รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำนโยบายตามที่หาเสียงไปแล้วหลายเรื่อง ทั้งโครงการบ้านหลักแรก -รถยนต์คันแรก-การพักการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อทำให้ราคาน้ำมันถูกลง และอีกหนึ่งโครงการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งที่วันนี้ เริ่มคิกออฟกันไปแล้วเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
คือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555โดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักของโครงการนี้
สิ่งที่หลายฝ่ายอดจะเป็นห่วงไม่ได้กับโครงการจำนำข้าวมีหลายเรื่อง ประเด็นแรกที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหนัก ก็คือความหวั่นเกรงว่า จะทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น เมื่อมีการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาตันละ 1.5 หมื่นล้านบาท และข้าวหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท
หากมีการตีมูลค่าราคารับจำนำข้าวสูงแบบนี้ จะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดทั้งการส่งออกมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน จนทำให้การขายข้าวในตลาดโลกอาจขายได้น้อยลง
รวมทั้งข้อเป็นห่วงว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ข้าวสารมีราคาแพงขึ้น จะกระทบกับการครองชีพ-การกินอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ราคาข้าวถุง-ข้าวสวยที่ซื้อกันเป็นถุงกินกันในบ้านและที่ทำงานจะแพงขึ้น
แต่ “กิตติรัตน์”ที่ไม่ยอมรับฟังเสียงแห่งความห่วงใยใดๆมาก่อนหน้านี้ ก็บอกให้ความมั่นใจในส่วนนี้ว่าจะไม่มีผลกระทบมาก พร้อมการันตีว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่มีการทำอะไรที่มีลับลมคมในเหมือนที่ผ่านมา
ซึ่งเฉพาะประเด็นราคาข้าวถุงจะพุ่งสูงทางกระทรวงพาณิชย์อ้างว่าได้เตรียมการไว้แล้ว เช่นการเจรจากับเอกชนผู้ค้าข้าวถุง ให้นำข้าวหัก 20 % ที่ส่วนใหญ่ขายเป็นข้าวร้านอาหารตามสั่งมาบรรจุถุงขายราคาถูก
ก็ต้องติดตามรอดูสถานการณ์ในเวลาอันใกล้นี้ รัฐบาลจะสามารถตรึงราคาข้าวภายในประเทศได้อย่างที่คุยหรือไม่
แต่ที่ห่วงหนักสุดก็คือ วิธีการรับจำนำข้าวจะเปิดช่องให้มีการทุจริตในโครงการในแต่ละขั้นตอน ที่สุดท้ายคนที่จะได้ประโยชน์จริงๆ อาจไม่ใช่ชาวนา-เกษตรกร ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวที่ทักษิณ ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-กิตติรัตน์ ณ ระนอง และพรรคเพื่อไทยประกาศมาตลอดตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งจนถึงวันนี้ว่า นโยบายรับจำนำข้าวดีกว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แน่นอน ข้อเป็นห่วงส่วนนี้ก็คือ กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ จะเป็นเพียงคนไม่กี่กลุ่มนั่นคือพวกเจ้าของโรงสี -ผู้ส่งออกข้าว-พ่อค้าคนกลาง ที่เป็นคนรับจำนำข้าว ไม่ใช่เกษตรกร
ในเรื่องนโยบานรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”ได้ติดตามมาพบว่า ไม่ใช่ข้อเป็นห่วงแค่จากนักวิชาการอย่าง ดร.อัมมาร์ สยามวาลา ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอที่เคยออกมาแสดงความเป็นห่วงในโครงการรับจำนำข้าวว่า อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและเป็นห่วงเรื่องการทุจริต
แม้แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็เคยออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้นานร่วมเดือนว่าป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่มีในอดีต ป.ป.ช.เคยสอบสวนพบว่าการรับจำนำข้าวเปิดช่องให้มีการทุจริตเกิดขึ้นจำนวนมาก และป่านนี้ก็ยังมีคดีค้างคาอยู่ในชั้นป.ป.ช.
