยตรงหรือแอบแฝงทั้งสิ้น ข้าพเจ้าในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้มีการอนุญาตตามข้อมูลที่ได้รับการเสนอมาประกอบการพิจารณาในขณะนั้นโดยมั่นใจจากเกียรติประวัติการปฏิบัติราชการของรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้อำนวยการสำนักงานทุกท่าน ไม่เคยปรากฏเรื่องของการมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น การบริหารจัดการในระดับผู้ปฏิบัติงานจึงเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีระเบียบวิธีการจัดทำ คำของบประมาณและแผนพัฒนาศักยภาพบุคคลากรเป็นลำดับขั้นตอน มีการขอข้อคิดเห็นและข้อมูลเพื่อจัดทำร่างกรอบแผนปฏิบัติราชการล่วงหน้าสำหรับปีงบประมาณถัดไป ซึ่งรวมทั้งแผนปฏิบัติราชการด้านการพัฒนาบุคคลากรด้วย

ข้าพเจ้ามีแนวคิดเสมอมาว่าการได้พบเห็นหรือประสบการณ์คือพลังขับเคลื่อนองค์การ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีแผนเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้สามารถบริหารงานในความรับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้น คุ้มค่าต่อเวลา และเงินค่าจ้างของหลวงมากยิ่งขึ้น งานในฐานะผู้ตรวจสอบต้องใช้คนที่มีความคิดกว้างไกลและต้องมีการฝึกอบรม สัมมนาซึ่งตามหลักการเรียนรู้ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่ขอบเขตจำกัด ซึ่งในระยะปีถัดจากการจัดสัมมนาก็พบว่า ความคิดเห็น บุคลิกภาพ การปฏิบัติตนของข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจวัดเป็นตัวเลขได้

อนึ่ง สำนักอบรมและพัฒนาข้าราชการมีการทำแผนการฝึกอบรม สัมมนาประจำปีด้วยกิจกรรมเป้าหมาย และระยะเวลาในขณะนั้นประมาณเดือนสิงหาคม 2546 ข้าพเจ้าได้มีข้อสังเกตว่าให้ทำเป็นแผนรวม อย่าทำเป็น piece-meal และการอบรมสัมมนาแต่ละระดับ แต่ละครั้งต้องนำสู่การทำงานที่ต่อเนื่องได้ งานใหญ่ย่อมมีอุปสรรคเท่าที่จำได้ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้จัดทำรายละเอียดแผนเวลา แผนวิทยากรให้ข้าราชการและลูกจ้างทุกคนต้องได้รับการอบรมสัมมนาอย่างน้อย 1 ครั้งภายใน 2-3 ปี และให้ชี้แจงเพิ่มเติมประการอื่นๆ ด้วยทำให้แผนใหญ่ล่าช้า ข้าพเจ้าในฐานะผู้บริหารได้อนุมัติงานอบรมกรอบเล็กที่เกี่ยวกับภาพพจน์ในสายตาสมาชิกวุฒิสภา แม้จะยังไม่ได้อนุมัติในกรอบใหญ่เพราะได้ติดตามตลอดและเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องทำตาม 1, 2, 3........ แต่อาจทำขั้นอื่นก่อนหากไม่ทำให้แผนใหญ่ถูกลิดรอน ซึ่งคือหลักในการบริหารของข้าพเจ้า

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีระบบการรับฟังข้อคิดเห็นจากบุคคลภายใน (สำนักและกองภายใน) และยังมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากบุคคลภายนอกโดยมีนโยบายว่าในการฝึกอบรม – สัมมนาทุกระดับ หากทำได้ให้เชิญบุคคลภายนอกที่สังคมให้รับการยอมรับมาพูดด้วย เพื่อให้เขารู้จักเราและเรารู้จักเขา เราเคยเชิญแม้ดารา พิธีกร พูดเรื่องบุคลิกภาพ John Howard, ท่านสมณะจันทร์, ชินกร ไกรลาส, พูดเรื่องคุณธรรม ด้านวิชาการก็มี เช่น ท่านกล้านรงค์ จันทิก, ท่านสัก กอแสงเรือง, ท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นต้น

