นายกฯ ควง “ประยุทธ์” บินสำรวจ “นวนคร-สุวรรณภูมิ” สั่ง “มท.1” เจรจาชาวบ้านเปิดประตูระบายน้ำ 6 จุด ระบายน้ำออกหวั่นน้ำทะลักเข้า กทม.ชั้นใน งงข่าวประตูน้ำพระยาบันลือแตก ยันยังไม่มีปัญหา เผย ยูเอ็น ห่วงไทย พร้อมสนับสนุนทุกด้าน ด้านอธิบดีกรมชลฯ รับรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้า โบ้ยประชาชนทะเลาะกันเอง ทำให้เป็นปัญหาหลายจุด
วันนี้ (18 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.25 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางออกจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดอนเมือง โดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบินสำรวจศูนย์อพยพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี แนวคันกั้นน้ำรังสิต แนวคันกั้นน้ำ กทม.และถนนสายไหม นิมิตรใหม่ ร่มเกล้า พร้อมกับบินผ่านบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สะพานภูมิพล 1 คลองลัดโพธิ์ และรอบ กทม.เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากบินสำรวจพื้นที่ภายใน กทม.ว่า เส้นทางน้ำสภาพโดยรวมตั้งแต่แนวคลองเปรมประชากร ยาวไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ และเรามีแนวทางที่จะเปิดประตูน้ำตั้งแต่คลอง 1 ถึง คลอง 6 โดย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เข้าไปเจรจาในพื้นที่ ซึ่งคาดว่า ประชาชนจะให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ถ้าเราเปิดประตูน้ำได้ เราก็จะระบายน้ำออกทางด้านขวา โดยจะเปิดประตูน้ำทั้งหมด 6 ประตู ซึ่งทางกรมชลประทานจะพยายามประสานงานให้สัมพันธ์ในระดับที่ประตูน้ำจะรองรับน้ำได้ แต่ขณะเดียวกันเราจะมีการองป้องกันในส่วนคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเราได้ไปดูแนวพนังกั้นน้ำบริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์แล้ว เพื่อให้แน่ใจต่อการเปิดประตูน้ำ ถือว่าเป็นการแบ่งเบาจากด้านบน
นายกฯ กล่าวต่อว่า เราได้ไปดูในส่วนของศูนย์อพยพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เบื้องต้นทางศูนย์อพยพได้ประสานมายัง ศปภ.เพื่อขอเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ซึ่งเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมด 200 นาย และเราคิดว่าการป้องกันในศูนย์อพยพธรรมศาสตร์ รังสิต น่าจะอยู่ได้ ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ที่มีน้ำเข้าไปนั้น แต่ละโรงงานก็มีแนวกั้นของแต่ละโรงงาน ซึ่งจะเร่งเข้าไปดู และหากมีการแบ่งเบาน้ำลงไปแล้วก็จะเข้าไปช่วยกู้ในส่วนอุตสาหกรรมนวนคร โดยเบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูในส่วนของเครื่องจักรที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจคันกั้นน้ำที่สุวรรณภูมิ พล.อ.อ.สุกำพล ได้สร้างแนวคันกั้นน้ำไว้สองชั้น ซึ่งน่าจะมีความแข็งแรงพอสมควร
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดประตูน้ำทั้ง 6 ประตู จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประชาชนที่ต้องรับน้ำ นายกฯ กล่าวว่า โดยหลักเราจะพยายามปล่อยน้ำลงสู่แนวคลอง ไล่ออกไปทางด้านขวา จ.ปทุมธานี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบบ้าง ซึ่งเราจะไปหารือในรายละเอียดกับพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่าประตูระบายน้ำพระยาบันลือแตกแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าแปลกใจ พร้อมกับหันกลับไปถาม นายชลิต ดำรงษ์ศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ว่า ได้รับรายงานหรือไม่ ขณะที่ นายชลิต กล่าวยอมรับว่า มีข่าวลือก่อนที่ตนจะขึ้นบินกับนายกรัฐมนตรี แต่เช็กแล้วไม่มีอะไร เมื่อถามว่า ล่าสุด ทางผู้ว่าฯ นนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าประตูระบายน้ำพระยาบันลือเอาไม่อยู่ ซึ่งปัญหาตรงนี้เป็นผลพวงจากการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บานหรือไม่ นายชลิต กล่าวว่า ประตูระบายน้ำพระยาบันลืออยู่คนละฝั่ง ไม่เกี่ยวข้องกันกับการเปิดประตูระบายน้ำดังกล่าว และนอกจากการเปิดประตูระบายน้ำ 6 บานนั้น เรายังมีทางอื่นที่จะผันน้ำจากพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ไปลงทะเล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ขอเรียนสื่อมวลชนทุกท่านว่า การระบายน้ำเราทำทุกวิถีทาง ซึ่งมวลน้ำทั่วประเทศมีเป็นหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการระบายน้ำไม่สามารถทำได้ทั้งหมดทุกประตู ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็กระทบ เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ก็ประสบปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้พยายามทุกแนวทางที่ได้เคยพูดกับประชาชนไว้ ซึ่งเราต้องทำและต้องขอความร่วมมือกับประชาชนด้วย
