กฟผ.แจงมาตรการรับมือน้ำล้นเขื่อน ยันมีการตรวจสอบความแข็งแรงใกล้ชิด มั่นใจทั้ง 6 แห่งปลอดภัย ส่วนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ศูนย์เฉพาะกิจจะรายงานต่อจังหวัด เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบทันที กปน.มั่นใจการผลิตน้ำประปาได้มาตรฐานโลก
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีผู้เป็นห่วงปริมาณน้ำอาจล้นเขื่อนในช่วงนี้ โดยชี้แจงว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างร้อยละ 94.30 สามารถรับน้ำได้อีก 768 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างร้อยละ 98.94 สามารถรับน้ำได้อีก 101 ล้าน ลบ.ม.
“หากมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น กฟผ.มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน ซึ่งจะทำการระบายน้ำในปริมาณที่น้อยกว่าน้ำที่ไหลเข้าอ่างอย่างแน่นอน โดย กฟผ.ได้ประสานงานกับกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด”
ด้านความปลอดภัยของเขื่อนนั้น กฟผ.ได้มีมาตรการเฝ้าระวัง 2 ระดับ คือ ปริมาณน้ำในเขื่อนที่เก็บกักน้ำถึงร้อยละ 90 จะมีผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ.มาตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนเพื่อความมั่นใจ หากปริมาณน้ำเต็มเขื่อน จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอก กฟผ.ตรวจสอบเพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน
ทั้งนี้ กฟผ.และกรมชลประทานได้เปิดศูนย์เฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และรายงานสถานการณ์ต่อจังหวัดในพื้นที่เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงที
โดยหน้าฝนปีนี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง วันที่ 2 ตุลาคม 2554) มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 6 เขื่อนของ กฟผ.คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนอุบลรัตน จ.ขอนแก่น และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี สะสมรวมทุกเขื่อน 36,200 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่มีการระบายออกรวม 16,191 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ 20,009 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลือจากการระบายเพื่อการชลประทานในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนของ กฟผ.ทั้งหมด 52,307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90.74 ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด มากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึงประมาณ 14,550 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน นายวิสิทธิ์ วงศ์วิวัฒน์ รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ กปน.ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำและการใช้สารเคมีที่เหมาะสมต่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อผลิตน้ำประปาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มองค์การอนามัยโลก (WHO)
นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากน้ำมีการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของ กปน.แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กปน.ได้ติดตั้งจุดจ่ายสารเคมีเพิ่มเติมบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี จากเดิมที่มีจุดจ่ายสารเคมีที่บริเวณท่อลอดคลองรังสิต และเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้น ก่อนส่งเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน และธนบุรี โดยมีการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบและปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำให้เหมาะสมกับคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และขอยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตจ่ายไปสู่ประชาชนยังคงสะอาดได้มาตรฐานน้ำดื่ม WHO อย่างแน่นอน
ขณะที่ นางจงกลนี อาศุเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดอุทกภัย หากประชาชนมีข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพน้ำประปา หรือเกรงว่าท่อประปาที่จมน้ำอาจเป็นสาเหตุให้น้ำสกปรกจากภายนอก เข้าไปปนเปื้อนในท่อประปานั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ กปน.ยินดีให้คำปรึกษาและตอบคำถามเกี่ยวกับน้ำผ่านทางคลินิกน้ำสะอาด http://cwc.mwa.co.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน.โทร.0-2981-7321 ในวันและเวลาราชการ แต่เบื้องต้นขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากท่อประปามีแรงดันน้ำจากภายนอกจึงไม่สามารถเข้าไปได้