xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ย้ำจุดยืนต้าน “นิรโทษแม้ว-ล้มสถาบัน”-เดินหน้าปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกนนำพันธมิตรฯ แถลงที่บ้านพระอาทิตย์
ครบ 3 ปี 7 ตุลาฯ พันธมิตรฯ แถลงย้ำจุดยืนพร้อมชุมนุม หาก รบ.ยิ่งลักษณ์ ออก กม.นิรโทษ “ทักษิณ” สนับสนุน-สร้างขบวนการจาบจ้วงล้มล้างสถาบัน ค้านแนวคิด “นิติราษฎร์” ล้มล้างคำพิพากษาช่วย “นช.แม้ว” หนุนถอดถอนอัยการ เหตุไม่ฎีกาคดี “พจมาน” เลี่ยงภาษี ประกาศเดินหน้าปฏิรูปการเมือง-สังคม ครั้งใหญ่



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แกนนำพันธมิตรฯ แถลงการณ์  

เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ในโอกาสครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์ฉบับที่ 7/2554
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เรื่อง
รำลึก 3 ปีวีรชน 193 วัน กับก้าวต่อไปของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี การสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของวีรชนซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอดระยะเวลา 193 วัน เมื่อปี พ.ศ. 2551 นั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้

1.เราขอแสดงความคารวะและยกย่องดวงวิญญาณของวีรชนผู้เสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และบาดเจ็บ ตลอดจนพี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยความเสียสละกล้าหาญตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเรายืนยันว่า จะสืบสานเจตนารมณ์วีรชนและความตั้งใจของพี่น้องประชาชนต่อไปอย่างถึงที่สุด

2.เหล่าวีรชนที่ได้เสียชีวิต 10 คน สูญเสียอวัยวะ 7 คน นอนไอ.ซี.ยู.4 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน โดยถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยระเบิดแก๊สน้ำตา และถูกระเบิด M 79 ยิงใส่ผู้ชุมนุมอีกหลายครั้ง ทั้งๆที่ผู้ชุมนุมเหล่านี้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา วีรชนเหล่านี้ไม่เคยได้รับความยุติธรรมจากรัฐบาลชุดใด ไม่ว่าจะในด้านการหาผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ หรือได้รับค่าชดเชยความเสียหายแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลชุดนี้กับกลุ่ม นปช.ที่เป็นมวลชนผู้สนับสนุนรัฐบาล กลับพยายามเรียกร้องค่าชดเชยและให้ความสำคัญกับเฉพาะการสูญเสียชีวิตของกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. รายละ 10 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มุ่งแต่จะช่วยเหลือพวกพ้องที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น โดยไม่เคยคำนึงคุณค่า และความเท่าเทียมกันของคนในชาติ สร้างความเป็นอภิสิทธิ์ชนให้กับพรรคพวกตัวเอง อันจะนำไปสู่ความเกลียดชัง ความขัดแย้งและความแตกแยกของคนในชาติอย่างไม่มีวันจบสิ้น

เราจึงขอเรียกร้องต่อทั้งนักการเมือง และกระบวนการยุติธรรมได้คืนความเป็นธรรมให้กับเหล่าวีรชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้ออย่างไม่เป็นธรรม จนถึงที่สุดด้วย

3.จากสถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้ง 3 ครั้ง คือ 33 วันในปี พ.ศ.2549 193 วันในปี พ.ศ.2551 และ 158 วันในปี พ.ศ.2554 ถือว่าประเทศไทยได้ผ่านการเมืองทุกฝ่ายในระบบแล้ว ต่างก็เป็นการเมืองที่ล้มเหลวทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลระบอบทักษิณ รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลพรรคพลังประชาชนหุ่นเชิดของระบอบทักษิณ รัฐบาลผสมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลับมาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตัวแทนของระบอบทักษิณอีกครั้งหนึ่ง นักการเมืองที่ช่วงชิงอำนาจเหล่านี้ต่างมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ทุจริตคอร์รัปชั่น มุ่งแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง อีกทั้งยังอ่อนแอในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากระบบการเมืองที่ล้มเหลว ดังนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศจุดยืนดังต่อไปนี้

