ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การดิ้นรนเฮือกสุดท้ายในการเรียกคืนศรัทธาและเชื่อมั่นด้วยการตั้งทีมฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศใหม่ของ “รัฐบาลนอมินีแม้ว” โดยใช้คนเครือข่ายทักษิณเป็นแกนนำหลักมีนักวิชาการเป็นไม้ประดับยังเป็นที่น่ากังขาว่าจะสามารถนำพาประเทศชาติรอดพ้นหรือหลงทางเพราะผลประโยชน์แอบแฝง
การเสียคะแนนนิยมจน “รัฐบาลนอมินีแม้ว” ที่โต้วิกฤตน้ำท่วมกระทั่งใกล้จะล่มจมบาดาลไปพร้อมกันนั้น ทำให้นายกรัฐมนตรีตัวจริงจากดูไบที่ชื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เร่งระดมสมองและระดมสรรพกำลังหาทางฝ่าวิกฤต กระทั่งนำมาสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 พร้อมกับการแถลงยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทยใหม่ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
สำหรับยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศและสร้างอนาคตประเทศใหม่นั้น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนหรือการกู้ภัย (Rescue) ซึ่ง ศปภ. เป็นผู้รับภารกิจนี้ โดยมี พล.ต.อ.ประชา เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมไปถึงศูนย์ในการรับบริจาคและส่งมอบสิ่งของร่วมกับกลไกของกระทรวงมหาดไทย การดูแลรักษาพยาบาล การดูแลความเป็นอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวในช่วงน้ำท่วมจนกว่าน้ำจะลด ซึ่งอยู่ในระยะประมาณ 2-3 เดือน
2.ระยะกลาง หรือระยะสั้น หลังจากน้ำลดหรือหลังเริ่มน้ำลด จะเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูและเยียวยา หรือเรียกว่าการซ่อม (Restore) ให้ทุกอย่างกลับคืนมาสู่ปกติโดยเร็ว ซึ่งจะรวมไปถึงระบบต่างๆให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิมอีกครั้ง รวมทั้งการเยียวยา การให้เงินช่วยเหลือ เงินกู้หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งในส่วนของภาคบุคคล ภาคธุรกิจรายย่อยต่างๆ รวมไปถึงการดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาใช้งานได้
3.ระยะยาว คือ การทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจธรรมชาติของน้ำและเข้าใจภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไป เพื่อวางแผนระยะยาวสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคั่งของประเทศกลับคืนมา (Rebuild)
ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้น รัฐบาลจึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และ 2.คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
โฉมหน้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต ประเทศ (กยอ.) ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อที่ 3 กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2554กำหนดให้มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 15 คน ดังนี้
1.นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานกรรมการ 2.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองประธานกรรมการ 4.นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รมว.คลัง 5.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ 6.นายกิจจา ผลภาษี 7.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ 8.นายวิษณุ เครืองาม 9.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 10.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 11.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 12.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 13.ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย 14.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ และ 15.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ตามที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้ง มีทั้งหมด 22 คน ดังนี้ 1.นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา 2.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ 3.นายกิจจา ผลภาษี 4.นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล 5.นายนิพัทธ พุกกะณะสุต 6.นายปราโมทย์ ไม้กลัด 7.นายปลอดประสพ สุรัสวดี 8.นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา 9.นายรอยล จิตรดอน 10.นายรัชทิน ศยามานนท์
11.นายศรีสุข จัทรางศุ 12.นายสนิท อักษรแก้ว 13.นายสมบัติ อยู่เมือง 14.นายสมิทธ ธรรมโรช 15.นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 16.เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 17.อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 18.เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 19.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 20.นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล 21.นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ 22.นายเสรี ศุภราทิตย์ ร่วมเป็นกรรมการ
หากดูรายชื่อคณะกรรมการ กยอ. ล้วนแล้วแต่อยู่ในเครือข่าย “ทักษิณคอนเนกชั่น” แทบทั้งสิ้น นับแต่ วีรพงษ์ รามางกูร อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุดของพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตรัฐมนตรีคลัง ซึ่ง ทักษิณ ทาบทามให้มานั่งประธาน กยอ.
