xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” แถลงยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศ-“โกร่ง” ลั่น ลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม กันน้ำท่วมชั่วกัลปาวสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบประชาชนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากแหลงเรื่องแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้(8พ.ย.)
“ยิ่งลักษณ์” ควง “ดร.โกร่ง” แถลงยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศ 3 ระยะ อ้างพร้อมดูแลประชาชน จะพยายามอย่างดีที่สุดให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า แจง ไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ กทม.เข้าร่วมกรรมการ ให้รอประสานเนื้องานภายหลัง ด้านอดีตที่ปรึกษา “แม้ว” โอ่ สร้างอนาคตใหม่ให้ประเทศ ปีหน้าฝนตก ต้องไม่เกิดเรื่องอย่างนี้อีก พร้อมขออีก 5-6 ปี โครงการสำเร็จ เหตุการณ์ไม่ซ้ำรอยชั่วกัลปาวสาน ลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 8 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลัง และอดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) แถลงถึงมาตรการเชิงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ถือเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยได้เจอ มีพายุต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างขวางมาก รัฐบาลก็ได้บูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งเบื้องต้น รัฐบาลก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ที่เป็นการยกระดับการบูรณาการทุกส่วนงานเข้าด้วยกัน และถือว่าเป็นวาระที่ทุกฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งบางพื้นที่ยังประสบภัยภาวะน้ำท่วม อาทิ ในส่วนของมวลน้ำต่างๆที่เริ่มคลืบคลานเข้ามาในบางส่วนของ กทม.แต่แน่นอนว่าน้ำต่างๆ นั้นถือว่าเป็นมหาอุทกภัย ไม่สามารถหยุดยั้งได้ทั้งหมด และมีลักษณะธรรมชาติของน้ำที่จะระบายจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะป้องกันให้กระทบกระเทือนกับความเสียหายน้อยที่สุด และให้ไหลไปตามธรรมชาติ จากคลอง สู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการควบคู่ไปกับการเข้าใจธรรมชาติของน้ำ

นายกฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนล่างก็เริ่มน้ำแห้งลงแล้ว ก็ต้องเข้าไปสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชน ในการที่จะทำอย่างไรให้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว และสร้างความมั่งคั่งกลับคืนให้ประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร รัฐบาลจึงมีมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ของการฟื้นฟูประเทศ เราได้มีการแบ่งเรื่องยุทธศาสตร์เป็น 3 ระยะ คือ 1.การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน หรือการกู้ภัย (Rescue) ซึ่ง ศปภ.เป็นผู้รับภาระกิจในส่วนนี้ โดยมี พล.ต.อ.ประชา เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมไปถึงศูนย์ในการรับบริจาคและส่งมอบสิ่งของร่วมกับกลไกของกระทรวงมหาดไทย การดูแลรักษาพยาบาล การดูแลความเป็นอยู่ในสถานที่พักพิ่งชั่วคราวในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนจนกว่าน้ำจะลด ซึ่งอยู่ในระยะประมาณ 2-3 เดือน 2.ระยะกลาง หรือระยะสั้น หลังจากน้ำลดหรือหลังเริ่มน้ำลด ที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูและเยียวยา หรือเรียกว่าการซ่อม (Restore) ให้ทุกอย่างกลับคืนมาสู่ปกติโดยเร็ว ซึ่งจะรวมไปถึงระบบต่างๆให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิมอีกครั้ง รวมไปถึงการเยียวยา การให้เงินช่วยเหลือ เงินกู้หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งในส่วนของภาคบุคคล ภาคธุรกิจรายย่อยต่างๆ รวมไปถึงการดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า 3.ระยะยาว คือ จะทำอย่างไรให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจธรรมชาติของน้ำและเข้าใจภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นและรวมไปถึงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ซึ่งวันนี้มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการจะต้องเข้าใจตรงนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคั่งของประเทศกลับคืนมา (Rebuild) และที่สำคัญคือ บทเรียนที่เราได้รับจะต้องอยู่ในชุดการเรียนรู้ของคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดฝันร้ายเช่นนี้กับประเทศไทยอีก รัฐบาลจึงมีคณะกรรมการเข้ามาทำงานทั้งหมด 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่จะทำงานคู่กับ 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ในส่วนของระยะสั้นก็จะเห็นว่าเป็นของ ศปภ. ในส่วนของระยะสั้น 1 ปีก็จะเป็นหน้าที่ของ 1.คณะกรรมการฟื้นฟูแลเยียวยา ซึ่งได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เขามาดูแลพร้อมๆกับการดูแลบูรณะโครงสร้างฟื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และชุดที่ 2.ก็จะดูเรื่องการเยียวยา ดูแลภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม ส่วนชุดที่ 3.จะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหลังน้ำลด ไม่เฉพาะทรัพยสิน แต่ต้องดูแลเรื่องสภาพจิตใจ ให้ทุกคนกลับมามีพลังใจและพลังกายในการต่อสู้กับชีวิต รวมทั้งในส่วนของการสนับสนุนอื่นๆ ตั้งแต่การดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจและศูนย์ปฏิบัติการณ์ทุกกระทรวง รวมทั้งกองทัพและสื่สารมวลชนต่างๆ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนระยะกลาง ที่จะทำงานควบคู่กับ ศปภ.โดยเฉพาะจังหวัดที่น้ำเริ่มลด ศปภ.จะส่งงานต่อให้กับคณะกรรมการชุดที่2.ของนายยงยุทธ เข้าไปทำงานและประสานผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย ที่ถือว่าเป็นกลไกที่จะสามารถทำงานทุกอย่างควบคู่กันไปได้ในทุกพื้นที่และทุกจังหวัด ในส่วนระยะยาว ที่จะมี กยอ.เป็นผู้ดูแลนั้นก็จะมองภาพรวมประเทศทั้งหมด ตั้งแต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจว่าจะต้องเติบโตไปอย่างไรในทิศทางข้างหน้า และวางยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมหรือคนต่างๆ ว่าจะต้องจัดการวางระบบอย่างไรและไปในทิศทางไหน สุดท้ายระบบทางกายภาพก็จะมีการประสานงานในการวางแผน การทำความเข้าใจสภาวะภูมิประเทศ ผังเมือง โครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ และการวางแนวทางปฏิบัติการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งทั้ง 4 กรอบทั้งหมดนี้ก็จะทำให้รู้ว่าประเทศไทยจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร จากนั้นก็จะรู้ว่าจะหาเงินอย่างไรและจะใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญคือจะต้องกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับคืนมาให้เร็วที่สุด ชุดนี้ก็จะต้องทำงานร่วมกับแผนแม่บทที่จะดำเนินการโดย กยน.ที่จะดูแลเกี่ยวกับการวางระบบน้ำทั้งหมด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ กยอ. นั้นได้รับเกียรติจาก นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีต รมว.คลัง เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมี นายยงยุทธ และ นายกิตติรัตน์ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งจะทำคำแนะนำและข้อเสนอแนะในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาวให้รัฐบาล โดยสามารถว่าจ้างที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อวางยุทธศาสตร์ประเทศให้ครอบคลุมตามหลักการทั้ง 4 หลังข้างต้น ส่วน กยน.นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามาทำงานควบคู่กับ กยอ.เพราะเรื่องของน้ำนั้นถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบอย่างไร ซึ่งก็ได้เรียนเชิญ นายสุเมธ ตันติเวชกุล มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดนี้ด้วย ซึ่งในส่วนของประธานกรรมการนั้น นายกรัฐมนตรี มีชื่อเป็นประธานคณะกรรมการ แต่ก็จะมอบหมายให้นายกิติรัตน์ มาเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ โดยได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ที่เป็นที่ยอมรับของคนไทย รวมไปถึงผู้มีประสบการณ์เรื่องผังเมือง ชลประทาน น้ำและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการพยากรณ์ต่างๆ เข้ามาทำงานควบคู่ไปกับการเชิญที่ปรึกษาต่างประเทศ มาพิจารณาร่วมกัน รวมทั้งเชิญภาคเอกชน ภาควิชาการ ในการถกแถลงที่จะหารือร่วมกันในทิศทางที่ถูกต้องและหาแนวทางบริหารจัดการน้ำประเทศไทยอย่างถาวร