3.1 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงประกาศจุดยืนเดิมที่จะเคลื่อนมวลชนออกมาชุมนุมทันทีก็ต่อเมื่อ 1.มีการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับนักโทษชายทักษิณ หรือ 2.รัฐบาลได้สนับสนุนและสร้างขบวนการจาบจ้วงล้มล้างพระราชอำนาจหรือสถาบันพระมหากษัตริย์
ดังนั้น เราจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่จะล้มเลิกคำพิพากษาของศาลฎีกาเพื่อช่วยนักโทษชายทักษิณให้ไม่ต้องรับผิดในการทำผิดกฎหมายของประเทศ และไม่เห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การกระทบต่อ 2 เงื่อนไขที่จะทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศจุดยืนไปแล้ว ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน และการที่จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดน สูญเสียอธิปไตย และสูญเสียแหล่งพลังงานของชาติ ตลอดจนการรักษาสิทธิของประชาชนนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะใช้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแจ้งให้ประชาชนหรือองค์กรที่มีหน้าที่ได้ทราบ และตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับขบวนการอันฉ้อฉลของนักการเมือง โดยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของศาลซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย และ ทหารซึ่งอยู่ภายใต้จอมทัพไทยเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของชาติต่อไป

ทั้งนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายแล้วหลายกรณี
ดังเช่น การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการเลือกตั้งที่ผ่านมา การยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อให้ยุบพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้ การฟ้องเรื่องให้เพิกถอนบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับ การฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนแปรรูป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฯลฯ จึงถือว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้วและจะต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุดในทุกกรณีไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอสนับสนุนแนวทางการถอดถอนหรือการดำเนินคดีต่ออัยการสูงสุดกรณีที่ไม่ฎีกคดีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้นของ คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ และพี่ชาย
ทั้งๆ ที่คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาที่ขัดแย้งกันระหว่างศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ อีกทั้งยังปรากฏบันทึกความคิดเห็นแย้งจากประธานศาลอุทธรณ์ในคำพิพากษาขององค์คณะศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ดังนั้น การที่อัยการสูงสุดไม่ฎีกาให้ถึงที่สุด ย่อมเป็นที่สงสัยของประชาชนได้ว่าอัยการสูงสุดไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติและช่วยเหลือคนในครอบครัวชินวัตร และ ดามาพงศ์ หรือไม่ ทั้งนี้ การดำเนินคดีอาญาและการถอดถอนอัยการสูงสุดจึงถือเป็นมาตรการลงโทษที่สมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันมิให้ระบบกระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือล่มสลาย อันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกลียุคและความรุนแรงต่อไปในอนาคต

3.2 เมื่อการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นการเมืองที่ล้มเหลว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงพร้อมสนับสนุน เข้าร่วม และผลักดันการปฏิรูปการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ครั้งใหญ่ร่วมกับ ทุกองค์กร ทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วน ที่มีความจริงใจในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศชาติในครั้งนี้


ดังนั้น นับตั้งแต่วันนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเดินหน้าในการแสวงหาแนวร่วมและระดมความคิดในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่รอบด้าน ตลอดจนเผยแพร่สร้างกระบวนการศึกษาและการเรียนรู้แนวทางใหม่ในการปฏิรูปประเทศเพื่อเปลี่ยนระบบการเมืองที่ล้มเหลว ให้เป็นระบบการเมืองซึ่งเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
7 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ณ บ้านพระอาทิตย์