ทว่าทางรัฐบาลก็ให้คำยืนยันว่าการจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาท รอบนี้ของพรรคเพื่อไทยเป็นโครงการที่มีการศึกษาผลดีผลเสีย และมีการวางระบบเพื่อป้องกันการทุจริตไว้เป็นอย่างดีและพยายามทำให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการปรับวิธีรับจำนำใหม่ ดีไซน์โครงสร้างของโครงการให้แต่ละหน่วยงานมาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ
ทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ มาร่วมมือกันทำโครงการนี้
เพื่ออุดช่องโหว่ที่หลายคนเป็นห่วงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนกระทรวงมหาดไทยที่มียงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเป็นรมว.มหาดไทย ก็มีข่าวว่าให้ความสำคัญกับโครงการรับจำนำข้าวอย่างมาก เพราะหากทำดี ประชาชนชอบ ไม่มีข่าวการทุจริต รัฐบาลเพื่อไทยก็ได้คะแนนไปเต็มๆ
ทำให้ฝ่ายการเมืองในกระทรวงมหาดไทยมีข่าวว่า ขมีขมันกันมาตลอดหลายสัปดาห์ในการใช้กลไกของกระทรวง เพื่อทำให้โครงการรับจำนำข้าวประสบความสำเร็จให้มากที่สุด
ขณะนี้มีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการทั่วประเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด ต้องให้ความสำคัญกับโครงการนี้ของรัฐบาล ตัวผู้ว่าฯทั่วประเทศต้องเข้าไปกำกับดูแลการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน และต้องเข้าถึงเกษตรกรและโรงสีในพื้นที่อย่างแท้จริง
ที่สำคัญมีการสั่งการให้ผู้ว่าทั่วประเทศต้องเข้าไปตรวจสอบจุดรับจำนำข้าวด้วยตัวเอง และต้องสั่งให้ข้าราชการในพื้นที่ทำพยานหลักฐานต่างๆ เอาไว้ทุกขั้นตอน จนสิ้นสุดโครงการ รวมถึงการต้องดูแลห้ามไม่ให้มีข้าวหายไปจากโกดังเด็ดขาด
เรื่องนี้นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้ที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็ขานรับเต็มที่ต้องการแสดงฝีมือให้ประจักษ์ จนมีการสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ 5 ตุลาคมก่อนที่โครงการรับจำนำข้าวจะเริ่มในวันที่ 7 ต.ค. 2554 โดยเน้นย้ำสั่งการให้ ผวจ.ศึกษานโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้เข้าใจอย่างแท้จริง และบูรณาการการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ เกษตรกรชาวนา
“ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบการรับจำนำข้าว ในระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผวจ.เป็นประธาน โดยต้องกำกับดูแลการดำเนินงานทุกขั้นตอนของการรับจำนำ ตรวจ สอบโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งก่อนเข้าร่วมระหว่างดำเนินการและภายหลังสิ้นสุดโครงการ โดยให้จัดทำข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานในรูปแบบวีซีดีโดยทางผวจ.ต้องรับผิดชอบ ดูแลตรวจสอบป้องกันมิให้เกิดการทุจริต
หากพบความผิดต้องลงโทษคนผิดอย่างจริงจัง จังหวัดสามารถตั้งคณะอนุกรรมการระดับอำเภอ ให้เข้ามามีส่วนร่วม กำกับดูแลพื้นที่อำเภอ ที่เป็นที่ตั้งของโรงสีอย่างใกล้ชิด โดยให้นายอำเภอเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ ในส่วนของหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการรับจำนำ ได้กำชับให้อำเภอชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำท้องถิ่น เพื่อนำไปถ่ายทอดให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบอย่างถูกต้อง”
ส่วนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ภาครัฐก็กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าต้องผ่านการตรวจสอบและวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50% ของมูลค่าข้าว กำหนดให้รับจำนำได้ไม่เกิน 30 เท่าของกำลังการผลิต และหากโรงสีจะไปรับจำนำข้ามเขตต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 100% โดยพบว่า โรงสีทั่วประเทศได้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวแล้ว 200 โรง ในพื้นที่ 55 จังหวัด
จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับโครงการนี้มาก เพราะต้องเข้าใจว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา นอกจากกระแสทักษิณ ชินวัตร-เสื้อแดงในกลุ่มคนรากหญ้า เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ทั่วประเทศแล้ว
นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยหลายเรื่องก็โดนใจประชาชน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนต่างจังหวัด-เกษตรกร ที่ขานรับนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.5 หมื่นบาทและข้าวหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาทอย่างมาก ชาวนาชาวไร่คนรากหญ้าจึงพากันเลือกพรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งที่ผ่านมาโดยเฉพาะที่อีสาน
ตัวอย่างเช่น ร้อยเอ็ด ที่มีข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดโนโลกอย่างข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้อยู่ ที่ชาวนา เกษตร ต่างก็ชอบนโยบายนี้จึงพากันเลือกส.ส.เพื่อไทยชนะยกจังหวัดร้อยเอ็ด
รัฐบาล จึงต้องให้ความสำคัญกับโครงการนี้และต้องไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นเด็ดขาด ไม่เช่นนั้น มีผลต่อคะแนนนิยมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยแน่นอน หากว่าทำแล้วไม่เวิร์คล้มเหลวคือ เกษตรกร ชาวนา ไม่ได้ประโยชน์ คนได้มีแต่พวกนายทุน
หรือทำแล้วขาดทุนบักโกรกอย่างที่บางฝ่ายวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ จน กิตติรัตน์ รมว.พาณิชย์ ต้องออกมาการันตีว่าถ้าโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเกินกว่านโยบายประกันรายได้ของประชาธิปัตย์ที่ใช้เงินไป 6 หมื่นล้านบาทเพื่อชดเชยในระบบประกันรายได้เกษตกร
รัฐบาลและตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการ ก็พร้อมแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออก
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มเดินหน้า ก็มีการเปิดเผยผลสำรวจของศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ที่เผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศ 31 แห่ง จำนวน 67 คน ในหัวข้อ“อนาคตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี : ใครกำไร ใครขาดทุน?” เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 26 ก.ย. - 3 ต.ค.54
ผลโพลดังกล่าวชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ 50.7% เชื่อว่า ราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ ชาวนา จะได้จะต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศไว้ ขณะที่ 38.8% เชื่อว่า ราคารับจำนำที่ชาวนาจะได้จะเท่ากับราคาที่รัฐบาลประกาศไว้
ส่วนการทุจริตคอร์รัปชั่น นักเศรษฐศาสตร์ 82.1% เชื่อว่า จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นแน่นอน เพียง 4.5% เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริต
แค่ยังไม่เริ่มต้น คนก็อดเป็นห่วงแล้วว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงเป็นงานหนักของ “ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์”อย่างมากในการไม่ให้มีทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา รัฐบาลพัง แน่นอน !