นายกฯ กล่าวอีกว่า ซึ่งทั้งหมดเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูหลังน้ำลด และการป้องกันปัญหาต่างๆที่เราได้ทราบมาในวันนี้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย และรัฐบาลจะพยายามดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อให้ประเทศไทยเดินก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน คู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเราไม่สามารถนิ่งเฉยได้ และต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเชิญผู้มีความรู้ มีประสบการณ์มาร่วมกันคิด มาร่วมกันแก้ เพื่อจะได้เห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า ในทิศทางที่ชัดเจน รัฐบาลสัญญาว่าจะเร่งดำเนินการเรียกความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประเทศกลับคืนมา และที่สำคัญคือเราจะสร้างประเทศไทยไปด้วยกัน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราจะมารวมพลังกันเพื่อสร้างประเทศไทย ให้ก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้

ด้าน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้เป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุด เมื่อปี 2485 ที่เกิดขึ้นยังน้อยกว่านี้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เกินวิสัยที่ใครจะทำอะไรได้ อย่างมากก็ทำได้แค่บรรเทาให้เบาบางลง ซึ่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนนั้นมีมากมายมหาศาล จึงเป็นเรื่องเร่งดวนที่รัฐบาลต้องกอบกู้สถานการณ์และเยียวยาไม่ใช่เฉพาะประชาชนเป็นจำนวนมากที่เดือดร้อน และพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศที่เจอน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เป็นแรงผลิตทั้งภายในประเทศและส่งออก ซึ่งตนได้ยินและเกิดความเศร้าใจว่า เมื่อน้ำท่วมที่ จ.ปทุมธานี ทำให้บริษัท โตโยต้า และ ฮอนด้า ต้องหยุดผลิตทั่วโลก เพราะฉะนั้นแหล่งผลิตที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นของโลกด้วย ซึ่งเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำ และคณะกรรมการที่ตนได้รับมอบหมายนี้จะเชื่อมต่อจากคณะกรรมการเยียวยา และ สร้างอนาคตใหม่ สร้างความมั่นใจ ความสามารถในการแข่งขัน โดยลำดับแรก ต้องร่วมมือกันกับคณะกรรมการชุด นายยงยุทธ และ นายกิตติรัตน์ คือ ให้ความมั่นใจว่าปีหน้าถ้าฝนตกจะต้องไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น ต้องทำให้ได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศ

ดร.วีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ถ้าสามารถทำได้จุดเป้าหมาย คือ หลังจากนี้ สามารถทำให้บริษัทประกันภัยทั่วโลกรับประกันอุทกภัย ให้กับโรงงานต่างๆในเขตน้ำท่วมได้ ก็จะถือว่าเราประสบความสำเร็จ ระยะหนึ่งแล้ว ตนคงต้องเดินทางไปคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นและที่อื่นๆ ว่าเป้าหมายเราเป็นแบบนี้ทุกปีแต่จะไปถึงไหนต้องช่วยกันให้ถึงฝั่ง และตนคงต้องประสานกับคณะกรรมการระบบบริหารจัดการน้ำ กยน.พร้อมทั้งคณะกรรมการ กยอ.จะต้องไปทางด้านวิศวกรรม

