ตรัง - ชาวบ้าน ต.นาวง อ.ห้วยยอด หัวใส พากันปลูกผักในกระสอบปุ๋ย เลี่ยงปัญหาขาดน้ำและที่ดินไม่พอ จนได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านตัวอย่างระดับประเทศ
ชาวบ้านในพื้นที่บ้านไสบ่อ หมู่ที่ 2 ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมปลูกผักกระสอบปลอดสารพิษ เลี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำและที่ดินไม่เพียงพอ โดยนำผักสวนครัวชนิดต่างๆ ปลูกลงในกระสอบปุ๋ย วางไว้รอบบริเวณบ้าน ทำให้สะดวกแก่การรดน้ำและดูแลวัชพืช ทั้งยังมีผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือนด้วย
กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้บ้านไสบ่อ ได้รับคัดเลือกจากกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็น 1 ใน 152 หมู่บ้านทั่วประเทศ ในฐานะหมู่บ้านตัวอย่าง ต้นแบบของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงและเข้มแข็งของจังหวัดตรัง เนื่องในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษา มหาวชิราลงกรณ หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2553
โดยแต่เดิม ชาวบ้านไสบ่อปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง อย่างน้อยครัวเรือนละ 5 ชนิด ครบ 100 % แต่กลับประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค จนไม่สามารถปลูกผักได้ และการที่ชาวบ้านบางคนมีปัญหาเรื่องที่ดินในการเพาะปลูก หรือมีพื้นที่จำกัด จึงทำให้โครงการดังกล่าวนี้แทบจะต้องยุติลง แต่ในที่สุดก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านดำเนินการต่อได้
นายมนัส รองพล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาวง กล่าวว่า การที่มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ทำให้การปลูกผักชะลอตัว หรือผักเริ่มมีความแคระแกร็น ชุมชนจึงเสนอแนวคิดในการปลูกผักในพื้นที่น้อยๆ ง่ายต่อการดูแล และประหยัดน้ำ จากประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของนวัตกรรมปลูกผักกระสอบ เนื่องจากโดยปกติแล้ว กระสอบก็เป็นวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ซึ่งมาจากชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการทำสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน จึงทำให้มีกระสอบปุ๋ยเหลือใช้จำนวนมากมาย แต่กลับถูกนำมาทิ้งขว้างให้เป็นขยะ
ที่สำคัญก็คือ กระสอบปุ๋ยมีคุณสมบัติสามารถเก็บความชื้นได้ดี ชาวบ้านจึงนำมาบรรจุดินผสมปุ๋ยคอก แล้วนำมาปลูกผัก โดยนำน้ำที่เหลือใช้ในครัวเรือนมารดผัก ทำให้ง่ายต่อการดูแล ซึ่งต่อมาได้กลับกลายมาเป็นที่นิยมปลูกกันในทุกๆ ครัวเรือน ถึงแม้จะเป็นในช่วงหน้าฝน ที่มีน้ำอยู่อย่างมากมาย แต่หลายๆ ครอบครัวยังคงปลูกผักในกระสอบต่อไปเช่นเดิม เนื่องจากมีความง่ายต่อการดูแลวัชพืช แถมยังดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย นอกจากนี้ บางครอบครัวก็ยังปลูกผักในยางรถยนต์ หรือภาชนะอื่นๆ ในท้องถิ่นด้วย
นางศศิธร เกตุประกอบ หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านหนองหมอ กล่าวว่า ผลจากการนำนวัตกรรมปลูกผักกระสอบมาใช้ในหมู่บ้าน ทำให้มีผักปลอดสารพิษรับประทานภายในครอบครัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่วนการดูแลก็ง่าย สะดวก และใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกน้อย รวมทั้งไม่ต้องใช้สารเคมีมากำจัดวัชพืช หรือแมลงด้วย ขณะที่ความเสื่อมสภาพของกระสอบปุ๋ยก็จะสัมพันธ์กับอายุของผักที่ปลูกพอดี นอกจากนั้น ผลที่ตามมาจากการนำวัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังทำให้ลดขยะ และไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดขึ้นในชุมชนด้วย