xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ไม่ยอม รบ.ทำแท้ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ประกาศท้ารบลุยฟ้องทุกคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีสุวรรณ จรรยา
“ศรีสุวรรณ” ชี้รัฐบาลหักหลังภาคประชาชน ทำแท้ง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการไม่นำเข้าสภาภายในระยะที่กฎหมายกำหนด ลั่นขอประกาศท้ารบ ลุยฟ้องทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ด้าน “อ.สัญชัย” ยันคณะกรรมการอิสระนี้สำคัญมาก เพราะปัจจุบันการทำรายงานผลกระทบฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมอย่าางแท้จริง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 11 ต.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ถึงประเด็น “แท้ง...กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม” มีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยนายเติมศักดิ์อธิบายถึงที่มาที่ไปว่า ในรัฐสภาชุดก่อนหน้าที่จะยุบสภา มีร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา จากนั้นพอมีสภาชุดใหม่หลายคนก็หวังว่ากฎหมายนี้จะได้รับการยืนยันกลับไปให้รัฐสภาพิจารณาใหม่และประกาศบังคับใช้ แต่ปรากฏว่า ที่สุดแล้ว ครม.ก็ไม่ได้ร้องขอร่างกฎหมายนี้กลับไปยังรัฐสภาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยถือว่าเป็นการทำแท้งกฎหมายที่รอคลอดมากว่า 10 ปี ด้วยการโยนกลับไปให้ รมว.ทรัพยากรฯ ยกร่างใหม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา เป็นการฆ่าตัดตอนพลังภาคประชาชนในการตรวจสอบการลงทุนที่ส่งผลรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพของประชาชนหรือชุมชน

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า วันนี้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีอยู่แล้ว แต่แค่ในลักษณะชั่วคราว กรรมการชุดนี้วันนี้ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร บทบาทการทำงานก็ไม่ชัดเจน เพราะไม่มีกฎหมายออกมารองรับการทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นการทำงานอะไรมันก็อาจจะสะดุดลงได้ งบประมาณก็ไม่มีอิสระในการดำเนินการ บุคลากรก็ไม่เต็มที่ต้องไปยืมตัวหน่วยงานอื่นๆ มันก็เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการให้ความเห็นใดๆออกมา หรือการไปรับฟังความเห็นใดๆ ฉะนั้นการผลักดันเป็น พ.ร.บ.ให้ออกมาโดยเร็วจึงจะเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ทั้งต่อหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ภาคประชาชน  

ตนมองว่าการที่รัฐบาลโยนเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรฯ วิเคราะห์ออกมาได้ 2 ประเด็น 1.คณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ไม่ค่อยชอบร่างพรบ.นี้ ตนเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติตนเข้าร่วม ก็ได้ทราบความเห็นของตัวแทนคณะกรรมการกฤษกีกาในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการกฤษฎีกาปัจจุบัน ท่านมีแนวความคิดที่ไม่ค่อยยอมรับร่างพรบ.ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายยกร่างขึ้นมานี้ โดยมีแนวคิดว่าคณะกรรมการนี้ไม่ควรเป็นรูปขององค์กรกลาง แต่ควรเป็นในรูปขององค์กรทั่วไปที่มีอยู่ทั่วประเทศ อย่างเช่นสมาคมต่อต้านโรคร้อน หรือสมาคมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันองค์กรประเภทนี้มีประมาณ 250 องค์กร ลองคิดดู 250 องค์กร เวลาไปรับฟังความเห็นจะทำอย่างไร กระบวนการจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าทำไม่ครบจะมีปัญหาหรือไม่ จะนำมาสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่

2.ตนมองว่ามีบุคลากรระดับบริหารในกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ อาจดูเหมือนว่าคณะกรรมการอิสระจะไปแย่งงาน แย่งบทบาท แย่งหน้าที่ ของการทำงานของหน่วยงานหรือเปล่า ซึ่งเท่าที่ตนสัมผัสกระทรวงนี้มา 20 ปี เลยมองคนที่นี่ได้ขาด

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า ตนไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะจริงใจขับเคลื่อน พ.ร.บ.นี้ต่อ การให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปศึกษา เดี๋ยวก็ทำเป็นตั้งคณะกรรมการโน่นนี่ ไม่สำเร็จแน่

“ประกาศท้ารบกับรัฐบาลชุดนี้เลย เมื่อไม่เสนอร่าง 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เท่ากับตบหน้าภาคประชาชน ประชาชนประนีประนอมกับภาครัฐมาตลอด ร่างระเบียบสำนักนายกฯ เราคัดค้านแต่ตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่าเราถอยคนละก้าว หน่วยงานรัฐก็ขอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้ผู้ประกอบการดำเนินต่อไปได้ เราถึงยอม ไม่อย่างนั้นทุกวันนี้ก็ยังค้างเต้ง ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆต่อไม่ได้ แต่เมื่อเราถอยแล้วรัฐบาลหักหลัง เราจึงยอมไม่ได้

มาตรการตอบโต้รัฐบาลเรามีเยอะ ตั้งแต่ฟ้องเพิกถอนระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับนี้ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เอาแน่  ไม่ยอม และยังมีมาตรการอื่นๆเชิงคดี จะไม่ประท้วงปิดถนน จะใช้มาตรการทางศาล เอาแค่คดีต่างๆ ที่ชาวบ้านเดือดร้อนตามจังหวัดต่างๆ ก็เต็มไปหมดแล้ว จะฟ้องทั้งหมด หรืออย่างนโยบายถมทะเลเราก็จะเอาแน่” นายศรีสุวรรณกล่าว

นายศรีสุรรณยังกล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ การมีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถ้ามันนำไปสู่การบังคับใช้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริง แน่นอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มันไม่สามารถควบคุมดูแลอยู่ได้ เช่นการปล่อยให้มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ที่รับน้ำตามธรรมชาติ เช่นอยุธยา แต่นโยบายกลับปล่อยให้มีนิคมอุตสาหกรรม ในที่สุดก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เสียเงินเป็นแสนๆล้าน นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องสารเคมีต่างๆที่กระจายไปกับน้ำท่วม ซึ่งหากทำอย่างถูกต้อง อยุธยาอาจไม่ได้รับการอนุญาตให้ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเลยก็ได้

ด้าน นายสัญชัยกล่าวสนับสนุนว่า ในรัฐธรรมนูญระบุชัดว่าให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วย องค์กรเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ทั้ง 2 ส่วนมาประกอบเป็นคณะกรรมการ 1 ชุดก่อน จะกี่คนก็แล้วแต่ จากนั้นคณะกรรมการที่ว่าก็ต้องไปสร้างกระบวนการ จะต้องเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สถาบันอุดมศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง มาช่วยให้ความเห็นประกอบ ตรงนี้ที่จะเป็นประโยชน์มาก เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบันโครงการที่เข้าข่ายต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เขาให้บริษัทที่ปรึกษาไปทำรายงานผลกระทบ ทำเสร็จแล้วก็เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ กระบวนการตรงนี้ที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมเท่าที่ควรจะเป็น เราคิดว่าเนื้อหาควรเป็นองค์กรระดับชาติ 1 องค์กรก่อน 




สัญชัย สูติพันธ์วิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น