xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดองคดี “โกงสุวรรณภูมิ” เร่งเชือด“คุณหญิงเป็ด” คำถามถึงมาตรฐาน ป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 จะดำเนินคดีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่า สตง.ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีอนุมัติให้จัดสัมมนา “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา”ที่ จ.น่าน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ซึ่ง ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยว่าเป็นการจัดงานสัมมนาอำพรางเพื่อนำบุคลากร สตง.ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ที่ จ.น่านในวันเดียวกัน

กรณีนี้ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 และมีข้อสรุปว่า เดิมโครงการสัมมนาดังกล่าวมีกำหนดจัดวันที่ 31 ต.ค.2546 ณ โรงแรมซิตี้ปาร์ค จ.น่าน ประมาณการค่าใช้จ่ายรวม 479,980 บาท แต่เมื่อจัดจริง ผู้เข้าสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของ สตง.ได้ไปร่วมงานทอดกฐินพระราชทานก่อน หลังจากนั้นจึงเดินทางไปร่วมงานสัมมนาที่สโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 จ.น่าน ซึ่งการจัดเวทีมิได้มีข้อความระบุว่ามีการสัมมนา แต่มีข้อความต้อนรับคุณหญิงจารุวรรณและคณะ มีการจัดโต๊ะกลมแบบโต๊ะจีนหันหน้าเข้าหากัน ในการลงทะเบียนสัมมนาระบุสถานที่ว่า โรงแรมซิตี้ปาร์ค ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่มีการแจกเอกสารในการสัมมนา หรือการกำหนดกลุ่มให้ระดมความคิดเห็นแต่ประการใด นอกจากนี้ยังไม่มีการสรุปผลการสัมมนาในครั้งนี้เป็นเอกสารแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ คุณหญิงจารุวรรณได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 แล้วว่า การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ของทางราชการ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่เบิกจ่ายไปสำหรับการจัดการสัมมนาทั้งสิ้น ส่วนผู้เดินทางไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินฯ ยังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง มิใช่กรณีที่มีการเบิกค่าใช้จ่ายจากทางราชการแต่อย่างใด

ส่วนการย้ายสถานที่จัดงานนั้น เป็นความประสงค์และเป็นการแสดงน้ำใจของนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่านซึ่งเป็นวิทยากรในวันดังกล่าว ซึ่งนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในขณะนั้นได้หารือกับนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายในขณะนั้นแล้วเห็นว่ากระทำได้ และผู้บริหารของ สตง.ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสถานที่ดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย และยังเป็นการประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายให้โรงแรมซิตี้ปาร์คถึงกว่าห้าหมื่นบาท

ในประเด็นที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การจัดสถานที่บรรยายไม่เหมาะสมกับการสัมมนานั้น คณหญิงจารุวรรณชี้แจงว่า การสัมมนาในลักษณะนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิด ทัศนคติ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงมิได้มีการกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดไว้แน่นอนแต่อย่างใด นอกจากนี้ การสัมมนามีวัตถุประสงค์ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องระดมสมองเพื่อหาข้อยุติ แต่ประสงค์จะให้ข้าราชการและลูกจ้างของ สตง.ได้รู้จักและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และประธานตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินบางท่าน ซึ่งก็ถือว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปของการสัมมนาเพื่อนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด ประกอบกับระเบียบของทางราชการไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีสรุปผลของการสัมมนาไว้เป็นขั้นตอนที่บังคับให้ต้องดำเนินการ

ประเด็นที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีลักษณะเป็นการอำพรางนั้น โครงการสัมมนาดังกล่าวได้เสนอไว้ตั้งแต่การจัดทำกรอบแผนการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2547 แล้ว เป็นการจัดสัมมนาต่อเนื่องจากการสัมมนาปีงบประมาณ 2546 เป็นโครงการที่กำหนดให้มีขึ้นก่อนดำเนินการเรื่องกฐินพระราชทาน หาได้มีการจัดทำเป็นการเฉพาะหน้าเพื่อต้องการเบิกเงินของทางราชการไปใช้จ่ายในเรื่องการถวายผ้ากฐินฯ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางแต่อย่างใดไม่

ส่วนเงินจำนวน 294,440 บาท ที่คณะอนุกรรมการไต่สวนอ้างว่าเป็นจำนวนความเสียหายนั้น เป็นจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายไปในทางราชการเพื่อการสัมมนาของบุคลากรใน สตง. มีการเบิกจ่ายโดยถูกต้องตามหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่าคุณหญิงจารุวรรณหรือบุคลากรใดของ สตง.ได้รับผลประโยชน์จากเงินจำนวนดังกล่าว กรณีย่อมต้องถือว่าการเบิกจ่ายเงินจำนวน 294,440 บาทนั้นไม่ทำให้ สตง.ได้รับความเสียหาย

คำชี้แจงของคุณหญิงจารุวรรณดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ ป.ป.ช.ก็มีมติที่จะเอาผิกคุณหญิงจารุวรรณ จะด้วยสาเหตุใดนั้น คำชี้แจงช่วงท้ายของคุณหญิงจารุวรรณ ที่ว่า “จากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฏเห็นอย่างชัดเจนว่า มีผู้ไม่พอใจต่อการทำงานอย่างซื่อสัตย์ของข้าพเจ้าหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่พอใจที่ถูกตรวจสอบ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่พอใจในเรื่องตำแหน่งงานตามที่ตนต้องการ หรือกลุ่มเพื่อนร่วมงานในระดับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ข้าพเจ้าไม่อาจตอบสนองการขอร้องของบุคคลเหล่านี้ได้ในบางเรื่อง กลุ่มบุคคลที่กล่าวมานี้ บางท่านได้ไปกล่าวให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า ได้มาให้การในข้อกล่าวหานี้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ในลักษณะที่เรียกว่า ตอกฝาโลงข้าพเจ้าแล้ว” น่าจะเป็นคำตอบ

ประเด็นที่น่าสนใจคือนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนนั้น มีข้อครหาว่ามีความใกล้ชิดกับคนใน “ระบอบทักษิณ”ที่เคยถูกคุณหญิงจารุวรรณตรวจสอบอย่างหนักมาก่อน

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงการตรวจสอบทุจริตในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่นายภักดีเป็นผู้รับผิดชอบอยู่นั้น กลับมีความล่าช้า ทั้งที่มีการยื่นร้องเรียนตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเป็นคดีการทุจริตที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศ

หากจะพิจารณาจากจำนวนเรื่องร้องเรียนคดีทุจริตที่มีการส่งให้ ป.ป.ช.ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 หมื่นเรื่องแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ ป.ป.ช.จะต้องลำดับความสำคัญก่อนหลังให้ดี เพื่อสกัดกั้นการทุจริตไม่ให้ขยายวงออกไปและบรรเทาความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด

แต่กรณีที่มีการเร่งรัดคดีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่มีการใช้จ่ายเงินไม่ถึง 3 แสนบาทและพฤติการณ์ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการทุจริตอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกลับพิจารณาคดีทุจริตในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างล่าช้า ทั้งที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาลและมีพฤติกรรมทุจริตจนเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก ก็ย่อมจะทำให้เกิดคำถามต่อมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น