“ศปภ.” อ้างแก้ปัญหาน้ำยาก เหตุผู้ประสบภัยไม่อพยพ เผยเตรียมศูนย์รองรับล้านคน มาแค่แสน ปัดตั้งรับ “อ.จุฬา-สภาทนาย” เล็งฟ้องต้นเหตุทำประเทศพัง ยันคลายเดือดร้อน ปชช.ภาระยิ่งใหญ่
พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ โฆษก ศปภ.เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า ตอนนี้จุดที่น่าสนใจคือแนวกระสอบทรายขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแบ็ก ที่ดอนเมือง ตนขอชี้แจงเพื่อให้ทราบข้อมูลตรงกันทุกฝ่ายว่า เมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) ตนได้รับคำสั่งจาก ศปภ.ในกรอบการทำงานของกองทัพไทย และผู้เกี่ยวข้อง ให้เข้าดำเนินการวางแนวซ่อมแซมบิ๊กแบ๊กที่เสียหาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในการจัดการซ่อมแนวที่เสียหายความยาวประมาณ 5 เมตร ให้เป็นลักษณะฝายน้ำลด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสัญจรไปมาด้วยเรือ ซึ่งในจุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ในการสัญจร นอกจากนี้ประชาชนส่วนรวมจะได้ประโยชน์จากการชะลอน้ำ โดยประชาชนให้ความร่วมมือที่ดีกับหน่วยงานที่ปฏิบัติงาน เชื่อว่าจะสามารถไปได้ด้วยดี
“นับจากนี้จนถึงอนาคตสิ่งที่ทำไปจะเป็นผลสำเร็จ ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มขึ้น เช่นในเรื่องอาหารการกิน จะเป็นหน้าทีของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงน้ำเน่าเสีย ขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตก ที่จะส่งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าดูแล” พล.อ.พลางกูรกล่าว
ส่วนกรณีประชาชนอีกกลุ่มที่อยู่ใกล้แนวบิ๊กแบ็กเริ่มมีการรวมตัวกันนั้น พล.อ.พลางกูรชี้แจงว่านี่เป็นจุดหนึ่งที่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกันในส่วนของผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าผู้นำท้องถิ่น หรือนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงผู้ว่าฯกทม.เท่าที่ตนได้รับรายงาน อยู่ในขั้นตอนพูดคุยกันอยู่ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ประชาชนจะรวมตัวกัน ตนเชื่อว่ายังเคลียร์ปัญหากันเท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนของประชาชนย่านถนนวิภาวดีรังสิตขาออก ตอนนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยอยู่เช่นกัน คงเป็นสิ่งที่ประชาชนอัดอั้นตันใจ ต้องการใครสักคนมารับฟัง รวมถึงความต่อเนื่องของการช่วยเหลือ โดยในส่วนของกองทัพเองก็ส่งชุดเสนารักษ์ย่อยๆลงไปดูแล คิดว่าหากได้รับความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานก็จะไปถึงการฟื้นฟู จากคณะกรรมต่างเยียวยาต่างๆที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมว่าตรงไหนน้ำยังสูง และประชาชนยังทุกข์ร้อนมาก
นอกจากนี้โฆษก ศปภ.ยังกล่าวถึง กรณีที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจุฬาฯ และสภาทนายความจะดำเนินการฟ้อง ศปภ. ว่าเป็นต้นเหตุให้ประเทศเสียหายว่า ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้ ตนขอเรียนว่าความเห็นที่แตกต่าง หรืออะไรที่เกิดในอนาคตก็แล้วแต่ ตนเชื่อว่าทุกคนที่มีภาระหน้าที่ ตั้งแต่พลทหารจนถึงนายกฯ ทุกคนทุ่มเทในการแก้ปัญหา แต่ความเห็นต่างก็ต้องว่ากันตามประบวนการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องให้ประชาชนคลายความเดือดร้อน และมีเงินติดกระเป๋า ตรงนี้เป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน
พล.อ.พลางกูรกล่าวกว่า สื่อมวลชนบ้านเรามากมายมหาศาล แต่ความถูกต้องกับความรวดเร็วไม่สามารถไปด้วยกันได้ ถ้าจะเอาความถูกต้องก็ต้องใช้เวลา ถ้าจะเอาความเร็วก็ได้ข้อมูลที่ไม่แน่ชัด ตนเชื่อว่าสื่อมวลชนมีเจตนาดีในการสื่อสารที่จะให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมตรงไหนบ้าง แต่บางครั้งความคลาดเคลื่อนก็ยังมี ซึ่งหากบูรณาการทำความเข้าใจร่วมกัน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่กับประชาชนในพื้นที่จะมองในจุดที่เป็นปัญหาแตกต่างกัน
เมื่อถามว่า จุดที่เปิดแนวบิ๊กแบ็กความยาว 10 เมตรนั้น ส่งผลให้พื้นที่ความเกิดเสียหายจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น พล.อ.พลางกูรกล่าวชี้แจงว่า เท่าที่ตนสอบถามผู้เกี่ยวข้องที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า การเปิดครั้งนี้จะไม่มีความเสียหายในภาพรวม และลดความกดดันลงไปมาก เพราะจะเกิดความสมดุลทางด้านจิตใจ ซึ่งทุกคนอาจจะรับข้อมูลคลาดเคลื่อนว่าน้ำจะท่วมไปถึงไหนต่อไหน ตนยืนยันว่าเรื่องจบลงแล้ว โดยถ้าติดตามระดับน้ำในแต่ละพื้นที่จะเห็นว่าการสูบน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเตรียมงานเป็นขั้นตอน ขณะยังไม่หนักหนาถึงขั้นต้องประกาศอะไรเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม พล.อ.พลางกูรประเมินการทำงานของ ศปภ.ว่า ตอนนี้เป็นลักษณะบูรณาการ ไม่มีความสับสน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงต่างๆ และกองทัพ ตนอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ ยืนยันว่างานทุกอย่างสอดรับกันเป็นอย่างดี ยอมรับว่ามีบางข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่ออกไป ในช่วงแรกทุกฝ่ายทำงาน 24 ชั่วโมงเหมือนกันหมด สื่อก็ต้องการข้อมูลที่รวดเร็ว คอลเซ็นเตอร์ก็มีส่วนสำคัญจนถึงวันนี้รวมแล้วเป็นล้านกว่าสาย แต่ก็มีโทรเข้ามาก่อกวนไม่น้อย แต่ทุกคนยังทำงานได้ด้วยดีไม่มีเกี่ยงงอน โดยทุกอย่างเป็นไปในภาวะวิกฤติ และปัญหาอยู่ที่ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยห่วงบ้าน เมื่อเราเตรียมศูนย์อพยพที่สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 1 ล้านคน แต่มีผู้เข้ามาอยู่ประมาณ 1 แสนคนเศษ หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การช่วยเหลือจึงยากขึ้น ต่อให้ใครมาเป็นผู้ปัญหาก็ต้องชาวบ้านว่า แต่ทุกคนก็พยายาม
“เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง 16 อำเภอ เมื่อประกาศให้มีการอพยพ ก็มีประชาชนน้อยมากที่อพยพ นี่คือตัวอย่าง ซึ่งเมื่อเทียบกับภาพรวมจะเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ยาก คือเรื่องที่ประชาชนไม่ยอมอพยพ”