ด้าน นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา เกิดความไม่เข้าใจระหว่างประชาชนกับประชาชนที่อยู่ระหว่างคลองระพีพัฒน์ แยกตอนด้านบนกับด้านล่าง เพราะด้านบนน้ำท่วมอยู่ ประชาชนก็ต้องการให้เปิด ส่วนด้านล่างน้ำยังไม่เข้าประชาชนก็ต้องการให้ปิด ซึ่งเราก็เจรจามาโดยตลอด เมื่อเปิดได้พอเรากลับก็ปิดอีก มันจึงเป็นปัญหาที่ทำให้น้ำไม่สามารถลงมาด้านล่างได้ ทำให้น้ำไปได้ทางเดียว คือไปเข้าประตูคลองหนึ่ง และประตูคลองหนึ่ง ชาวบ้านก็ไม่ยอมให้ปิด เราต้องเจรจากันนานพอสมควรกว่าจะให้ปิด และสุดท้ายให้ปิดแค่ครึ่งเดียว ดังนั้น น้ำจึงเข้าไปหมด สรุปคือเราไม่สามารถบริหารจัดการน้ำตามที่วางแผนไว้ได้ เนื่องจากมีความขัดแย้งของประชาชนกันเอง ขณะนี้คิดว่าถ้าประชาชนยอม ซึ่งเราแค่ขอทางผ่านน้ำ สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายได้ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่จะขอเจาะใต้รางรถไฟ เพื่อเป็นทางผ่านน้ำนั้น นายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้ว หากเจาะใต้ทางรถไฟน้ำจะไหลเข้าสู่คลองเปรม เมื่อน้ำเข้าคลองเปรมก็จะสามารถเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของกทม.ได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เราระวังมากและกั้นไว้ โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ กทม.ชั้นใน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราระดมเครื่องสูบน้ำทุกส่วน โดยหลังจากเปิดประตูระบายน้ำก็จะใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกทางด้านฝั่งตะวันออกทันที ส่วนคลองรังสิต ที่ผู้ว่าปทุมธานี ขอกระสอบทราย 1 ล้านกระสอบ เพื่อไปกั้นน้ำที่คลองรังสิตนั้น ตนได้ให้ไปเป็นที่เรียบร้อย ทุกอย่างที่เป็นส่วนสนับสนุนเราให้ไปได้หมดแล้ว
เมื่อถามว่า นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรศัพท์มาว่าอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายบัน คี มูน ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์อุทกภัยของไทยในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ทางสหประชาชาติก็ยินดีให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือประเทศไทยทุกเรื่อง ซึ่งในรายละเอียดทางกระทรวงการต่างประเทศจะประสานต่อไป
ต่อข้อถามต่อว่า ประเทศไทยได้ร้องขอให้สหประชาชาติช่วยเหลืออะไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ได้ร้องขอ คงต้องขอหารือในระดับปฏิบัติการก่อนว่าทางสหประชาชาติจะช่วยเหลือในด้านใดบ้าง
เมื่อถามว่า ได้มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าทำไมไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้เลยแม้แต่จุดเดียว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปัญหาในเรื่องดังกล่าวนั้นเกิดจากน้ำมีมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งจากที่ได้มีการหารือกันนั้น ปริมาณน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้มีปริมาณน้ำกว่า 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าถึง 3 เท่า และปริมาณน้ำที่เจอนั้นไม่มีโอกาสได้ระบายน้ำ เนื่องจากพายุต่างๆ ได้เข้ามาสะสม 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งจะให้แก้ไขให้แล้วเสร็จในเดือนที่ 3 คงเป็นไปไม่ได้ และวันนี้เขื่อนทุกเขื่อนเราได้ใช้เต็มศักยภาพแล้ว ทั้งนี้ สภาพภูมิประเทศไม่ได้เอื้อต่อการระบายน้ำด้วย เพราะมีการสร้างตึก สร้างคลอง เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่เราต้องคุยกันในการวางผังเมืองในอนาคต ว่า การทำแนวต่างๆ ไม่ได้ถูกวางในเรื่องของระบบน้ำอย่างถาวร ทำให้การระบายน้ำและการไหลของน้ำนั้นถูกบล็อกไว้ รวมถึงจะไปคุยกันในระยะยาวทั้งเรื่องการไหลของน้ำให้มีความสัมพันธ์กันทั้งในระบบน้ำ ระบบชลประทาน การคมนาคมและการวางผังเมือง
เมื่อถามว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มไม่เชื่อถือในข้อมูลของรัฐบาล เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลบอกว่าจะสามารถรักษาพื้นที่ต่างๆไว้ได้ กลับไม่สามารถรักษาไว้ได้เลย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเป็นความสับสนในการให้ข้อมูล ซึ่งเราจะมีการให้ข้อมูลแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยจะแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จะเป็นการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ และอีกส่วนจะเป็นการให้ความเคลื่อนไหวที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลได้เตือนไปนั้น บางครั้งประชาชนคงคิดว่าน้ำยังไม่มา แต่ความเป็นจริงน้ำนั้นมาเร็วกว่าที่คิด จึงเสมือนว่ารัฐบาลไม่มีการเตือนแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงต้องหารือกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการลงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งตนยืนยันว่าการชี้แจงของ ศปภ.จะมีการติดตามข้อมูลเป็นระยะอยู่แล้ว วันนี้ทุกหน่วยงานได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ ขอความเห็นใจจากพี่น้องประชาชน เพราะมันเป็นปัญหาใหญ่และมีความเสียหายเยอะจริงๆ