“ต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก และ 5-6 ปี ต้องมีโครงการที่สำเร็จเรียบร้อย โดยจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ชั่วกัลปาวสาน จะลงทุนเท่าไหร่ก็ต้องทำต้องยอม เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสมาก แต่หลักคือ การลงทุนต้องใช้เม็ดเงินมากมาย ต้องให้ได้ประโยชน์สูงสุด และต้องถือหลัก โปร่งใสและสามารถอธิบายได้ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน วินัยทางการคลังต้องรักษา ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากมาก แต่ที่ตนต้องรับเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติ” ดร.วีรพงษ์ กล่าว

ดร.วีรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับระยะกอบกู้สถานการณ์กำลังทำอยู่ ต่อไปคือการเยียวยาประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศ เพื่อให้ความมั่นใจว่าปีหน้าหากฝนตก ก็จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก และในระยะยาวต้องสร้างระบบของประเทศ อาจจะต้องคิดกันใหม่ ว่า เราจะฝืนธรรมชาติ หรือ จะปล่อยตามธรรมชาติ แต่ตนคิดว่าเราต้องไปตามธรรมชาติ พื้นดินที่น้ำไม่ท่วมเรายังมีมากมายในประเทศไทย โดยไม่ต้องสร้างอะไร ทั้งเกี่ยวกับเรื่องการให้ข้อมูลให้ความรู้ ส่วนด้านนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ต้องช่วยเขากอบกู้สถานการณ์ แต่ในระยะยาว เขาอาจจะคิดย้ายที่ ไปจังหวัดอื่นก็แล้วแต่ แต่ว่าในปีแรก ต้องช่วยกันทุ่มสร้าง ทุกฝั่งเมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าต้องทำอะไรในเรื่องป้องกันในปีหน้า และเรื่องป้องกันระยะยาว ก็เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องไปหาเงิน มาใช้ปาดหนี้ และต้องไม่เสียวินัยการคลังด้วยต้องดูในกรอบของวินัยการคลัง นี่คือสิ่งที่นายกฯได้มอบให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการให้บริษัทประกันภัยต่างประเทศ กลับมาเชื่อมั่นและรับประกันบริษัทในไทยได้ แต่หลักการต้องใช้เวลา 5 ปี แล้วใน 1 ปี จะทำอย่างไรให้เขากลับมาเชื่อมั่นให้ได้ ดร.วีรพงษ์ กล่าวว่า คิดว่า 1 ปีนั้นทำได้สำหรับบริษัทที่มีอยู่แล้วในเรื่องไมโคร การที่จะให้ความมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง น้ำท่วม 1 ปี ต้องปลอดภัยอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ว่าเรื่องทั้งประเทศทั้งภูมิภาคต้องใช้เวลานาน อันนี้เป็นเป้าหมายก็ต้องทำให้ได้

ด้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ในส่วนของของนิคมถ้าระยะสั้นใน 1 ปีอย่างน้อยที่สุดที่เราต้องกลับมาสร้างความมั่นใจก็คือว่าในแนวต่างๆ เราคงต้องสำรวจร่วมกัน ให้แนวคันรับน้ำต่างๆ นั้น ต้องอยู่ในมาตรฐาน ต้องมีเรื่องของระบบสูบน้ำ เพราะวันนี้สิ่งที่เราทำเรากั้นด้วยพนังกั้นหิน ดังนั้นไม่สามารถกั้นมวลน้ำขนาดใหญ่ได้ อนาคตในส่วนของ 1 ปี เราต้องดูในส่วนนี้ด้วย ตั้งแต่แนวทางเท่าที่ทำได้ เราจะไม่บอกว่ารอความหวังข้างหน้า แต่ในจุดยืนด้วยโครงสร้างนั้นเราจะทำในข้อจำกัดที่มีอยู่ แต่เราจะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการทำอย่างไรในการปกป้องนิคมที่มีความแข็งแรงและมีระบบการระบายน้ำให้แข็งแรง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะทำในระยะสั้น