หลังจากนั้น นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแถลงในวันนี้ (7 ต.ค.) เป็นการเน้นย้ำจุดยืนเดิมตั้งแต่ช่วงระหว่างที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา และเป็นการย้ำถึงการเมืองที่ล้มเหลวของระบอบการเมืองทั่วโลก ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ พันธมิตรฯ จึงยืนยันว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม แต่ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้สนใจในการปฏิรูป แต่ไปเน้นในเรื่องประชานิยม พันธมิตรฯ จึงคิดไปข้างหน้าเพื่อให้ทุกภาคส่วนของประเทศเดินหน้า

พันธมิตรฯ สนับสนุนในการนำเนื้อหาการปฏิรูปไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากมีการเขียนขึ้น โดยสิ่งที่กล่าวในแถลงการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการเน้นย้ำจุดยืนเดิม ตั้งแต่ช่วงการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการโหวตโนว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองที่ล้มเหลว และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พันธมิตรฯจึงพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งใหญ่ การเน้นในเรื่องนี้เป็นในทิศทางของสังคมโลก ที่ปรากฎการเมืองที่ล้มเหลว แม้ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศที่มีสถาบันการเมืองที่มั่นคงอย่างอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ความล้มเหลวมาจากการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ในประเทศนั้นๆได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน

“ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับไม่ได้สนใจในการปฏิรูปประเทศและการเมือง แต่ไปเน้นในเรื่องประชานิยม พันธมิตรฯจึงจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศในการแก้ไขวิกฤตที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพ กล่าวต่อว่า ย้อนไปเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 ได้มีกระแสให้เกิดการปฏิรูปจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น ก็มีการตั้ง นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการทำการวิจัยเพื่อการปฏิรูปประเทศและการเมือง จึงนำเนื้อหาทั้งหมดไปใส่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 และขยายความให้เข้มข้นขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 50 แต่บางเรื่องก็ถอยหลัง ในส่วนของฉบับที่อาจจะมีการเขียนขึ้นใหม่นั้น ก็ผ่านการนำเสนอมาในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในสมัยนั้นก็หลับเลือกแก้แค่ 2-3มาตรา เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง ทั้งที่มีการตั้งผู้หลักผู้ใหญ่เป็นคณะกรรมการปฏิรูป พอมาวันนี้การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีจุดมุ่งหมายไปสู่เรื่องสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในเรื่องเนื้อหาการปฏิรูป ไม่ได้มีกระแสปูพื้นมาเลย จึงคิดว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่มุ่งล้มล้างฉบับเก่าที่อ้างว่าเป็นผลมาจากการรัฐประหารและมีเนื้อหาในการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณนั้น จะไม่ได้เป็นการนำพาในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

“หากจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการสร้างเนื้อหาการปฏิรูปก่อน ทั้งเรื่องการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งต้องไม่แตะในเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่เราได้พูดบนเวทีในการชุมนุม 158 วันครั้งล่าสุด และสร้างการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศผ่านการรณรงค์โหวตโน” นายพิภพ กล่าว

ด้าน นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้การบริหารงานในระบบรัฐสภาเกิดปัญหาอย่างมาก ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างเห็นประโยชน์ส่วนตัว และยืนยันที่จะเดินหน้าด้วยการเมืองแบบเก่าๆต่อไป จึงเห็นว่ากระบวนการเมืองเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จึงไม่อาจรอเวลาได้ ขณะที่ขบวนการของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการเปิดโรงเรียนประชาธิปไตย แต่กลับมีพฤติกรรมเหิมเกริม แสดงอำนาจบาตรใหญ่ต่อคนกลุ่มอื่น มีการตั้งหมู่บ้านเสื้แดง 800-900 หมู่บ้าน ที่สำคัญยังมีขบวนการล้มเจ้าที่มีทีท่าเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมั่นคง จึงเป็นประเด็นที่พันธมิตรฯต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“วันนี้เราเห็นนายกรัฐมนตรีพูดจาไม่รู้เรื่อง แสดงถึงการไม่พร้อมรับตำแหน่ง แต่ต้องทำตามคำสั่งแบบทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ รัฐสภาจึงไม่ใช่เวทีแก้ปัญหาของชาติ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปการเมืองขนานใหญ่ ที่ผมเรียกว่าการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” นายสมเกียรติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯต่อการเคลื่อนไหวเพื่อให้เมีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดใหม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่า หากไม่มีการแก้ไขมาตรา 291 รัฐบาลสามารถใช้เสียงข้างมากแก้ไขได้เลย แต่การที่รัฐบาลประกาศว่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร. ก่อนทำประชามติ อย่างน้อยก็มีพัฒนาการขึ้นจากแนวคิดเมื่อปี 51 ที่พยายามใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้ไขตามที่ตัวเองต้องการ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะยังไม่แน่ชัดว่าจะมีบุคคลที่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง หรือต้องการรวบอำนาจให้กับระบอบทักษิณเข้ามาเป็น ส.ส.ร.หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรม หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพระราชอำนาจ ก็จะเข้าเงื่อนไขที่พันธมิตรฯจะมีการเคลื่อนไหว

