xs
xsm
sm
md
lg

เอาอีกแล้ว...อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีฉาว CTX-ปล่อยกู้กรุงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัยการกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) งัดข้อกันอีกแล้ว! ในการสอบสวน 2 คดีสำคัญที่รับไม้ต่อทำคดีสอบสวนทุจริตมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คือ

คดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกอีกหลายสิบคน อาทิ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม-ศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานบอร์ด ทอท.และบทม. โดย คตส.ชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,

เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ม.157 และผู้ใดโดยทุจริตหลอกหลวงผู้อื่นด้วยข้อความ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกโดยการหลอกหลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลที่สามผู้นั้นมีความผิดฐานฉ้อโกง ม.341 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.83, 86 และ 90 และการผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล ) พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 11, 12 และ 13 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และ 11

กับอีกหนึ่งคดี คือ คดีการอนุมัติเงินกู้ของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยให้แก่บริษัทเอกชนเช่นกลุ่มเครือกฤษดามหานคร วงเงินหลายร้อยล้านบาท ที่ คตส.และป.ป.ช.ตั้งข้อหาผู้ถูกชี้มูลความผิดรวม 31 ราย

มี ทักษิณ ชินวัตร และอดีตผู้บริหารและบอร์ดธนาคารกรุงไทยรวมอยู่ด้วย ในความผิดมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย เป็นองค์กรของรัฐอนุมัติสินเชื่อให้ 3 บริษัทเอกชนเป็นการกระทำโดยทุจริตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ธนาคารแต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 31 ราย

ปรากฏว่า ทั้งสองคดีคณะทำงานร่วมอัยการที่โต้โผหลักคืออัยการคดีพิเศษยุคที่มี นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นแกนหลัก ในฐานะอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ทางอัยการเห็นควรให้ยุติคดี พูดง่ายๆ ก็คือ

“ไม่เห็นควรสั่งฟ้อง”

แต่ทาง ป.ป.ช.เห็นด้วยกับ คตส.ที่ชี้มูลความผิดสองคดีนี้กับผู้กระทำผิดรวมหลายสิบคน คือเห็นควรให้ต้องฟ้องศาล

สุดท้ายก็เลยกลายเป็นว่า ทั้งคดีซีทีเอ็กซ์ และคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย เมื่ออัยการไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการยื่นฟ้องต่อศาลเองซึ่งตามข่าวจะมีการยื่นฟ้องต่อทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลอาญา

สัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการสูงสุด คือ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ก็เพิ่งมีความเห็น “ไม่ฎีกา” คดีหลบเลี่ยงการเสียภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ที่มีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร-บรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานชินคอร์ปและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เป็นอดีตจำเลย ทำให้คดียุติไปทันที

จนฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องถอดถอนอัยการสูงสุดออกจากตำแหน่งต่อประธานวุฒิสภา ล่าสุดมาปรากฏเป็นข่าวอีกสองคดีที่อัยการ เห็นควรไม่สั่งฟ้อง คดีของ คตส.อีก

เท่ากับหนึ่งสัปดาห์ คดีที่เป็นผลผลิตมาจาก คตส.ทั้งสามคดีมาปรากฏเป็นข่าวพร้อมๆ กันคือ คดีหลบเลี่ยงการเสียภาษีการโอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ-คดีซีทีเอ็กซ์ และคดีปล่อยกู้กรุงไทย อัยการขอยุติเรื่อง ไม่ฟ้อง-ไม่ฎีกา

มันผิดปกติหรือไม่ สาธุชนโปรดไตร่ตรอง

ถ้าทั้งสามเรื่องเป็นคดีสอบสวนการทุจริตแบบปกติ ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของ คมช. และเป็นการสอบสวนเอาผิดกับทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัว

อัยการจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้หรือไม่ จุดนี้คือข้อสงสัยจากสังคม

ว่ากันตามจริง คดีซีทีเอ็กซ์ และคดีปล่อยกู้กรุงไทย ที่อัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ทาง ป.ป.ช.หรือแม้แต่พวกอดีต คตส.รวมถึงคนในสังคมที่ติดตามการทำงานของ ป.ป.ช.กับอัยการมาตลอด จะไม่ค่อยแปลกใจอะไรมากนัก เพราะดูแล้ว อัยการสั่งไม่ฟ้องแน่นอน ไม่อย่างงั้นคงไม่ยื้อเรื่องมาหลายปี

