รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็แย่ -ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)ก็ห่วย สภาผู้แทนราษฏรก็เป็นที่พึ่งไม่ได้
สภาผู้แทนราษฏรยุค พรรคเพื่อไทย ครองที่นั่งส.ส.มากที่สุด ซึ่งจะว่าไปแม้จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้บ้างแต่ก็ไม่ได้มาก
อย่างตัวอาคารรัฐสภาบริเวณถนนอู่ทองใน น้ำก็ยังไม่ท่วม การจราจรโดยรอบแม้จะมีปัญหาบ้างหากมาจากฝั่งธนบุรีที่ต้องผ่านย่านบางพลัด-จรัญสนิทวงศ์และสะพานกรุงธนบุรี แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีเส้นทางอื่นอีกมากในการเดินไปรัฐสภา
แทนที่จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อให้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาพูดคุยอภิปรายแลกเปลี่ยนปัญหาและข้อเสนอแนะจากฝ่ายนิติบัญญัติไปยังฝ่ายบริหาร
รวมถึงอย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้คนไทยทั้งประเทศและชาวต่างชาติได้เห็นว่าประเทศไทย ระบบและกลไกต่างๆ ยังทำงานได้ปกติ ฝ่ายบริหารก็ทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมไป ฝ่ายนิติบัญญัติก็ทำงานในหน้าที่ของตัวเองไปให้สมกับที่ส.ส.หนึ่งคนกินเงินเดือนที่เป็นเงินภาษีประชาชนเดือนละแสนกว่าบาท
แต่ในระหว่างวิกฤตน้ำท่วมเมืองหลวง กลไกสภาผู้แทนฯไม่ยอมเดินเครื่องเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง สภาผู้แทนฯกลับปล่อยให้ส.ส.นอนอยู่บ้าน ไม่ได้ทำงาน ด้วยการงดประชุมสภาฯเป็นเวลา4 สัปดาห์ติดต่อกันอย่างที่เกิดขึ้น
2 สัปดาห์แรกที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคเพื่อไทย สั่งงดประชุม ผู้คนยังพอเข้าใจได้ ว่าประเทศกำลังอยู่ในสภาพช็อคกับมวลน้ำจำนวนมากที่ถล่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การงดประชุมสภาฯไปเพื่อให้ฝ่ายบริหารทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนรวมถึงพวกส.ส.โดยเฉพาะส.ส.กรุงเทพมหานคร -นนทบุรี-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-ลพบุรี-ชัยนาท เป็นต้น ไม่ต้องเสียสมาธิกับงานสภาฯให้อยู่พื้นที่ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนให้เต็มที่
พักงานสภาฯไว้ก่อน อย่างไรเสีย ประชาชนก็สำคัญที่สุด
แม้จะมีบางเสียงแย้งว่าไม่เห็นด้วย โดยยกเหตุผลว่าเช่น ส.ส.ที่จังหวัดตัวเองน้ำท่วม ก็ให้ลงไปดูแลประชาชนไปไม่ต้องห่วงงานสภาฯ แต่อีกหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศ ที่น้ำไม่ท่วม ที่เป็นส.ส.ส่วนใหญ่ของสภาฯ ต่างพร้อมที่จะทำงาน ก็น่าจะเปิดประชุมสภาฯไปได้
อีกทั้งหากมีการประชุมสภาฯก็จะเป็นการดีเพราะเปิดโอกาสให้ส.ส.ในจังหวัดที่น้ำท่วมได้มาสะท้อนปัญหาในพื้นที่ให้นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีและสังคมได้รับรู้
ส.ส.จะได้นำข้อมูลมาบอกกล่าวให้สภาฯทราบว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความทุกข์ยากอย่างไร การช่วยเหลือจากภาครัฐไปถึงหรือไม่ ขาดแคลนอะไร
หรือเปิดเวทีให้ส.ส.ในพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมอาทิกรุงเทพมหานครมีความคิดเห็นในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร อยากฝากอะไรศปภ.และนายกรัฐมนตรี และอภิปรายบอกเล่าสถานการณ์ในพื้นที่อาทิ ประตูระบายน้ำในพื้นที่มีการรับและระบายน้ำเป็นอย่างไร ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ถ้าได้ไปอภิปรายพูดคุยกันระหว่างฝายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในที่ประชุมสภาฯ จะเป็นการดีที่ทำให้ฝ่ายบริหารได้รับรู้ข้อมูลโดยตรงและเร็ว เพราะขนาดส.ส.รัฐบาลเอง บางทีจะนำปัญหาข้อมูลไปให้นายกรัฐมนตรีหรือศปภ.รับทราบ ก็พบว่าเป็นไปด้วยความล่าช้า บางทีไม่ค่อยได้รับความสนใจถ้าส.ส.คนนั้นไม่มีบารมีมากพอ ยิ่งหากเป็นส.ส.ฝ่ายค้านด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาลตามขั้นตอนทางราชการปกติ