ส่วนกรณีการเข้าร่วมสรรหาเพื่อเป็น ส.ส.ร.หรือไม่นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ขณะนี้คงยังไม่สามารถตอบได้ เพราะกระบวนการสรรหายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะที่บอกว่าจะมีนักวิชาการเข้ามาร่วมบางส่วน ตรงนี้จึงไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลมีเจตนาอย่างไร หากนำคนในคณะนิติราษฎร์เข้ามาก็ชัดเจนว่ารัฐบาลชะดนี้มีความคิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการยนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ จึงยังไม่ถึงสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจหรือวิจารณ์ใดๆ

ต่อข้อถามถึงท่าทีการร่วมสนับสนุนถอดถอนอัยการสูงสุด โฆษกพันธมิตรฯชี้แจงว่า เราเห็นด้วยกับกระบวนการไม่ว่านักการเมืองฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม หากเป็นนักการเมืองที่ดีและตระหนักว่าการที่อัยการสูงสุดไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีขายหุ้นชินคอร์ปของคุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ ที่มีลักษณธที่ผิดปกติ เนื่องจากศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาขัดแย้งกัน เทียบกับกรณีของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ จนกระทั่งได้ชัยชนะที่ศาลฎีกา ทั้งที่จำนวนเงินเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น ต่างจากจำนวนเงินมหาศาลของการเลี่ยงภาษีขายหุ้นชินคอร์ป

“เท่าที่ทราบตอนนี้มี ส.ส.บางกลุ่มจะเข้าชื่อในการถอดถอนอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องเปลืองแรงประชาชน โดยเราถือว่าเห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว” นายปานเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถาม พล.ต.จำลอง ในกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าไปร่วมพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหาร พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ฝ่ายทหารน่าจะมีความเป็นห่วงมากกว่า เพราะตนเป็นเพียงทหารนอกราชการ อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน เพราะหลายครั้งรัฐบาลนี้พูดอะไรออกมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังเหมือนนโยบายต่างๆของรัฐบาลในขณะนี้

คำต่อคำ การแถลงข่าว

พิภพ ธงไชย
- ในคำแถลงการณ์ผมอยากจะขอเน้นเพิ่มเติมสัก 2 ประเด็นนะครับ โดยเฉพาะในประเด็นที่แถลงการณ์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะนำไปสู่การกระทบ 2 เงื่อนไขข้างต้น ก็คือเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคุณทักษิณ และเงื่อนไขที่จะสนับสนุนและสร้างขบวนการจาบจ้วงล้มล้างพระราชอำนาจ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ตรงนี้ผมอยากอธิบายว่า นอกจาก 2 เงื่อนไขนี้แล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนในการที่จะนำเนื้อหาการปฏิรูปไปใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้ามีการเขียนขึ้น ซึ่งสิ่งที่กล่าวในคำแถลงการณ์วันนี้ไม่ได้เป็นของใหม่ ในบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้มีการพูดบนเวที โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องโหวตโน ว่าโหวตโนเราจะโหวตโนไปเพื่ออะไร โหวตโนไปก็เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง และปัญหาประเทศชาติที่มีความเหลื่อมล้ำ และการเมืองที่ล้มเหลว

