น่าน - พ่อเมืองน่านจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดเน้นฟื้นป่าน่าน หลังพบตัวเลขลดลงอีก เหลือเพียง 39.87% สาเหตุหลักจากบุกรุกป่าและทำไร่ข้าวโพด
นายณรงค์ มังกิตะ หัวหน้าฝ่ายการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน เปิดเผยข้อมูลจากการวิเคราะห์ของศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า พื้นที่ป่าจังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 11,472.076 ตร.กม. หรือประมาณ 7 ล้านไร่เศษ รายงานข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2519 มีพื้นที่ป่าต้นน้ำรวม 5,280,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73 ของพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมด แต่ป่าไม้ได้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 26 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งสำรวจปี 2545 ระบุว่าจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่าเพียง 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของพื้นที่จังหวัดน่าน
ล่าสุด มีรายงานการสำรวจโดยระบบสารสนเทศ ในปี 2548 พบว่า จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด 7,601,875 ไร่ การสำรวจในปี 2547 น่านมีพื้นที่ป่ารวม 5,310.625 ไร่ และในปี 2548 มีพื้นที่ป่ารวม 5,245,625 ไร่ โดยในช่วงปี 2547-2548 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า ลดลงถึง 65,113.41 ไร่ ซึ่งเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร และส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงแรงงานอพยพกลับถิ่นฐาน ที่จำเป็นต้องมีอาชีพรองรับเพื่อความอยู่รอด และการพัฒนาพืชเศรษฐกิจ เช่นราคาข้าวโพด เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านยังคงเลือกอาชีพทำไร่ข้าวโพดแม้มีผลกระทบ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่คุ้มค่า ปัจจุบันจังหวัดน่านเหลือพื้นที่ป่า เพียง 39.87% จากพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐบาล อาจเทียบเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำและป่าไม้อย่างประเมินค่าไม่ได้ และเห็นได้ชัดคือภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
ทางด้าน นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่จังหวัดน่านจะใช้ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนา 4 ปี (2553-2556) ซึ่งหวังผลให้การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรูปธรรม เกิดความสมบูรณ์และยั่งยืน ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 4 ปี จังหวัดน่านจะได้คืนพื้นที่ป่า พื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน 30,000 ไร่ต่อปี ต้องได้รับการพื้นฟูและอนุรักษ์ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน มีการจัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้ครบทุกตำบล ให้ได้ 100% การเกิดไฟป่าและการเผาในที่โล่งในพื้นที่จังหวัดน่านต้องลดลง 40% หมู่บ้านและชุมชนบนพื้นที่ต้นน้ำ จำนวน 200 หมู่บ้าน ต้องลดการใช้สารเคมี และจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ 25 อปท./ปี ต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในการคัดแยกขยะ เพื่อให้จังหวัดน่าน เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติชุมชนคนต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ให้คงไว้ตามธรรมชาติ และเป็นเมืองพื้นฐานการเกษตรกรรมธรรมชาติ และการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์