xs
xsm
sm
md
lg

รัฐแจงเขื่อนใหญ่ยังรองรับน้ำได้แม้เกิน 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมชลประทาน แจงตามคำสั่งนายกฯ แจงเขื่อนกักน้ำทะลุ 100% ไม่ได้หมายความว่าล้นเขื่อน ยันตรวจสอบตลอด รับประสาน กทม.ดูระดับน้ำ ด้านการไฟฟ้ายันเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ยังปลอดภัย โยธายันผันน้ำเข้าสุพรรณฯ แล้ว อ้างฝั่ง ตอ.คันน้ำพังทำคุมน้ำไม่ได้

วันนี้ (3 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชูชาติ ฉุยกลม วิศวกรใหญ่กรมชลประทาน นายกิตติ จันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าพลังน้ำ และนายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา รวมแถลงข่าวกรณีที่หลายเป็นห่วงสถานการณ์ในเขื่อนว่าเกิน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยนางฐิติมากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงเป็นห่วงถึงสถานการณ์น้ำ จึงได้มีบัญชาให้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทางการยังสามารถรับมือ

นายชูชาติกล่าวว่า คำว่าการกักเก็บน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนนั้น คือการคำนวณไว้แล้วว่า จะอยู่ในระดับเก็บกักของทุกเขื่อนที่สันฝายของเขื่อน ที่เกินไปกว่านั้นคือน้ำจะสูงขึ้นแต่ไม่เป็นอันตราย เรียกว่าระดับน้ำสูงสุด อยู่ในระดับที่เราเผื่อไว้ของตัวเขื่อน อยู่ที่ประมาณ 3-5 เมตร เพราะฉะนั้นการที่น้ำเกินกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หมายความว่าน้ำยังอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งได้มีการคำนวณไว้แล้วเผื่อความแข็งแรงของเขื่อนทุกกรณีไว้แล้วไม่ว่าเขื่อนไหนก็ตาม ส่วนน้ำจะสูงสุดหรือมีปริมาณมากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละเขื่อนโดยขึ้นอยู่กับการดีไซน์ จะเห็นว่า บางเขื่อนน้ำมาเร็วเราจะเผื่อไว้สูงหน่อย บางเขื่อนน้ำมาปกติเราจะเผื่อไม่มากนัก ซึ่งตรงนี้ที่บางคนสงสัยเรื่องที่ว่า น้ำในเขื่อน 100 เปอร์เซ็นต์แล้วนั้น เหตุที่ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ น้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 100 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว อันนั้นมีการล้นผ่านสปริงเวย์ เมื่อน้ำล้นผ่านสปริงเวย์ไปแล้ว ก็จะมีคำนวณไว้อีกว่า เมื่อระดับน้ำสูงสุดจะผ่านได้อีกเท่าไร จากระดับน้ำสูงสุดในกรณีที่มีพายุก็จะมีระดับเผื่อไว้อีกถึงระดับสันเขื่อนอีก 3-5 เมตร เขื่อนขนาดใหญ่อาจจะ 8 เมตร เพราะฉะนั้นมั่นใจว่า ได้มีการบริหารจัดการเก็บกักน้ำด้วยความมั่นคงตลอด จะเห็นว่าบางเขื่อนข้อมูลการเก็บกักน้ำเมื่อถึง 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็จะมีการลดระดับลงมาเหลือ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องของการระบายและการบริหารจัดการน้ำ

นายชูชาติกล่าวอีกว่า เขื่อนทั้งหมดของเราได้มีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ก่อนถึงช่วงมรสุมเราก็มีตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงที่มีน้ำลงเขื่อนเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอยู่ตลอด และมีเครื่องมือเช็ควัดความมั่นคงของตัวเขื่อน ปริมาณที่ซึมในตัวเขื่อน และแรงดันน้ำภายในเขื่อนมีหมด ทางกรมชลประทานให้ความมั่นใจได้เลยว่า เรามีระบบการบริหารจัดการ ออกแบบความมั่นคงของตัวเขื่อนได้อย่างสมบูรณ์ถึงแม้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินก็ตาม ที่ผ่านมาปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ความแข็งแรงมั่นคงอยู่ในระดับที่เราควบคุมได้ ส่วนเรื่องปริมาณน้ำนายกฯ ได้ย้ำให้ทางกรมชลประทานประสานกับทาง กทม.ตลอดเวลา เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำที่ผ่านบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ทาง กทม.มีการบริหารจัดน้ำที่เหมาะสมป้องกันตลอดเวลา มั่นใจได้กรมชลฯ ประสานกับทาง กทม.อยู่ตลอดเวลา