ฉะนั้นสิ่งที่จะใช้พลังของโหวตโนก็จะนำไปสู่การร่วมกับองค์กรอื่นๆ และภาคอื่นๆ ของสังคมที่จะปฏิรูป เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งใหญ่ ร่วมกับทุกองค์กร

เพราะฉะนั้น ในการแถลงวันนี้จึงเน้นย้ำจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้ในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงระหว่างมีการเลือกตั้ง

สอง การเน้นในเรื่องนี้ก็เป็นกระแสของสังคมโลก เพราะว่าสังคมโลกตอนนี้พบว่ามีปรากฏการณ์การเมืองที่ล้มเหลว แม้ว่าเป็นการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีตะวันออกกลาง แม้การเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในสถาบันการเมืองที่มั่นคง ในกรณีอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ความล้มเหลวของระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่สำคัญคือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ในประเทศนั้นๆ ได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน

ในประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะจลาจล เผาบ้านเผาเมืองเช่นเดียวกัน ฉะนั้นวันนี้ถ้าเราจะมองไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดกลียุค พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงยืนยันว่า เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อที่จะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคมทั้งระบบ และเรื่องนี้ก็เคยเสนอกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปแล้ว ว่ากระแสหลังวันที่ 19 พฤษภาคม นั้น เป็นกระแสของการปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปการเมือง คุณอภิสิทธิ์จับกระแสนี้ได้ และก็ได้แต่งตั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเป็นคณะกรรมการการปฏิรูป แต่สุดท้ายคุณอภิสิทธิ์ก็ทิ้งการปฏิรูป และเนื้อหาการปฏิรูป กลับชูนโยบายประชานิยม

ขณะที่คุณปู-ยิ่งลักษณ์ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ชูประเด็นหาเสียงไปในเรื่องนโยบายประชานิยม จะเห็นได้ว่าทั้งสองรัฐบาล ประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ไม่สนใจในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปการเมือง ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังมีปัญหา การเมืองมีภาวะสับสน และมีภาวะล้มเหลว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อร่วมมือกับทุกภาคส่วน และกระตุ้นเตือนให้พี่น้องพันธมิตรฯ ร่วมมือกันที่จะศึกษา และนำพาการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ เพื่อจะแก้ไขวิกฤตที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า

นี่คือการย้ำจุดยืนเดิมที่เราได้แถลงไว้ครับ ขอบคุณครับ

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

-ผมเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับรัฐบาล 2 ประเด็นนะครับ ประเด็นแรก ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ก็คือเรื่องการบริหารในระบบรัฐสภาของเราเกิดปัญหาอย่างมาก ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ซึ่งผมเคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาก่อน ต่างเห็นประโยชน์ส่วนตัว และยืนยันที่จะเดินหน้าด้วยการเมืองแบบเก่าต่อไป ผมเห็นว่ากระบวนการการเมืองเหล่านี้ที่ผมปฏิเสธ และออกมาแล้ว จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ จึงไม่อาจรอเวลาได้

วันนี้เราจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง หญ้าแพรกบ้าง สระบุรี สระแก้วบ้าง เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย แสดงว่าเขาไม่พร้อมที่จะรับตำแหน่ง แต่รับตำแหน่งตามคำสั่ง ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ อันนี้ประเด็นที่ 1 ผมจึงคิดว่า รัฐสภาไม่ใช่เวทีแก้ปัญหาของชาติ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปการเมืองอย่างขนานใหญ่ ที่ผมเรียกว่าบางครั้งต้องใช้การปฏิวัติประชาชาติ ประชาธิปไตย นะครับ

