xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สมชาย จี้ “ปู” แก้น้ำท่วมด่วน เทียบแกะรอยมือแฮกข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย แสวงการ
ส.ว.สรรหา ทวงถามมาตรการแก้อุทกภัย จี้ บูรณาการป้องกันระยะยาว ด้าน รมว.เกษตรฯ ลั่นอัดงบช่วยเหลือเต็มที่ คาด กลางเดือนนี้น้ำหนุนอีก แต่เตรียมรับมือแล้ว “สมชาย” แนะฟัง “ผู้เฒ่าจิ๋ว” ให้แก้ปัญหาอย่างมีสติ แขวะแก้น้ำท่วมไม่เร็วเท่า แกะรอยมือดีแฮกทวิตเตอร์นายกฯ ด้าน “มณเฑียร” วอนรัฐเหลียวแลผู้ด้อยโอกาส ขณะที่ ส.ว.ยโสธร หนุนผุดเขื่อน “แก่งเสือเต้น-แม่วงก์” อุ้มน้ำภาคเหนือ

วันนี้ (3 ต.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา ได้ตั้งกระทู้ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดย นายอนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง และได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งด้านความเป็นอยู่ สาธารณูปโภค อาหาร ยารักษาโรค ปศุสัตว์ และพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 4 ล้านไร่ มีประชาชนประสบปัญหาเดือดร้อนกว่า 6 แสนครัวเรือน มูลค่าความเสียหายกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

“รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา และมาตรการช่วยเหลือที่เร่งด่วนอย่างไร รวมไปถึงแนวทางในการผันน้ำลงพื้นที่เกษตร อีกทั้งมาตรการรับมือและการทำงานอย่างบูรณาการในระยะยาวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง” นายอนุรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรสหกรณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้แทน โดยได้ระบุว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ และได้กำชับให้รัฐมนตรีให้ไปแก้ไขกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อความรวดเร็ว ส่วนมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หลักใหญ่เป็นการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความช่วยเหลือโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ป้องกันบรรเทาพื้นที่ตัวเองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โดยยึดหลักในการช่วยเหลือตามสภาพผู้ประสบภัยในระเบียบของกระทรวงการคลัง เรื่องเงินช่วยเหลือ กำหนดวงเงินให้ผู้ว่าฯจังหวัดละ 50 ล้านบาท อำเภอละ 5 แสน ท้องที่ใดใช้เกินจากที่กำหนดก็สามารถรายงานผู้ว่าฯ เพื่อขอเพิ่มเติมได้ ขณะนี้มีรายงานว่าเงินช่วยเหลือไม่เพียงพอใน 21 จังหวัด จึงได้อนุมัติขยายวงเงินเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท ตามความเสียหาย

“ล่าสุด รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 ด้าน เพื่อบริหารจัดการน้ำและดูในภาพรวมทั้งหมด และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง และมีปริมาณน้ำฝนมาก จึงวางมาตรการป้องกันเบื้องต้นไว้แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะผันน้ำลงพื้นที่เกษตรอย่างแน่นอน แต่ใช้วิธีป้องกันแทน” รมว.เกษตรฯ กล่าว

ก่อนหน้านั้น ในช่วงการหารือเรื่องทั่วไปก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้หารือว่า อุบัติภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 200 คน ถือเป็นความเศร้าของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ทั้งการทะเลาะเบาะแว้งของประชาชน เรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ หรือข่าวที่มีผู้กักน้ำไม่ให้เข้าพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ตนอยากให้รัฐบาลฟังความคิดเห็นของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งสติในการแก้ไขปัญหา และควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาระยะยาวมากกว่า

“การแก้ไขปัญหาของประชาชนควรเร่งทำโดยด่วนให้เหมือนกับการแกะรอยทวิตเตอร์ของนายกฯที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งดำเนินการติดตามคนทำผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนควรดำเนินการให้ได้อย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเช่นกัน” นายสมชาย กล่าว

ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา กล่าวในประเด็นเดียวกัน ว่า กลุ่มเป้าหมายที่กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งมักเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับความช่วยเหลือและเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม จึงขอฝากไปยังรัฐบาลควรให้ความสำคัญ โดยมีการกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเป็นหลักการที่สามารถปฏิบัติได้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสระยะยาวต่อไป

ขณะที่ นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคกลาง พบว่า การที่มีปริมาณน้ำมากผิดปกติ เป็นเพราะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง และประเทศไทยยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำยมที่มีปริมาณน้ำปล่อยทิ้งจำนวนมาก ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะต้องกล้าตัดสินใจโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ โดยเรื่องดังกล่าวมิได้เป็นความเห็นกรรมาธิการแต่เป็นความเห็นตรงกันของผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคเหนือ ทั้งนี้เพราะเป็นความจำเป็นที่ต้องมีเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น