ด้านนายกิตติกล่าวว่า ภาพใหญ่ที่น้ำเต็มเขื่อนคือเขื่อนภูมิพล อยู่ที่ 94.30 เปอร์เซ็นต์ อยู่ 2.49 เมตร เขื่อนสิริกิตต์ 98.94 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 39 เซนติเมตรก็จะเต็มเขื่อน หลักการของเขื่อนดินจะให้น้ำเกินแกนดินเหนียวไม่ได้ ฉะนั้นยังสามารถเก็บน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ได้นิดหน่อย สำหรับเขื่อนภูมิพลที่เป็นเขื่อนคอนกรีตอยู่ที่ระดับสูงสุด 260 ระดับสันเขื่อน 262 เขื่อนภูมิพลหากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องรีบพร่องน้ำ สำหรับเขื่อนสิริกิตติ์ยังมีช่องว่างอีก ขอยืนยันความมั่นคงปลอดภัย ที่ผ่านมาเขื่อนสิริกิตติ์เคยเก็บน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ 2 ครั้ง เก็บได้ถึงสูงสุด 162.52 เมตร ส่วนเขื่อนภูมิพลก็สามารถเก็บได้ 2 ครั้ง สูงสุดอยู่ที่ 260.14 เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการบริหารจัดการการดูแลเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ดูแลอย่างดี

ด้าน นายวีรชัยกล่าวว่า เขื่อนของการไฟฟ้าได้ออกแบบเพื่อรับแรงต่างๆ และมาตรการที่เรามี เมื่อน้ำเก็บกักถึง 90 % จะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าเขื่อนสามารถรับแรงดันน้ำได้หรือไม่ พร้อมทั้งจะมีวอร์รูมเพื่อเฝ้าระวังเมื่อน้ำเต็มเขื่อน และประเมินสถานการณ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเจ้าหน้าที่จะประสานงานกันอย่างทันท่วงที ส่วนกรณีเขื่อนลำพระเพลิง ขณะนี้ได้กักเก็บน้ำอยู่ที่ 90% หรือประมาณ 100 ลบ.ซม. ซึ่งยังสามารถรองรับได้อีก 100 ลบ.ซม. เช่นเดียวกัน จึงถือว่ายังมีความมั่นคงอยู่ในระยะที่ควบคุมได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ประสบอยู่เนื่องจากปีนี้น้ำมีระดับที่เกินความคาดหมาย ซึ่งบทเรียนครั้งนี้ต้องมีการเรียนรู้ มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งกรมชลประทานในฐานะที่ดูแลจัดการบริหารทุกภาคส่วนต้องนำข้อมูลมาดูเพ่อจัดมาตรการให้ผลกระทบน้อยลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะต่างคนต่างทำใช่หรือไม่ นายวีรชัยกล่าวว่า เรามีการทำวอร์รูมร่วมกับกรมชลประทานทุกวันจันทร์ มีการโทรศัพท์พูดคุยกันทุกวัน เพื่อบูรณาการการทำงาน แต่ต้องยอมรับว่าปีนี้น้ำมากจริงๆ เมื่อถามต่อว่า เป็นความจริงหรือไม่ว่าไม่ได้มีการผันน้ำไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี นายวีรชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วเราได้ผันน้ำลงไป 300 ลบ.ชม.ต่อวินาที และสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมพอสมควร ซึ่งเราได้พยายามผันลงไป แต่ที่ฝั่งตะวันออกมีปัญหามากเนื่องจากคันกั้นน้ำขาดหลายจุด จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมทิศทางน้ำ

เมื่อถามว่า ต้องมีการปรับแผนการทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นอีก นายสุชาติกล่าวว่า ต้องเอาบทเรียนมาประมวลร่วมกัน หาเครื่องมือเพื่อการจัดการเขื่อนปริมาณน้ำ ซึ่งการจัดหาเครื่องมือขึ้นอยู่กับกำลังที่จะจัดการได้ ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในทำเลยน้ำท่วม ต้องพยายามป้องกันขณะนี้ภาวะของโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่เครื่องมือที่เรามีอยู่ยังคงเดิม ซึ่งเราต้องหาวิธีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อตามทันสถานการณ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น