เชียงราย - เจ้าของกาแฟดอยช้าง ขึ้นเวทีย้อนตำนานสอนแนวทางผลักดันกาแฟคนดอย จากกิโลละ 10 กว่าบาท วันนี้ขายได้ 4-5 หมื่น พร้อมเปิดดอยช้างเป็นสถานที่ศึกษา-เผยแพร่ทางวิชาการ ช่วยชุมชนทั่วไทย
ในการสัมมนาเรื่อง “กาแฟไทยไปสากล” ที่นักศึกษาวิทยาการจัดการอุตสาหกรรมบริการ สำนักวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดขึ้น โดยมีนายวิชา พรหมยงค์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดอยช้างคอฟฟี่ออริจินอล จำกัด ที่พัฒนาการปลูกกาแฟบนดอยช้างจนทำให้กาแฟดอยช้างมีชื่อติดอันดับโลก เป็นวิทยากร และมีคณาจารย์ - นักศึกษาเข้ารับฟังเป็นจำนวนมากนั้น
นายวิชา เล่าถึงความเป็นมาของการพัฒนากาแฟดอยช้างว่า เมื่อประมาณ 40 ปีก่อนได้มีโครงการหลวงเข้าไปพัฒนาภาคเหนือด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านบนพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ในส่วนของพื้นที่ดอยช้างก็ได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟพันธุ์ดีจากกรมประชาสงเคราะห์และองค์กรไทย-เยอรมันไปปลูก มีชาวบ้านเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า ลีซู รวมจำนวน 40 หลังคาเรือนทำการปลูก แต่ต่อมาประสบปัญหาเรื่องการตลาด ถูกพ่อค้ากดราคาลง การขนส่งก็ยากลำบาก จึงมีเนื้อที่เพาะปลูกเหลือเพียงประมาณ 500 ไร่
กระทั่งเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน เมื่อตนมีโอกาสเข้าไปสัมผัสชีวิตกับชาวบ้านบนดอยช้างจึงได้ศึกษาสิ่งที่มีอยู่ พบว่ากาแฟประมาณ 500 ไร่ดังกล่าวมีราคาขายกันบนดอยช้างเพียงแค่กิโลกรัมละเพียงประมาณ 10 กว่าบาท แต่เมื่อพ่อค้านำมาขายที่พื้นราบหรือในเมือง กลับมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งหากชาวบ้านสามารถขายได้เองโดยตรงก็จะมีรายได้ดี เพราะกาแฟ 1 ไร่เก็บเกี่ยวกาแฟได้ประมาณ 100 กิโลกรัมหรือไร่หนึ่งจะมีรายได้ 5,000-6,000 บาท
ด้วยเหตุนี้จึงอาศัยเครือขายเพื่อนฝูงและนักธุรกิจในการศึกษาตลาดควบคู่กับส่งตัวอย่างกาแฟที่ปลูกบนดอยช้างไปยังผู้ทรงภูมิทั้งในและต่างประเทศ
ปรากฏว่าทั้งหมดต่างระบุว่ากาแฟบนดอยช้างมีคุณภาพเกรดเอ ตนจึงได้กลับไปยังดอยช้างและร่วมกับชาวบ้านในการขยายพื้นที่ปลูก และศึกษาจากนักวิชาการฝ่ายต่างๆ จนสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ไร่ละประมาณ 300 กิโลกรัม จากนั้นพัฒนาการตลาดและพัฒนาระบบการผลิตเรื่อยมาด้วยเงินทุนเพียงประมาณ 350,000 บาท กระทั่งปัจจุบันทุ่มทุนไปแล้วประมาณ 700 ล้านบาท จนสามารถทำราคาจำหน่ายหลังแปรรูปกาแฟได้กิโลกรัมละกว่า 40,000-50,000 บาทแล้ว ขณะที่ไร่กาแฟก็เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 20,000 ไร่ทั่วดอยช้าง จนกลายเป็นกาแฟส่งออกชื่อดังสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้ปีละกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท ทั้งที่มาจากหมู่บ้านเพียงเล็กหมู่บ้านเดียว
ดังนั้น จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทางดอยช้างของเราพร้อมจะให้เป็นสถานที่ศึกษาและเผยแพร่ทางวิชาการ โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์เรื่องผลผลิตต่อไร่ของชาวบ้าน และค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นการพัฒนาผลผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ในที่สุด เข้าทำนอง 1 หมู่บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์
เขาบอกว่า ทั้งนี้ยังมีพื้นที่ของประเทศไทยอีกมากมายที่มีลักษณะอย่างนี้ เพราะเรามีดินที่มีคุณภาพ น้ำฝนที่มีปริมาณเพียงพอ ตนเชื่อในศักยภาพของภูมิประเทศและประชากรโดยแต่ละแห่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อย่างบนดอยช้างมีดิน อากาศและน้ำฝนเพียงพอ ประชากรก็มีความขยันและอดทน แต่พวกเขาไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่สามารถเดินทางลงพื้นราบได้ การตลาดก็มีปัญหา เราเข้าไปร่วมมือกับชาวบ้านแก้ไขปัญหานี้ และพัฒนาคุณภาพรวมทั้งกระบวนการจนประสบความสำเร็จในปัจจุบันได้ในที่สุด