“ปภ.-กรมชล” แถลงผลยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาอุทกภัย กทม.-ปริมณฑล เตรียมผันน้ำออกจากเจ้าพระยา พร้อมสั่งการให้กองทัพเรือ ขุดลอกคูคลองเพื่อเร่งระบายน้ำ และเดินเครื่องเพื่อให้กระแสน้ำไหลเร็วขึ้น
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันน้ำลงอ่าวไทยต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการนโยบายในที่ประชุมหลายเรื่องและรับทราบการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์น้ำ
นายชลิต กล่าวว่า จะมีการผันน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทางด้านตะวันออกให้ผันน้ำออกทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงและออกสู่ทะเล-ส่วนทางด้านตะวันตกให้ผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การระบายน้ำได้ไวขึ้นช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้ติดตั้งเครื่องผันน้ำบริเวณคลองลัดโพธิ์ เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ไวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับในส่วนจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกองทัพเรือเข้าไปดูในการขุดลอกคูคลองเพื่อเร่งระบายน้ำ สำหรับการผลักดันจะใช้เรือไปจอด และเดินเครื่องเพื่อให้กระแสน้ำไหลเร็วขึ้น
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการบริหารงบประมาณเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการให้การแก้ไขปัญหามีความรวดเร็ว และเรื่องการใช้การปรับปรุงด้านเทคนิคไม่ว่าจะเป็นการผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้กระทรวงคมนาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ปภ.ช่วยกันประสานเพื่อเปิดทางน้ำให้มีพื้นที่รับน้ำมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และภัยแล้ง ที่ตั้งไว้ก่อนแล้ว ในส่วนการวางยุทธศาสตร์นั้น นายกรัฐมนตรี บอกว่าจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการที่จะมาบริหารจัดการน้ำ ที่จะเป็นการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวตั้งแต่ ปี 2555 ที่จะดำเนินการและป้องกันในเรื่องของอุทกภัย หรือภัยอื่นๆ และสามารถแบบมีแผนและบูรณาการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ปภ.ดำเนินการในส่วนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ที่ห่างไกลการเข้าถึงก็จะช้า โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่เข้าไปดูแล และการสำรวจพื้นที่ทางดาวเทียม
นายวิบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5 พันบาทตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติกรอบครัวเรือนจำนวน 174,383 ครัวเรือน กำหนดแล้วเสร็จใน 30 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.-13 ต.ค.แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เสร็จภายใน 14 วัน ซึ่งกรม ปภ.ดำเนินการเสร็จเร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้ ณ วันที่ 20 ก.ย.ได้มีการตรวจสอบทุกจังหวัดที่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือและได้ส่งรายชื่อให้กับธนาคารออมสินแล้ว 131,762 ครัวเรือน คิดเป็น 75.56 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 658,810,000 บาท ส่วนครัวเรือนที่ไม่เข้าเกณฑ์ จำนวน 42 ,621 ครัวเรือน คิดเป็น 24.44 เปอร์เซ็นต์ โดยเงินที่เหลือจำนวน 213,105,000 บาท จะนำไปพิจารณาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายใหม่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการระบายน้ำที่บางพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน ตรงนี้การแจ้งเตือนยังสามารถทำได้ปกติหรือไม่ นายชลิต กล่าวว่า เราจะมีการแจ้งเตือนก่อน 1 สัปดาห์ แต่อาจจะมีบางจุดไม่ได้แจ้งก่อนล่วงหน้า เพราะแจ้งไม่ทัน