การเปิดประชุมสภาฯ จึงเป็นหนทางที่ควรจะทำเพื่อให้สภาฯเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการร่วมกันคลี่คลายวิกฤตของชาติ
เพราะปัจจุบันสภาฯก็ค้างการพิจารณาญัตติเรื่องน้ำท่วมซึ่งที่ประชุมส.ส.ได้หารือค้างกันมาหลายสัปดาห์แล้ว มาตอนนี้เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น การอภิปรายกันในห้องประชุมสภาฯ เพื่อหาทางช่วยกันแม้จะไม่ได้ผลมากในทางปฏิบัติ แต่ก็ควรให้กลไกนี้ถูกเปิดให้ทำหน้าที่
“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”เห็นว่า เป็นความผิดพลาดอย่างมากที่ สมศักดิ์-ประธานสภาฯ งดประชุมสภาฯร่วมเดือน โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ 2-3 พฤศจิกายน 2554
อย่างที่บอกแล้วว่า 2 สัปดาห์แรกที่งดประชุมไป คนยังพอเข้าใจได้ แต่การที่ไม่ประชุมสภาฯเลย 3-4 สัปดาห์ติดต่อกัน แถมก่อนหน้าการตัดสินใจงดประชุมสภาฯไม่กี่ชั่วโมงของสมศักดิ์เมื่อ 1 พ.ย. 2554 ตัว “ขุนค้อน”ก็ยังมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่สุดท้ายก็มีคำสั่งงดประชุม
ยิ่งก่อนหน้านั้นแค่วันเดียวคือ 31 ตุลาคม ฝ่ายสภาฯหลายคนเช่น วัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคเพื่อไทย ก็ยืนกรานว่าต้องประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่จะมีการพิจารณางบฉุกเฉินช่วยเหลือน้ำท่วมด้วย ก็จะได้เป็นการเปิดโอกาสให้ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงฝ่ายรัฐบาลได้ใช้เวทีอภิปรายงบ 55 คุยเรื่องน้ำท่วมไปเลย
แต่แล้วรุ่งขึ้นวันเดียว ประธานสภาฯ ก็ตัดสินใจ งดประชุมสภาฯ แล้วใช้วิธีการ จะให้มีการประชุมสภาฯ 4 วันรวด คือ 9-12 พ.ย.นี้เพื่อพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 และตามด้วยวาระค้างการพิจารณาตามลำดับ เพื่อลดกระแสการถูกโจมตีว่าสภาฯไม่ยอมทำงาน
และคงหวังว่าการให้สภาฯประชุมมาราธอน4 วันติดต่อกันจะเป็นการปิดปากฝ่ายค้านที่หาว่าสมศักดิ์ไปรับใบสั่งจากทักษิณ ชินวัตร ที่ให้งดประชุมสภาฯ หลายสัปดาห์ติดต่อกัน
ทั้งมีรายงานข่าวว่า ทักษิณประเมินว่า หากมีการประชุมสภาฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงการอภิปรายพรบ.งบประมาณฯ ปี 55 นายกฯยิ่งลักษณ์น้องสาวตัวเองจะถูกฝ่ายค้านอภิปรายอย่างหนักในเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครและสถานที่สำคัญอื่นๆ เช่นนิคมอุตสาหกรรมที่จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯทางโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน
จึงต้องการเลื่อนประชุมสภาออกไปก่อน เพื่อตั้งรับทางการเมือง และรอให้สถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้นเพราะทักษิณและแกนนำรัฐบาลเชื่อว่าหลัง 6 พ.ย.ไปแล้ว ระดับน้ำในหลายพื้นที่จะเริ่มลดลง รวมถึงกรุงเทพมหานครที่ระดับน้ำน่าจะนิ่งแล้วในหลายเขต
การอภิปรายเรื่องปัญหาน้ำท่วมในสภาฯ จึงน่าจะทำให้รัฐบาลพอมีอะไรไปชี้แจงในที่ประชุมสภาฯได้บ้าง และทำให้รัฐบาลมีโอกาสตั้งหลักมากขึ้น