อย่างคดีซีทีเอ็กซ์ จริงๆ แล้วจบในชั้น คตส.ด้วยซ้ำ โดยทางอดีต คตส.มีการนำเอกสารสำนวนพยานหลักฐานนับหมื่นหน้าไปยื่นให้อัยการคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่คตส.จะหมดวาระเสียด้วยซ้ำ แต่ทางอัยการก็ไม่ยอมฟ้องเสียที

จนเมื่อ คตส.หมดวาระ ป.ป.ช.มารับไม้ต่อ ก็มีการยื้อกันเป็นปีๆ จนอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย คือ ป.ป.ช.กับอัยการ มาพิจารณาสำนวนร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ ก็ประชุมใช้เวลานานเป็นปีๆ ตกลงกันไม่ได้เสียที

จนมีข่าวว่าเมื่อปลายเดือนสิงหาคมและกันยายน ทาง ป.ป.ช.ก็รู้คำตอบแล้วว่าอัยการยังไงก็สั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเหตุผลที่อัยการบอกกับ ป.ป.ช.ว่าฟ้องให้ไม่ได้ ก็เป็นข้ออ้างเดิมๆ

“พบข้อไม่สมบูรณ์”ในสำนวนคดี จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง

เหมือนกับอีกหลายคดีที่อัยการไม่ฟ้องคดีของ คตส.-ป.ป.ช.เกือบทั้งสิ้น ก่อนหน้านี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็คดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานคร และล่าสุดที่ทำให้อัยการถูกวิจารณ์อย่างมากว่าไปตัดตอนคดีเสียเอง คิดว่าตัวเองเป็นศาลฎีกา เลยไม่ยอมฎีกาคดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นบริษัทชินวัตรฯ

อันทำให้ จุลสิงห์โดนวิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหตุผลคำโต้แย้งที่ยกเหตุมาอ้างในการไม่ฎีกา นักกฎหมายหลายคนฟังแล้วต่างบอกว่าไม่ค่อยมีน้ำหนักมาสนับสนุนได้เลย

เพราะคดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นฯ อัยการก็เป็นฝ่ายยื่นฟ้องเอง ว่าความเองจนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 จำเลย พจมาน-บรรณพจน์-กาญจนาภา แบบไม่รอลงอาญา แม้ศาลอุทธรณ์จะให้ยกฟ้องพจมานและกาญจนาภา และลดการลงโทษบรรณพจน์โดยหลักเมื่อสองศาลตัดสินแตกต่างกันก็ควรให้ศาลฎีกาชี้ขาดก็เป็นเรื่องที่สมควรต้องทำแต่อัยการสูงสุดกลับไม่ยอมยื่นฎีกา

มาคราวนี้ ที่อัยการเห็นควรไม่ฟ้องคดีซีทีเอ็กซ์-คดีปล่อยกู้กรุงไทย ก็พบว่าอัยการก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุผลต่างๆ

หรืออาจเป็นเพราะเห็นว่าช่วงนี้งานเข้า อัยการเยอะ สู้เก็บตัวเงียบไม่แจงสื่อ แต่ไปแจงองค์กรที่จะมีผลผูกพันโดยตรงดีกว่า

จึงมีข่าว จุลสิงห์ อัยการสูงสุด กำลังเตรียมตัวอย่างดีที่จะไปชี้แจงต่อกรรมาธิการของวุฒิสภาในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ในเรื่องการไม่ฏีกาคดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นบริษัทชินวัตร เพราะกระบวนการถอดถอนนั้น สุดท้ายหากประชาธิปัตย์ทำจริง แล้วยื่นเรื่องไปที่ ป.ป.ช. ฝ่ายที่จะลงมติถอดถอนอัยการสูงสุดก็คือ สว.นั่นเอง

แม้ตามกฎหมายอัยการฉบับปัจจุบันจะมีการเขียนไว้คุ้มครองการสั่งคดีของอัยการเอาไว้อันทำให้ยากต่อการเอาผิดอัยการได้ แต่รัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติเรื่องกระบวนการถอดถอนอัยการสูงสุดหากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเอาไว้ จุลสิงห์เองก็อยากเคลียร์ตัวเองกับวุฒิสภาอยู่แล้ว จึงไม่พลาดที่จะไปชี้แจงต่อ ส.ว.เรื่องไม่ฎีกาคดีภาษีในวันพุธนี้

แล้วก็ปล่อยให้เรื่องซีทีเอ็กซ์-ปล่อยกู้กรุงไทยเงียบหายไปเอง หลังจากที่ปิดเงียบมานาน ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่มีใครยอมเปิดเผยให้สังคมรู้อย่างเป็นทางการ กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น