ต่อกรณีที่ถูกกล่าวหา ข้าพเจ้าไม่คิดว่าคณะผู้ดำเนินงานกระทำการไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ในการบริหารงานนอกสถานที่ต่อคนหมู่มากจึงทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนเวลาบ้าง การเลือกไปจังหวัดน่านก็ด้วยต้องการเห็นจังหวัดที่เคยได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดคอมมิวนิสต์แต่ก่อน มีธรรมชาติ วัดเก่าแก่ ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินควรได้พบเห็น ข้าพเจ้าคาดว่าผู้เสนอคงไม่ทราบว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น (ดร.สุวัตร โชควัฒนสกุล) มีข้อขัดข้องกับนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา เมื่อไปแล้วก็อยากทำประโยชน์ได้เต็มที่ จึงจัดสรรเงินกฐินที่ได้ให้วัดหลวง และวัดอื่น รวม 3 วัด และยังให้โรงเรียน โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่ง (เป็นแนวความคิดข้าพเจ้าเองว่า ควรดูแลโรงพยาบาลและโรงเรียนที่สายตรวจสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปตรวจพบว่ามีความขาดแคลนอาหารและยา) ในจังหวัดที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปทอดกฐินหลวง และได้ดำรงนโยบายนี้จนปัจจุบัน ส่วนผู้รับมอบให้ไปอบรมสัมมนาก็ประสงค์จะได้ข้อคิดเห็นเพื่อนำกลับไปปรับปรุงแผนงานมิได้เป็นการวางแผนอุบายหรือการอำพราง แต่เมื่อมีการบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปตามแผนบ้าง ก็เป็นเรื่องของคนหมู่มาก ที่ระดับผู้อำนวยการไม่สามารถควบคุมได้เต็ม 100 ตามแผนงาน ในขณะที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินยังประกอบพิธีในพระอุโบสถ

อนึ่ง ตามที่ได้ทราบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจพบกรณีศูนย์ขวัญน่าน ซึ่งรับผิดชอบโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ดร.สุวัตร โชควัฒนสกุล เรื่องได้เคยผ่านมติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นและได้ส่งมาที่ สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการต่อแล้วแต่ไม่ทราบผลสุดท้าย ในวันที่ประกอบพิธีกฐินพระราชทานก็ยังประหลาดใจว่าเหตุใด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ไปรับองค์กฐินหลวงซึ่งน่าจะถือเป็นบุญกุศลของจังหวัด แต่ก็ไม่ทราบเหตุผล และท่านอดีตผู้ว่าท่านนี้ยังได้ฟ้องร้องข้าราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลอาญาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง

นอกจากนี้ จากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฏเห็นอย่างชัดเจนว่า มีผู้ไม่พอใจต่อการทำงานอย่างซื่อสัตย์ของข้าพเจ้าหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่พอใจที่ถูกตรวจสอบ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่พอใจในเรื่องตำแหน่งงานตามที่ตนต้องการ หรือกลุ่มเพื่อนร่วมงานในระดับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ข้าพเจ้าไม่อาจตอบสนองการขอร้องของบุคคลเหล่านี้ได้ในบางเรื่อง กลุ่มบุคคลที่กล่าวมานี้ บางท่านได้ไปกล่าวให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า ได้มาให้การในข้อกล่าวหานี้ต่อสำนักงาน ปปช.ในลักษณะที่เรียกว่า “ตอกฝาโลง” ข้าพเจ้าแล้ว

ข้าพเจ้าขอแสดงความสุจริตใจในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าจะพบกับปัญหาอุปสรรคมากมายที่จะยืนให้ตรงและอย่างเข้มแข็งเพื่อให้องค์กรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่เคยมีความคิดในการทุจริตเรื่องใดๆ จึงเชื่อมั่นในการปฏิบัติความดีและทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจิตว่าพระจะดูแลรักษาตลอดไป

ขอแสดงความนับถือ

(คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา)
กำลังโหลดความคิดเห็น