xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ทำแท้ง กม.คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การทำแท้งร่างกม.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯที่รอคลอดมากว่า 10 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยโยนกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรฯ ยกร่างใหม่ สวนทางนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ถือเป็นการฆ่าตัดตอนพลังภาคประชาชนในการตรวจสอบโครงการลงทุนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและสุขภาพ จับตาความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

เวลาเพียงแค่เดือนเศษๆ ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เรื่องนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยข้อ 5.3 ระบุว่า “รัฐบาลจะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควลคุมมลพิษ โดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กรภาคประชาชน ผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม....” แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศจริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับทำตรงกันข้าม

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมฯ ที่ว่าไว้ข้างต้นเป็นเพียงคำสวยหรูไว้หลอกชาวบ้านเท่านั้น เพราะถึงเวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งลักษณ์ ได้ทำแท้งร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.....เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา กลับไปยังรัฐสภา ภายใน 60 วัน นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (1 สิงหาคม 2554)

ครม.ยิ่งลักษณ์ ได้โยนเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยกรฯ ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ หรือกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง โดยยึดถือตามร่างกฎหมายฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย

หากทีมงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความรู้และได้ศึกษาที่มาที่ไปในการผลักดันกม.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ก็จะพบว่า ร่างกม.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ได้ผ่านกระบวนการต่างๆ มายาวนานนับสิบปี นับแต่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2540 เป็นต้นมา และร่างกม.ที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา ก็เป็นร่างที่เสนอโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนตัวแทนภาควิชาการ และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อยู่แล้ว

การทำแท้งร่างกม.ดังกล่าว และให้กลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เท่ากับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศศึกกับภาคประชาชนที่ผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาอย่างยาวนาน และเมื่อรัฐบาลประกาศศึก ทางภาคประชาชนก็ท้ารบทันควัน

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายคดี แถลงว่า จะใช้มาตรการตอบโต้รัฐบาลโดยจะฟ้องเพิกถอนระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยคณะกรรมการประสานงานองค์การอิสระฯ และฟ้องโครงการของรัฐและเอกชนทุกโครงการทั่วประเทศ แบบไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม ที่เป็นโครงการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เช่น

-ฟ้องล้มเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่าย, นิคมฯหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง
-ฟ้องยกเลิกโรงไฟฟ้า IPP-SPP ทุกโครงการทั่วประเทศ
-ฟ้องล้มเลิกโครงการย้ายโรงงานยาสูบไปอยุธยา
-ฟ้องล้มโครงการแลนด์บริจด์ภาคใต้, ท่าเรือปากบารา
-ฟ้องล้มโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑล
-ฟ้องล้มโครงการมอเตอร์เวย์ ฯลฯ

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มองว่า การมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปยกร่างกม.ขึ้นมาใหม่ จะทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายนี้ล่าช้าออกไป และมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องการปรับรื้อโครงสร้างองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ โดยไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ในรูปแบบองค์กรระดับชาติ เพื่อลดทอนพลังในการตรวจสอบและถ่วงดุลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรอาจรุนแรงฯ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2540 และ 2550 และการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีเจตนารมย์ให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ เป็นองค์กรระดับชาติ เพื่อเป็นกลไกช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิชุมชน โดยการให้ความเห็นประกอบเพื่อถ่วงดุลการตัดสินใจของรัฐในโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน

ศรีสุวรรณ ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว มีหลักการเนื้อหาสาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับ หากรัฐบาลต้องการปรับแก้เนื้อหาในร่างกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาโดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา การให้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปยกร่างใหม่ ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไปอีกมาก และอาจเป็นปัญหาต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งอาจเกิดความล่าช้าต่อกระบวนการพิจารณาอนุมัติการพัฒนาและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล

บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นผ่านสื่อในเรื่องนี้ว่า หากร่างกม.ใหม่มีเป้าหมายแอบแฝงไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ในรูปแบบองค์กรระดับชาติเพื่อไม่ให้องค์กรอิสระมีพลังในการตรวจสอบและถ่วงดุล กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจะไม่เข้าร่วมในองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งจะทำให้องค์กรอิสระฯ ขาดองค์ประกอบทำให้ไม่สามารถเกิดองค์การอิสระได้ ซึ่งจะทำให้การพิจารณาโครงการต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน

ลำดับความเป็นมาของการยกร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมฯ

1.ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มอบหมายให้ ม.มหิดล ศึกษาและยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (สมัย รมต.ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ) ตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายองค์การอิสระสิ่งแวดล้อม โดยใช้ร่างที่เสนอโดย ม.มหิดล เป็นต้นร่าง

2.ช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (สมัย รมต.อนงค์วรรณ เทพสุทิน) ตั้งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นในทุกภูมิภาค (แต่ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรี ไม่มีการดำเนินงานต่อ) เมื่อมีกรณีปัญหาศาลปกครองสั่งระงับการดำเนินงาน 76 โครงการ รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ได้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67วรรคสอง

คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้นำเอาร่างกฎหมายองค์การอิสระฯ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการศึกษาและยกร่างฯ (สมัย รมต.อนงค์วรรณ) มาปรับปรุงแก้ไขและนำเสนอต่อรัฐบาล ทั้งนี้ คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาครัฐ

ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับที่ค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ได้ผ่านการพิจารณามาเป็นลำดับกว่า 10 ปี ยกร่างจากฐานความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภูมิภาค หากรัฐบาลมีมติไม่ยืนยันร่างกฎหมายและเป็นผลให้กระบวนการประกาศใช้กฎหมายต้องล่าช้าออกไป จะมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในกระบวนการพัฒนา และความขัดแย้งระหว่างภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของครม. ในการประชุม ครม. วันอังคารที่ 27 กันยายน 2554 และได้ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยตรงก่อนที่จะมีการประชุม ครม. ด้วย แต่สุดท้ายร่างกม.ดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยืนยันจากครม.ยิ่งลักษณ์

สำหรับรายชื่อเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่เคยร่วมยื่นหนังสือและแถลงการณ์ถึงรัฐบาล ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ชาติ) 2.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (๑๕๓ องค์กร) 3.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 4.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม5.สมาคมนักผังเมืองไทย6.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

7.มูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 8.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร9.มูลนิธิบูรณะนิเวศ 10.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ11.มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ 12.มูลนิธิชีววิถี 13.มูลนิธิอันดามัน 14.โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) 15.โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา 16.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 17.เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น