ประเด็นที่ 2 คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่จะใช้การปฏิรูปกัน เราพบว่าขบวนการเสื้อแดง เคยเปิดโรงเรียน นปช. เสื้อแดงบอกว่ารักประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เสื้อแดงเหิมเกริมมาก ทั้งขู่ว่าใครจะไปแสดงดนตรีที่ไหน เช่น อ๊อด คีรีบูน ที่อุตรดิตถ์ ไม่ให้ไปเพราะว่าเสื้อแดง อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่ในการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงประมาณ 800-900 หมู่บ้าน และที่เห็นว่าขบวนการล้มเจ้า มันมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น ผมจึงเห็นว่า 2 ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่นะ ระบบรัฐบาลล้มเหลว และประเด็นที่ขบวนการล้มเจ้ากำลังจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมั่นคง ประเด็นนี้ควรที่พันธมิตรฯ ทุกคน และพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย ควรจะศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนพวกผมต้องอาศัยจังหวะก้าวที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ตามที่พี่พิภพ กล่าวไปแล้ว คือ กฎหมายนิรโทษกรรม กับเหตุล้มเจ้า ที่จะเป็นเหตุให้เราออกมาชุมนุม ผมขอแสดงความคิดเห็น 2 ประเด็นแค่นี้ครับ

ถาม- การแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเริ่มต้นที่แก้มาตรา 291 ... ???

ปานเทพ- คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแก้มาตรา 291 ต้องเข้าใจว่า เดิมทีถ้าไม่มีการแก้ไข รัฐบาลสามารถใช้มือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแก้ครั้งนี้ได้เลย แต่กรณีการแก้ไขที่รัฐบาลได้ประกาศมาก็คือ การตั้ง ส.ส.ร.แล้วก็จะไปทำประชามติ ซึ่งกระบวนการนี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลจะใช้แนวทางเดิมเหมือนกับที่เคยใช้ในปี 2551 คือพยายามใช้กระบวนการทางสภาแก้ไขตามที่ตัวเองต้องการ อย่างน้อยก็มีพัฒนาการขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรายังไว้วางใจไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่ากระบวนการ ส.ส.ร.ก็ตาม กระบวนการที่จะมีบุคคล บุคลากรที่เข้าไป ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นคนที่มีความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง หรือต้องการรวบอำนาจให้กับระบอบทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมก็ดี หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพระราชอำนาจ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดี ก็ถือว่ายังเข้าเงื่อนไขอยู่ดีที่พันธมิตรฯ จะต้องมีการเคลื่อนไหว

ถาม- ถ้าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นไปอย่างโมเดลที่ ...???

ปานเทพ- ตอนนี้ยังไม่มีกระบวนการนั้น และก็ยังไม่ชัดเจน มีแต่คำพูดเฉยๆ เพราะเห็นบอกว่าจะมีนักวิชาการบางส่วนด้วย มีกลุ่มตัวแทนต่างๆ ด้วยผสมเข้าไป ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนด้วย ตรงนี้เรายังไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลมีเจตนามากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเอากลุ่มบุคคลในคณะนิติราษฎร์ เพื่อเข้ามาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็ยิ่งชัดเจนใหญ่ว่ารัฐบาลชุดนี้มีความคิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อการนิรโทษกรรมให้กับคุณทักษิณ ตรงนี้ก็จะชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ยังถือว่ายังไม่ถึงสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจหรือวิจารณ์ จนกว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นจริงอีกครั้งหนึ่ง