เมื่อถามว่า ในขณะที่นายกฯ กำลังสร้างความมั่นใจในเรื่องของการกอบกู้ตรงนี้ ในขณะเดียวกันนิคมบางชันกำลังแย่ จะสร้างความอุ่นใจตรงนี้ได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าถ้าเราจะพูดเรื่องการป้องกันเราอาจจะพูดไม่ได้ทั้ง หมด เพราะวันนี้ธรรมชาติของน้ำส่วนหนึ่งที่เราคุยกันถ้ามวลน้ำต่อพายุ 1 ครั้ง แล้วเรามีระบบการจัดเก็บน้ำไว้เพียงพอเราเชื่อมั่น แต่วันนี้เราเจอพายุ 3-4 ครั้งประมาณ 4-5 ลูก เต็มที่พร้อมๆ กัน จนเขื่อนกั้นน้ำนั้นเต็ม ก็เป็นส่วนหนึ่งของน้ำที่ทะลักลงมา ในส่วนของนิคมนั้นเราก็มีการป้องกันอย่างเต็มที่ ก็เรียนว่าเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ถามว่าร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ก็ไม่มีใครตอบได้กับธรรมชาติของน้ำแต่สิ่งที่เราตอบได้คือเราจะทำหน้าที่ปก ป้องนิคมนี้อย่างดีที่สุด แล้ววันนี้เราได้มีการสั่งการมานานแล้ว เพราะเรารู้เราเข้าใจ เราได้มอบหมายทางกองทัพเข้าไปดูแล ถ้าถามเมื่อวานก่อนที่ส่งคนไปสำรวจนิคม ส่วนนิคมเองก็มีแผนป้องกันพอสมควรก็คิดว่าบางส่วนเราก็ต้องทำงานควบคู่กันไป และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายให้เต็มที่

เมื่อถามว่า การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ ทำไมถึงไม่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมในคณะกรรมการด้วย ทั้งที่ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในส่วนของ กทม.ในเรื่องการประสานการบริหารจัดการมาโดยตลอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรียนว่าเบื้องต้นเราใช้วิธีเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ จะสังเกตเห็นว่าในคณะกรรมการชุดนี้เราก็ไม่มีคณะรัฐมนตรี เราต้องการให้ผู้ที่รับผิดชอบประจำนั้น ดูแลในส่วนของการกู้และฟื้นฟูภายใน 1 ปีให้เต็มที่ เพราะชุดนี้เป็นชุดระยะยาว แต่เมื่อชุดนี้ทำงานก็ต้องกลับมาประสานงานกับ กทม.อยู่แล้ว เพราะระบบต่างๆก็มีปัจจัยที่เราต้องไปเข้าใจโครงสร้างภาพรวม ชุดนี้จะทำหน้าที่ในการร่างแม่แบบของโครงร่าง ร่างเสร็จแล้วจะต้องกลับไปทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกส่วน ดังนั้น จะไม่ใช้เพียงแต่ว่าของผู้ว่าฯ กทม.แต่จะเป็นทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่จะต้องทำงานร่วมกัน

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต ประเทศ (กยอ.) โดยเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 8 พ.ย.54 โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อที่ 3 กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 15 คน ดังนี้ 1.นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานกรรมการ 2.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองประธานกรรมการ ทั้งนี้ กรรมการประกอบด้วย 4.นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง 5.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ 6.นายกิจจา ผลภาษี 7.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ 8.นายวิษณุ เครืองาม 9.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 10.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 11.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 12.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 13.ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย 14.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 15.เลขาธิการคณะ รัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการในคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ตามที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง ดังนี้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ขณะที่คณะกรรมการประกอบด้วย นายกิจจา ผลภาษี นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล นายนิพัทธ พุกกะณะสุต นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายรอยล จิตรดอน นายรัชทิน ศยามานนท์ นายศรีสุข จัทรางศุ นายสนิท อักษรแก้ว นายสมบัติ อยู่เมือง นายสมิทธ ธรรมโรช นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ นายเสรี ศุภราทิตย์ ร่วมเป็นกรรมการ

กำลังโหลดความคิดเห็น