สร้างความประหลาดใจและค้านสายตาสังคมอย่างมาก
กับการที่จู่ๆ อัยการก็ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เอาผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับพวกรวม 27 ราย ในคดีทุจริตการอนุมัติสินเชื่อหรือเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มบมจ.กฤษดามหานครเมื่อวันพุธที่13มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
หลังจากคดีนี้ยืดเยื้อมานานในชั้นคณะกรรมการป้องกันและและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่รับสำนวนมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ตั้งแต่ปี 2551 แต่มาฟ้องเอาในปี 2555ทั้งที่ตอนคตส.โอนสำนวนมาให้ป.ป.ช.การสอบสวนก็แล้วเสร็จไปเกือบ 70 เปอร์เซนต์แล้ว แต่มีข่าวว่าเหตุที่ล่าช้าเป็นเพราะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง
“ป.ป.ช.กับอัยการ”
ในการทำความเห็นสั่งฟ้องผู้ถูกคตส.-ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบางคน จึงทำให้มีการหารือกันหลายรอบ เพราะอัยการอ้างว่าคดีพบข้อไม่สมบูรณ์ จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายคือป.ป.ช.กับอัยการ จนหลายคนคิดเอาว่าสุดท้ายป.ป.ช.คงต้องยื่นฟ้องเอง แต่แล้วจู่ๆ อัยการสูงสุด จุลสิงห์ วสันต์สิงห์ก็เห็นชอบให้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ
อันเป็นการยื่นฟ้องคดีในช่วงที่อัยการถูกสังคม ตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่หลายกรณี
ทั้งที่ไปแถลงข่าวสรุปความเห็นอัยการไม่รับเรื่องที่กลุ่มบุคคลหลายกลุ่มยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา68หรือไม่
ทั้งที่มีการยื่นเรื่องให้อัยการนานแล้วแต่อัยการกลับเพิ่งมาแถลงข่าวเอาในวันที่7 มิถุนายน2555ก่อนหน้าการประชุมรัฐสภาที่ฝ่ายเพื่อไทยและสมาชิกวุฒิสภากำลังจะลงมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชลอการโหวตแก้ไขรธน.วาระ3 เพียงวันเดียวคือวันที่8มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
จนสังคมตั้งข้อสงสัยว่าอัยการกำลังทำอะไรอยู่ ทำไมต้องมารีบแถลงข่าวก่อนการประชุมรัฐสภาครั้งสำคัญเพียงวันเดียวและผลสรุปของอัยการที่ไม่รับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง”ให้กับฝ่ายส.ส.เพื่อไทย และรัฐมนตรีหลายคนนำไปยกเป็นเหตุผลในการจะให้รัฐสภาโหวตไม่รับคำสั่งศาลรธน.และให้โหวตแก้ไขรธน.วาระ3 ด้วยการบอกว่าข้อสรุปของอัยการแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญที่ไปรับคำร้องในเรื่องเดียวกัน ศาลรธน.ได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่
จึงไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถามถึงท่าทีของอัยการที่สอดรับกับความพยายามดันทุรังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยอย่างกว้างขวาง
ดังนั้นเมื่อจู่ๆ อัยการยื่นฟ้องทักษิณกับพวกในคดีทุจริตปล่อยกู้แบงค์กรุงไทยฯ ในช่วงที่อัยการกำลังโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
จึงมีการตั้งข้อสังเกตุตามมาเช่นกันว่า หรือเป็นเพราะอัยการต้องการแสดงให้เห็นว่า เป็นอิสระทางการเมือง ไม่ได้มีการทำงานอะไรในทางที่จะเป็นคุณต่อรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีการยื่นฟ้องเอาผิดระดับ ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย
ซึ่งก่อนหน้านี้การทำความเห็นสั่งคดีของอัยการในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง ก็ถูกหลายฝ่ายตรวจสอบอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นที่เมื่อเร็วๆนี้ พรรคฝ่ายค้านคือมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวทวงถามความคืบหน้าคดีปล่อยกู้กรุงไทยฯ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนโดยแสดงความข้องใจว่าทำไมคดีนี้และอีกหลายคดีของป.ป.ช.ในชั้นอัยการ จึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ
และตามด้วยการที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ก็รุกหนักให้ นายถาวร เสนเนียม แกนนำพรรคไปยื่นเอกสารต่ออัยการสูงสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอสำเนาเอกสารความเห็นของอัยการสูงสุดที่สั่งยุติคดีไม่อุทธรณ์คดีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร ในคดีเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรฯ ทั้งที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้เอาผิดคุณหญิงพจมาน
“ทีมข่าวการเมือง”ไม่อยากมองอัยการในทางไม่ไว้วางใจหรือคลางแคลงการทำงานกับเรื่องที่ยื่นฟ้องคดีกรุงไทยฯ ในช่วงนี้ เพียงแต่นำสิ่งที่กระแสสังคมตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งคำถามกับอัยการอีกทีหนึ่ง