ถาม-

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

เมื่อกี้นี้ที่พวกเราแถลงไปนั้น ไม่ได้หมายความอย่างที่คุณถามนะ ว่าเราหวังจะพึ่งคนนั้นคนนี้ แต่เราหวังที่จะทำงานร่วมกันกับทุกองค์กร ทุกขบวนการ ในการที่จะเพ่งเล็งไปใน 2 เรื่อง 1. เรื่องของการที่จะพยายามนิรโทษกรรมคุณทักษิณ และ 2. พยายามที่จะจาบจ้วง บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่ต่างหากครับ เราก็ทำเหมือนเดิมแหล่ะครับ เหมือนเดิมก็คือว่า ร่วมกับทุกองค์กรที่มีความเห็นตรงกัน แต่คราวที่แล้วที่พันธมิตรฯ ออกไป เป็นกลุ่มใหญ่มาก คล้ายๆ จะเป็นกลุ่มเดียวนั้น เนื่องจากสถานการณ์ฉุกละหุก มันเร่งด่วนจริงๆ รอใครไม่ได้แล้วตอนนั้น

จะเห็นชัดนะครับว่า เมื่อ 27 กรกฎาฯ ปีก่อนโน้น เขาจะพิจารณาให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถ้าพิจารณาจบ เราก็เสียดินแดนทันที เราเลยออกไปคัดค้านต่อต้าน แล้วก็ต่อมาเรื่องเร่งด่วนอีก ในฐานะที่รัฐบาลเองก็พยายามที่จะเอาบันทึกผลการประชุมร่วม ที่เรียกว่าเจบีซี เข้าสภา มาสู้กันถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งครั้งที่ 3 รัฐบาลยอมแพ้ ถอนออกจากสภา นี่ก็เป็นปรากฏการณ์เห็นเด่นชัดนะครับว่า เมื่อมีเวลาเราก็จะร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่เห็นตรงกัน ในการรักษาไว้ซึ่ง 3 สถาบัน ไม่ได้หมายความว่าจะไปเรียกร้องให้ทหารออกมาทำอย่างโน้นอย่างนี้ หรือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ถ้าเห็นกลุ่มไหนเขาทำถูกต้อง เราก็สนับสนุน ตามที่เราออกแถลงการณ์นี้นะครับ

ถาม-

พล.ต.จำลอง- เรื่องนี้ทหารเขาจะเป็นห่วงมากกว่าผม เพราะผมเป็นทหารนอกราชการไปแล้ว มันยังไม่แน่นอนครับ ถ้าเราไปคุยว่าถ้าอย่างนั้นแล้วจะเป็นยังไง ถ้าอย่างนี้จะเป็นยังไง บางทีรัฐบาลเขาพูดไว้แล้วรัฐบาลก็เปลี่ยน คุณดูสิตั้งแต่รถคันแรก บ้านหลังแรก ก็เปลี่ยนมาเรื่อย ถ้าจะมาคุยกันก่อนล่วงหน้ามันคงจะคุยกันไม่จบไม่สิ้นนะ เอาไว้ให้มันแน่นอนก่อนดีกว่า

ถาม-

ปานเทพ- เราเห็นด้วยกับกระบวนการนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านก็ตาม ถ้าเป็นนักการเมืองที่ดีและตระหนักว่า การที่อัยการสูงสุดไม่ฎีกาคดีการหลีกเลี่ยงภาษีการขายหุ้นชินคอร์ป ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก็แสดงให้เห็นว่ามันมีลักษณะที่ผิดปกติ เนื่องจากกรณีนี้ศาลอาญา และศาลอุทธรณ์นั้น พิพากษาขัดแย้งกัน และยังมีประธานศาลอุทธรณ์แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับองค์คณะของศาลอุทธรณ์ เพียงแค่นี้ โดยบรรทัดฐานปกติของอัยการ ก็ต้องฎีกาแล้ว แต่การที่ไม่ฎีกาเช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย

เทียบกับกรณีของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ นะครับ ศาลชั้นต้นยก ศาลอุทธรณ์ยก แต่ว่าอัยการก็ต่อสู้ต่อ จนกระทั่งได้ชัยชนะที่ศาลฎีกา ทั้งที่เม็ดเงินนั้นแค่ 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้นเอง ต่างกับหลายร้อยล้านบาทของกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ก็แสดงให้เห็นว่าลักษณะแบบนี้ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย

เท่าที่ผมทราบตอนนี้ก็คือว่า มีนักการเมืองบางกลุ่มจะรวบรวมในการถอดถอนรายชื่อ โดยเข้าชื่อกันในระหว่าง ส.ส. วิธีนี้ง่ายที่สุด ไม่ต้องเปลืองแรงประชาชน เพียงแต่เราก็ถือว่าเราเห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว

พล.ต.จำลอง- แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะพันธมิตรฯ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ จะเห็นชัดเลยว่านักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่หลายต่อหลายท่าน บางท่านก็ออกมาให้สัมภาษณ์ ออกมาเขียนบทความ โดยแน่ชัดเลยว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริงๆ ของอัยการสูงสุด เช่น อดีตประธานศาลฎีกา เป็นต้น เห็นชัดเลยว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว กลายเป็นเสียงของผู้รู้ส่วนใหญ่ ที่เห็นว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง

พิภพ- ถ้าคุณดูประวัติการเขียนรัฐธรรมนูญ ตอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่คุณบรรหารมาแก้มาตราที่ว่าด้วยมาตราเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิด ส.ส.ร.1 จะเห็นว่าก่อนที่จะมีนโยบายของคุณบรรหารที่จะเสนอเป็นนโยบายให้ประชาชนเลือกว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็มามีกระแสการปฏิรูปก่อน เมื่อมีความล้มเหลวการบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น ถ้าจำได้ ก็มีการตั้งคุณหมอประเวศ วะสี เป็นคณะกรรมการทำการวิจัยเรื่องการปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปการเมือง จึงนำเนื้อหานั้นทั้งหมดเข้าไปใส่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปฏิรูป เพราะว่ามีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น เปลี่ยนประชาธิปไตยทางตรงอย่างเดียว เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม

พอรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ขยายความ เนื้อหาปฏิรูปตรงนั้นให้เข้มข้นขึ้น แต่บางเรื่องก็ถอยหลัง ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

ทีนี้ มาฉบับที่จะมีการนำเสนอการเขียนขึ้นใหม่ อย่างที่ผมกล่าวแล้วว่ามีการนำเสนอในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่อภิสิทธิ์กลับไปแก้เพียงแค่ 2-3 มาตรา เพื่อหวังผลการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตั้งผู้หลักผู้ใหญ่เป็นคณะกรรมการปฏิรูป เพราะฉะนั้นวันนี้มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะมีจุดมุ่งหมายไปสู่เกี่ยวกับเรื่องสถานะของคุณทักษิณ แต่ในเรื่องเนื้อหาของการปฏิรูป ไม่ได้มีการสร้างกระแสปูพื้นเลย เพราะฉะนั้นจึงจะถามคณะนิติราษฎร์ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่เห็นด้วยกับกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อมุ่งไปล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งอ้างว่าเป็นของ คมช. และอาจจะมีการเติมเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษกรรมลงไป ผมคิดว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยกระแสออกมานั้น ไม่นำพาในการแก้ไขปัญหาประเทศ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงได้สนับสนุนว่า จะต้องสร้างเนื้อหาการปฏิรูปก่อน และจะต้องไม่เข้าไปใน 2 ประเด็นที่เรากล่าวไปแล้ว คือ ประเด็นเรื่องพุทธศิลป์ และประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิรูปเราเห็นด้วย ถ้าปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังที่เราพูดบนเวที 158 วัน แล้วก็สร้างกระแสในเรื่องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ โดยรณรงค์เรื่องโหวตโน

ก็อยากจะบอกให้ชัดเจนว่าจุดยืนของเราก็คือ ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไม่มี 2 เรื่องนั้น

สอง จะต้องมีเนื้อหาในการปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปการเมือง รวมทั้งปฏิรูปอื่นๆ และตรง 5 กระบวนการนี้ขึ้นก่อน









กำลังโหลดความคิดเห็น