xs
xsm
sm
md
lg

ตรังหนุนปลูก “ผักเหมียง” สร้างรายได้เรือนหมื่นต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมบูรณ์ ช่วยทอง เกษตรกรที่เป็นแกนนำบุกเบิกการปลูก ผักเหมียง บริเวณที่ว่างในสวนยางพารา
ตรัง - เกษตรกร ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ปลูก “ผักเหมียง” พืชกินยอดท้องถิ่นภาคใต้ บริเวณที่ว่างในสวนยางพารา รายได้ดีถึงเดือนละ 15,000 บาท เผยดูแลไม่ยาก เก็บขายได้ตลอดปี

นายสมบูรณ์ ช่วยทอง อายุ 50 ปี ชาวหมู่ที่ 5 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เปิดเผยว่า ตนได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ให้เป็นแกนนำบุกเบิกพื้นที่ว่างในสวนยางพารา 9 ไร่ เพื่อปลูก “ผักเหมียง” พืชกินยอดชื่อดังของภาคใต้ นับตั้งแต่ปี 2537 โดยเริ่มซื้อต้นพันธุ์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง 350 ต้น แล้วค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ต้นในปี 2546 และมีปริมาณมากถึง 300,000 ต้น ในปัจจุบัน จนกลายมาเป็นอาชีพหลักสำหรับครอบครัวในขณะนี้ เพราะบางเดือนสร้างรายได้ให้ถึง 15,000 บาท

ทั้งนี้ การปลูก “ผักเหมียง” ในระยะเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากนัก โดยเก็บยอดไปขายในตลาด วันละ 10-20 ยอดก็ยังขายไม่หมด ต้องใช้ความเพียรพยายามอดทนอยู่ถึง 2 ปี จนกระทั่งผู้คนเริ่มรู้จักและหันมาบริโภคกันมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งต้มกะทิ ผัดไข่ ลวกจิ้มน้ำพริก หรือกินแบบสดๆ ที่สำคัญก็คือ ปลอดภัยไร้สารพิษ 100% นั่นจึงเป็นช่องทางให้เกิดการขยายตลาดออกไปมากขึ้น และปลูกต้นพันธุ์จนเต็มพื้นที่ เมื่อปี 2543

ปัจจุบัน นายสมบูรณ์ และครอบครัวช่วยทอง ไม่ต้องนำ “ผักเหมียง” ส่งไปขายเองที่ตลาดแล้ว เพราะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวนยางพารา ในราคาส่งกรัมละ (มัดละ) 5 บาท หรือกิโลกรัมละ (10 มัด) 50 บาท เนื่องจากพืชชนิดนี้สามารถให้ผลผลิตได้ทุกวันและตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมให้ชาว ต.นาชุมเห็ด ปลูกผักชนิดนี้ รวมเป็นเนื้อที่ถึง 300 ไร่แล้ว แต่ผลผลิตที่ออกมาก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

นายสมบูรณ์ยังกล่าวอีกว่า การปลูกผักเหมียง ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ในครั้งแรก กว่าที่ต้นพันธุ์จะใหญ่โตจนสามารถเก็บยอดไปขายได้ ต้องใช้เวลา 5-6 ปี หลังจากนั้น ก็เพียงแค่บำรุงรักษาทั่วไป เช่น ใส่ปุ๋ย ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งก็คือ ปุ๋ยตัวเดียวกับที่ใส่ให้ต้นยางพารา ในสูตร 15-7-18 ส่วนน้ำก็ไม่ต้องรด เพราะภาคใต้ฝนชุ่มฉ่ำทั้งปี หรือถ้าแล้งก็ไม่รุนแรง ขณะที่วัชพืชแทบไม่มีเลย เพราะหากผักเหมียงมีต้นใหญ่เต็มที่ หญ้าจะตายไปเองทั้งหมด ส่วนยอดที่เก็บไปขาย หากพรมน้ำแล้วห่อด้วยใบตองก็จะสามารถเก็บไว้ให้สดได้นานถึง 7 วัน




กำลังโหลดความคิดเห็น