เพราะ อัยการกับป.ป.ช.มีการสรุปความเห็นในคดีปล่อยกู้กรุงไทยฯ เสร็จมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เกิดกรณีอัยการแถลงข่าวไม่รับคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีวันเวลาที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้าว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯเมื่อ13 มิถุนายน2555 ที่ผ่านมาพอดี
อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ปรากฏซึ่งอัยการได้มีการให้คณะทำงานอัยการคดีพิเศษในคดีปล่อยกู้กรุงไทยฯ นำเอกสาร จำนวน 150 แฟ้ม รวม 17 ลัง ไปยื่นฟ้องทักษิณ ชินวัตร กับพวกที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย เช่น อดีตประธานและบอร์ดธนาคารกรุงไทยฯในช่วงเกิดเหตุ และผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ได้รับเงินกู้ดังกล่าว คือกลุ่มบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)
ตามสำนวนคำฟ้อง อัยการได้ระบุความผิดของทักษิณกับพวกไว้โดยสรุปว่าได้ร่วมกันเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และความผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 เพราะทั้งหมดมีพฤติการณ์ความผิดคือ อนุมัติสินเชื่อของธนาคารจำนวนมากโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของรัฐ เนื่องจากผู้ได้รับสินเชื่อคือ กลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร แต่กลับมีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครจำนวนมาก จึงถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก
ซึ่งในสำนวนคำฟ้องของอัยการ ไม่ปรากฏว่ามีการยื่นฟ้อง “พานทองแท้ ชินวัตร”ลูกชายทักษิณแต่อย่างใด ทั้งที่ในสำนวนการสอบสวนของคตส.มีการสอบสวนและทำความเห็นจากคณะอนุกรรมการไต่สวนของคตส.ชงเข้าที่ประชุมใหญ่คตส.ให้ชี้มูลความผิดพานทองแท้ ชินวัตรด้วย
แต่จากข่าวที่ปรากฏตามการให้สัมภาษณ์ของผู้รับผิดชอบคดีโดยตรงคือ วินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกอัยการสูงสุดและอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้เมื่อ 13 มิ.ย. 2555ยืนยันว่าอัยการไม่ได้ยื่นฟ้องเอาผิดพานทองแท้ แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ถึงเหตุผลที่ พานทองแท้ ชื่อหลุดไปในชั้นการฟ้องคดีรวมถึงอีกหลายคนจากเดิมที่ในชั้นคตส.มีการชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง3กลุ่มคือ กลุ่มนักการเมืองและคนใกล้ชิดนักการเมือง-กลุ่มผู้บริหารและผู้อนุมัติการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยและกลุ่มผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ได้รับสินเชื่อเช่น บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด, บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียล พาร์จ จำกัด และกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งคตส.ให้เอาผิดรวมเกือบ37 คน แต่ในชั้นการฟ้องคดี อัยการและป.ป.ช.ได้มีการยื่นฟ้องเอาผิดแค่ 27 คน
คำถามจึงเกิดขึ้นว่า คนที่หายไปหลุดไปเพราะเหตุผลใด ก็พบว่ายังไม่มีคำชี้แจงแถลงไขอย่างเป็นทางการจากฝ่ายอัยการที่เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
“ทีมข่าวการเมือง”จึงเห็นว่าเพื่อให้ทุกอย่างเกิดความกระจ่างชัด ฝ่ายอัยการหรือป.ป.ช.ควรร่วมกันชี้แจงที่มาที่ไปของการยื่นฟ้องคดีนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบทุกข้อสงสัย
อย่างเรื่องที่ว่า ทำไมต้องยื่นฟ้อง ทักษิณ ชินวัตรด้วย คำถามนี้ก็เชื่อว่าหลายคนก็สงสัยไม่น้อย โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้ติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้น ก็ต้องเกิดความสงสัยกันมากว่า เรื่องการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย แม้จะเกิดขึ้นสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมันเกี่ยวอะไรด้วยกับทักษิณ เพราะเป็นเรื่องของธนาคารกับบริษัทเอกชน แม้ธนาคารกรุงไทยจะเป็นธนาคารของรัฐก็ตาม
หากคนซึ่งไม่เข้าใจไม่ทราบเรื่องว่าทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องสั่งการใดๆ ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ก็ย่อมจะเกิดความรู้สึกว่า ทักษิณโดนกลั่นแกล้งหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความเป็นธรรมกับทักษิณหรือไม่ จะกลายเป็นเรื่องที่อาจมีคนบางกลุ่มนำเรื่องนี้ไปบิดเบือนได้
“ทีมข่าวการเมือง”จึงเห็นว่าเมื่อคดีมีการฟ้องต่อศาลไปแล้วและ ศาลได้รับคำร้องไว้แล้วแต่ได้นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่ในวันที่25 ก.ค. นี้
หากจะมีการแจงปมข้อสงสัยต่างๆ จากอัยการและป.ป.ช.ที่อธิบายความเป็นมาของคดีนี้ ให้สังคมเข้าใจง่ายๆ ก็ไม่น่าจะเป็นก้าวล่วงการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด
เพราะไหนๆ ก็เป็นคดีแรกซึ่งป.ป.ช.รับโอนมาจากคตส.แล้วอัยการในยุคจุลสิงห์เป็นอัยการสูงสุด เห็นชอบให้มีการยื่นฟ้องต่อศาลฯ ก็ควรทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัดไปเลย น่าจะดีกว่าในการกู้ชื่อให้กับอัยการไม่ใช่หรือ?