การเลื่อนประชุมสภาฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 2-3 พ.ย.54 จึงเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
เมื่อการเมืองสั่งมา ประธานสภาฯมีหรือ จะกล้าขัด
ขืนแข็งขืน ทำหูตึง ถูกทักษิณ ชินวัตร สั่งให้ลูกหาบในพรรคก่อหวอด ไล่สมศักดิ์ออกจากเก้าอี้ ต่อให้ตำแหน่งนี้ใครก็ปลดไม่ได้ แต่หากการเมืองในพรรคไม่เอา ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
สมศักดิ์ก็เลย งดประชุมสภาฯเสียเลย
มาถึงตรงนี้ ก็ไม่มีอะไรแปลกใจว่า ทำไมทักษิณถึงล็อคชื่อสมศักดิ์มาเป็นประธานสภาฯ ตั้งแต่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง เพราะหากประธานสภาฯ สั่งไม่ได้ ยื่นโนติสอะไรแล้วไม่ทำตาม แค่ขอให้งดประชุมสภาฯหรือสั่งให้หยิบระเบียบวาระอะไรมาพิจารณาก่อนหรือหลังไม่ได้ แล้วเรื่องสำคัญกว่านั้นจะไว้ใจได้อย่างไร
บททดสอบ “ขุนค้อนพร้อมเซอร์วิส”กับ “นายใหญ่”และแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รอบนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า
เมื่อ “นายใหญ่”ขอมา มีหรือ “ขุนค้อนเซอร์วิส”จะกล้าปฏิเสธ
แม้สมศักดิ์จะพยายามอ้างเหตุผลหลายอย่างมาอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องงดประชุมสภาฯหลายสัปดาห์ติดต่อกัน แต่ดูแล้วความสมเหตุสมผลไม่น่าจะมีมากพอ ยิ่งหากจะบอกว่าต้องงดประชุมสภาเนื่องจากเป็นห่วงว่าเปิดประชุมไปแล้ว องค์ประชุมจะไม่ครบเพราะรัฐมนตรี-ส.ส.รัฐบาลติดงานช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนน้ำท่วม ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น
เพราะอะไร ก็เพราะ คนที่จะทำให้สภาไม่ล่ม ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็น “ฝ่ายค้าน”ซึ่งตอนนี้ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ ประชาธิปัตย์ ต้องการให้มีการเปิดประชุมสภาฯ และเรียกร้องทั้งในนามพรรคและส.ส.รายบุคคลเพื่อขอให้มีการเปิดประชุมสภาฯในสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างยิ่ง
เนื่องจากต้องการนำเรื่องปัญหาน้ำท่วมไปอภิปรายในสภาฯ อย่าลืมว่ากรุงเทพมหานคร ประชาธิปัตย์คือแชมป์ เป็นพรรคที่มีส.ส.มากที่สุด
ที่เด็ดไปกว่านั้น ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯคือฝั่งธนบุรีตอนนี้น้ำท่วมหนักกว่าฝั่งตะวันออกหลายเท่า โดยฝั่งธนบุรี ประชาธิปัตย์ยึดครองทั้งหมด ไม่มีส.ส.เพื่อไทยแม้แต่คนเดียวในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
ประชาธิปัตย์จึงต้องการใช้เวทีสภาฯ พูดเรื่องน้ำท่วมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเวทีพรบ.งบ 55 หรือการอภิปรายญัตติน้ำท่วม เพราะฝ่ายค้านไม่มีทางอยู่แล้วจะได้ออกทีวีได้ออกสื่อของรัฐขนาดข่าวความเห็นฝายค้านเรื่องน้ำท่วมยังไม่ค่อยได้ออกเลย นับประสาอะไรกับการจะไปออกรายการสดหลายสิบนาทีพูดเรื่องน้ำท่วม
ฝ่ายค้านจึงพร้อมจะเข้าประชุมสภาฯ ตลอด รัฐบาลจึงไม่ต้องมาเป็นห่วงเลยเรื่ององค์ประชุมสภาฯไม่ครบ
ถ้าหากองค์ประชุมมีปัญหาแล้วมีการตรวจสอบพบว่า ฝ่ายค้านก็ไม่เข้าประชุม ประชาธิปัตย์เองก็เสียด้วย เพราะเมื่อเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาฯ แต่กลับไม่อยู่ร่วมประชุมสภาฯ ทำให้องค์ประชุมล่ม ประชาธิปัตย์ ก็จะกลายเป็นพรรคที่ดีแต่พูดและเล่นเกมการเมืองตลอดเวลาแม้ในยามที่ประเทศประสบภัยน้ำท่วม
การงดประชุมสภาฯ ร่วมเดือนของสมศักดิ์ จึงมีแต่เสียงก่นด่าไร้เสียงชื่นชม
แต่ความจริงแล้ว สมศักดิ์อาจคิดว่า ใครอยากด่าก็ด่าไป ขอเพียงทักษิณและคนในพรรคเดียวกันหนุนหลัง แค่นี้ ก็สุขใจ