โฆษกกลาโหม เผย หลังประชุมสภากลาโหม เตรียม 4 แผนรับมือน้ำท่วม “ป้องกัน-ดำรงสภาพ-อพยพคน-ฟื้นฟู” เน้นรักษา “ประปา-ไฟฟ้า-จราจร-สื่อสาร” พร้อมวางกำลังทหาร 5 หมื่นนาย ช่วยอพยพ จาก 23 เขตเสี่ยงหนีเข้าศูนย์อพยพ 100 กว่าโรงเรียน
วันนี้ (27 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมสภากลาโหม โดยมี ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง เพื่อเตรียมความพร้อมแผนการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาในการหารือ 1 ชั่วโมง
จากนั้น พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่า รมว.กลาโหม ได้หารือกับ ผบ.เหล่าทัพเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมความพร้อมของกระทรวงกลาโหมในการรับผิดชอบสภาวะช่วงวิกฤต 4-5 วันที่จะถึงนี้ โดยที่ประชุมกำหนดจัดทำแผนในการดูแลป้องกันสถานที่สำคัญ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จัดทำตามมติ ครม.ที่ 22/54 ลงวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงกลาโหมจัดทำแผนนี้ขึ้นมาเพื่อความเป็นเอกภาพในการสั่งงาน ของกระทรวงกลาโหมและหน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม กำหนดไว้ 4 ขั้นตอน คือ 1.การป้องกัน โดยใช้คนทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นคน รถ 1 พันกว่าคัน เรือ 1พันกว่าลำ ดูแลประชาชน โดยประสานงานกับ กทม.และกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดต่าง นอกจากนี้ต้องพยายามทำทุกทางเพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาในพื้นที่ที่จะต้องดูแล
“ขั้นที่ 2 การดำรงสภาพ หากน้ำเข้าและเราจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยจะมุ่งเน้นเรื่อง ระบบประปา ไฟฟ้า การจราจร และการติดต่อสื่อสาร โดยเรามีเจ้าหน้าที่ประสานงานกับ กทม.และตำรวจในพื้นที่ ขั้นที่ 3 อพยพประชาชน ซึ่งกระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานสนับสนุน โดยเราต้องฟังจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งกระทรวงกลาโหมเตรียมความพร้อมอพยพประชาชน โดยได้จัดเตรียมคน เรือ ยานพาหนะ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน หากน้ำเข้ามาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว และได้มีการกำหนดให้ประสานงานกับ กทม.23 เขต ที่ได้มีเตรียมการไว้แล้ว โดยมีโรงเรียน 100 กว่า แห่ง รองรับประชาชนได้กว่าหมื่นคน โดยพื้นที่เสี่ยงภัยมี 4 เขต คือ เขตดอนเมือง จัดเตรียมไว้ 6 โรงเรียน เขตสายไหม เตรียมไว้ 14 โรงเรียน เขตบางพลัด มี 11 โรงเรียน เขตทวีวัฒนา 2 โรงเรียน ในส่วนของ 23 เขต เรามีผู้บังคับหน่วยที่สามารถติดต่อได้โดยตรงกับ กทม.และกระทรวงมหาดไทย ในทุกพื้นที่ ขั้นที่ 4 คือ การฟื้นฟู หากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะมีการขนย้ายประชาชนกลับเข้าที่ตั้งปกติ โดยมอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พ.อ.ธนาธิป กล่าวว่า หลังจากแผนดังกล่าวผ่านที่ประชุมสภากลาโหมจะส่งนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้ได้ รับทราบในวันนี้ เพื่อจะได้มีการประสานงานได้อย่างทันท่วงที สำหรับแผนดังกล่าวต้องมีการบูรณาการ และสิ่งที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือประชาชนออกมาจากที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังมีทหารในพื้นที่และเฝ้าสังเกตพร้อมจัดเตรียมการเสริมพนังกั้น น้ำเท่าที่ทราบยังสามารถปฏิบัติงานได้ ยกเว้นเขตบางพลัด ซ.จรัญสนิทวงศ์ 80 ทำได้ยากลำบากเพราะพื้นที่จมน้ำไปแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ ส่วนตั้งแต่คลอง 1 ถึงคลอง 6 มีกองทัพบกดูแล ดอนเมืองมีทหารอากาศดูแล ส่วนคลองทวีวัฒนามีกองทัพเรือที่จะประสานงานกับผู้ว่าฯนครปฐม ทำพนังกั้นน้ำ ซึ่งขณะนี้ยังดูแลป้องกันในขั้นที่ 1 ได้ มีเฉพาะบางเขตที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้เตรียมการอพยพ เช่น เขตลาดพร้าว บางพลัด
พ.อ.ธนา ธิป กล่าวว่า การดูแลพื้นที่ กทม.เราใช้กองทัพภาคที่ 1 เป็นหลัก เสริมด้วยกองทัพเรือที่ดูแล รพ.ศิริราช และ ทวีวัฒนา ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ทางผบ.ทอ.ได้รายงานว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดอนเมืองมีน้ำเข้ามาด้านทิศใต้ แต่ได้เตรียมอพยพยออกไปแล้วเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนกองทัพบกได้เตรียมยกอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นพื้นที่สูง ส่วนการป้องกันรถถังได้มีการก่อกระสอบทราบป้องกันไว้สูงมากที่กองพันทหารม้า ที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4 รอ.) ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษา พระองค์ (พล.ม.2 รอ.) มีการก่อกระสอบทรายและเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ด้วย ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จุดเสี่ยง เราใช้กำลังเกือบหมื่นคนในการดูแล โดยที่ผ่านมาเราได้ใช้ทหารจากกองทัพภาคที่ 2, 3 และ 4 พร้อมดูสถานการณ์อีก 2-3 วันว่า น้ำทะเลจะหนุนมาก หากมีความจำเป็นเราก็พร้อมใช้ทหารกองหนุนที่ยังไม่ได้ทำอะไรมาช่วยอพยพ ประชาชน