xs
xsm
sm
md
lg

“นายกเล็กเมืองน่าน-ตัวแทนชุมชน” รุมจี้ผู้ว่าฯรื้อ “ฝายธงน้อย”-แก้น้ำท่วมซ้ำซาก-ยาวนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - นายกเทศมนตรีเมืองน่าน นำทีมตัวแทนชุมชน เข้ายื่นหนังสือผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก-ยาวนาน จี้รื้อทิ้ง “ฝายธงน้อย” พร้อมเดินเครื่องโครงการผันน้ำตามผลศึกษากรมโยธาฯ-กรมฯน้ำ ให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 55 ด้านผู้ว่าฯเล็งลอกคลองเจ้าฟ้าเปิดทางระบายน้ำ

วันนี้ (13 ก.ย.) นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วย นายเสนอ เวชสัมพันธ์ ประธานสภาเทศบาลเมืองน่าน และตัวแทนชุมชนเขตเทศบาลเมืองน่าน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมซ้ำซาก ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองน่าน ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 54 เกิดน้ำท่วมขังชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่านอย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองน่านแล้ว 7 ครั้ง และแต่ละครั้งได้สร้างผลกระทบ และความเสียหายต่อชุมชน-ราษฎรในเขตเทศบาลเมืองน่านอย่างมาก ชุมชนในเขตเทศบาลได้รับความเดือดร้อนสะสมเป็นเวลานาน

ดังนั้น ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน จึงได้ทำหนังสือยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด เพื่อขอให้เร่งรัดและดำเนินการแก้ไขโครงการที่ส่งผลกระทบต่อภัยน้ำท่วม คือ การปรับปรุงระบบทางระบายน้ำฉุกเฉิน หรือให้รื้อทิ้งฝายธงน้อย เพื่อเปิดเส้นทางน้ำและขยายทางระบายน้ำให้มากยิ่งขึ้น และการผันระบายน้ำจากถนนสี่เลน อบจ.น่าน ออกทางคลองเหมืองหลวงตามลำเหมืองสาธารณะเดิม ผ่านถนนทางหลวง หมายเลข 1080 (สายน่าน-ทุ่งช้าง) ไปลงยังห้วยส้มป่อย ตามแนวทางการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมทรัพยากรน้ำ ให้แล้วเสร็จทันในปีงบประมาณ 2555

นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และตัวแทนชุมชน ย้ำว่า ทั้งสองโครงการมีผลต่อการไหลระบายน้ำป่าที่ไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน นอกจากนี้ ยังขอให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน เร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชน ในเขตเทศบาลเมืองน่านและชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากภัยน้ำท่วมด้วย

ด้าน นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวภายหลังรับหนังสือดังกล่าวว่า เนื่องจากภัยน้ำท่วมเกิดขึ้นในวงกว้างทั่วประเทศ รัฐบาลมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม แต่ในส่วนของจังหวัดน่าน ได้รายงานผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 16,000 ราย ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยตามขั้นตอนและระเบียบการที่กำหนดไว้ โดยเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย

ส่วนการแก้ไขและป้องกันภัยน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาว จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมถึงการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทดแทนข้าวโพด เช่น กาแฟ ยางพารา ไผ่ ลำไย มะม่วง และพืชอื่นๆ

สำหรับปัญหาในเขตเทศบาลเมืองน่าน คือเรื่องระบบระบายน้ำ ซึ่งจะต้องฟื้นฟู การขุดลอกคูคลอง และจะต้องมีการหาเส้นทางเลี่ยงน้ำ ป้องกันน้ำท่วมหรือให้น้ำเข้าสู่ตัวเขตเทศบาลให้น้อยที่สุด

โดยพบว่า คลองเจ้าฟ้า ที่เป็นคลองหลักในเขตเทศบาลเมืองน่าน จำเป็นต้องมีการขุดลอกและทำดาดคอนกรีต ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง เพราะในจุดคลองเจ้าหลวงมีบ้านเรือนราษฎรจำนวน 11 หลังคาเรือน ปลูกสร้างขวางการระบายน้ำ จำเป็นต้องซื้อที่ดินทั้ง 11 แปลง เพื่อฟื้นฟูคลองนี้ให้ระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น

กรณีเขื่อนธงน้อย จำเป็นต้องหาคณะกรรมการกลางมาศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อหาแนวทางแก้ไข หากเป็นปัญหา ต้องมีการแก้ไข ให้มีการระบายน้ำได้เร็วมากขึ้น ทั้งการทำสปริลล์เวย์ หรือหากไม่เป็นปัญหา ก็ต้องขยายผลการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ทั้งนี้ ต้องรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ที่ต้องอาศัยอยู่กับเขื่อนธงน้อยเป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อทำเป็นแผนรวมทั้งจังหวัดเสนอต่อรัฐบาล ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาภัยน้ำท่วมทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

“อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องที่ได้รับครั้งนี้ ตนจะนำส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น