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลทักษิณ นิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาฯครม.และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร คนสนิทของทักษิณ รวมทั้ง ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ผู้ซึ่งมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ก่อนพลาดหวังต้องรอคิวในการปรับครม.ครั้งหน้า
ขณะที่ ยงยุทธ - กิติรัตน์ - ธีระชัย ก็นั่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนกรรมการจากเอกชนมาจาก 3 สถาบันเศรษฐกิจหลัก คือ หอค้า-สภาอุตฯ-สมาคมธนาคารฯ โดยมีหน่วยราชการขาประจำ คือ สภาพัฒน์ และเลขาฯครม. ที่ร่วมเป็นกรรมการในเกือบทุกคณะกรรมการรวมอยู่ด้วย
เมื่อพิจารณาถึงที่มาและที่ไปของคณะกรรมการ กยอ. ซึ่งเป็นชุดที่วางกรอบใหญ่ในการพัฒนาประเทศหลังวิกฤตน้ำท่วม ฟันธงได้เลยว่า ทิศทางในอนาคตของประเทศไทยจะไม่แตกต่างไปจากการพัฒนาประเทศในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งได้รับการสืบสานต่อโดยรัฐบาลนอมินีขณะนี้ โดยเน้นหนักโครงการลงทุนเมกะโปรเจก อุ้มชูนักลงทุนต่างชาติ เน้นการเติบโตตัวเลขเศรษฐกิจนำหน้าความผาสุขของสังคม ไม่เคารพและไม่ฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ข้อสังเกตเรื่องนี้สะท้อนชัดจากรายชื่อคณะกรรมการ กยอ. ซึ่งไม่มีผู้แทนจากภาคประชาชนแม้แต่รายเดียว มีแต่นักการเมือง นักธุรกิจและข้าราชการเท่านั้น ขณะที่ชุมชน สังคม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสกลับไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะร่วมกำหนดอนาคตของประเทศแม้แต่น้อย หากรูปการณ์เป็นเช่นนี้ น่ากังขาว่า กยอ.จะเป็นคณะเผด็จการทางความคิดในการกำหนดชะตาอนาคตของประเทศไทยโดยลำพังหรือไม่
ประเด็นสำคัญอีกเรื่อง ก็คือ การฟื้นฟูประเทศครั้งนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล หากอ้างอิงตัวเลขที่รมว.กระทรวงการคลัง เคยปูดออกมาหยั่งเสียงช่วงให้ข่าว “นิว ไทยแลนด์” ว่าจะต้องใช้เม็ดเงินถึง 9 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ นิพัทธ พุกกะณะสุต กำลังร่วมชงเรื่องกับกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ออกพ.ร.ก.กู้เงินมหาศาลหลายแสนล้าน
นิพัทธ มีแนวคิดว่า เพื่อลงทุนครั้งใหญ่ครั้งเดียวในการพลิกฟื้นประเทศครั้งใหม่เหมือนยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะหากรองบประมาณประจำปีจะล่าช้า กลายเป็นเบี้ยหัวแตก หากการผลักดันของนิพัทธ ผ่านการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและครม. คนไทยก็เตรียมเป็นหนี้ท่วมหัวเพิ่มขึ้นโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
นอกจากนั้น ยังต้องจับตาคณะกรรมการ กยอ.ภายใต้ “ทักษิณคอนเนกชั่น” ซึ่งเป็นทีมกุนซือที่มีแนวคิดพัฒนาประเทศสะท้อนผ่านผลงานอัปยศว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ ดังตัวอย่างเช่นกรณีเปลี่ยนผังเมืองโซนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำให้เป็นเขตที่อยู่อาศัยและพานิชยกรรม อุตสาหกรรม ในยุครัฐบาลทักษิณรองรับนครสุวรรณภูมิ กระทั่งส่งผลให้มีการผันน้ำลงฝั่งตะวันตกแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลผ่านโซนตะวันออกเหมือนที่เคยดำเนินการซึ่งสอดคล้องตามสภาพธรรมชาติของพื้นที่และสภาพการไหลของน้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องพรรคพวกที่มีโครงการจัดสรร มีแลนด์แบงก์ในมือนับพันๆ ไร่ ไม่ให้จมน้ำ
น่าสนใจว่า ดรีมทีมฟื้นฟูชาติที่มีแนวโน้มเผด็จการทางความคิดเพราะเคาะมาจากนายใหญ่แห่งดูไบ กำเม็ดเงินมหาศาลเอาไว้ในมือ จะนำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤตได้หรือไม่ เพราะการฟื้นฟูพัฒนาประเทศแบบเริ่มก้าวแรกก็(แกล้ง)หลงทาง ขาดการมีส่วนร่วม พัฒนาแบบสั่งจากบนลงล่าง เอาเงินเป็นตั้ง มีผลประโยชน์แอบแฝง สุดท้ายก็จะกลายเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสวาปามกันมันหยด
ส่วนคณะกรรมการ กยน. ที่มีนักการเมือง ทีมนักวิชาการ อดีตข้าราชการ และหน่วยราชการขาประจำ แถมด้วย “บิ๊กเนม” อย่างดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หรือ ปราโมทย์ ไม้กลัด ร่วมเป็นไม้ประดับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า สุดท้ายข้อเสนอจาก กยน. จะเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง เหมือนดังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ซ้ำซาก ดังที่เป็นมาชั่วกัลปาวสานหรือไม่