คนไทยเรานั้นมีถิ่นอาศัยวิถีความเป็นอยู่ที่แตกต่างและหลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศ อย่างเช่นชาวเขา ชาวดอย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนที่สูง ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีให้เข้ากับธรรมชาติแวดล้อม หรือชาวที่ราบลุ่มเช่นในภาคกลาง ก็จะสร้างบ้านสองชั้นใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันน้ำในฤดูน้ำหลาก
สำหรับชาวอุทัยธานีที่แม่น้ำสะแกกรังก็เป็นกลุ่มคนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนพื้นราบทั่วๆไป เนื่องจากพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในเรือนแพในลำน้ำสะแกกรัง ที่เป็นทั้งบ้านอันอบอุ่น และที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิต
ลำน้ำสะแกกรัง เส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนอุทัยธานี ในอดีตเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่ง ทั้งเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้านานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งทำการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคกลาง
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยก่อนเมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมา จะรู้ได้ว่ามาถึงบ้านสะแกกรังแล้วก็เนื่องจากจะสังเกตเห็นต้นสะแกที่อยู่ริมน้ำ โดยเฉพาะที่จะสังเกตได้ชัดเจนในช่วงเดือนยี่ถึงเดือนสาม (ประมาณปลายเดือนธันวาคม หรือ ต้นมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์) ต้นสะแกจะออกดอกเล็กๆ เป็นช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาที่ริมน้ำ และเนื่องจากมีต้นสะแกขึ้นอยู่มาก จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อแม่น้ำสะแกกรัง แต่ในปัจจุบันนี้เหลือต้นสะแกอยู่ไม่มากแล้ว
และด้วยความที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ จึงทำให้เกิดชุมชนบนลำน้ำ ที่อาศัยอยู่บนเรือนแพ โดยลักษณะของเรือนแพ จะมีให้เห็นทั้งแบบเรือนไม้ธรรมดาที่ไม่ได้ตกแต่งประดับประดามากมาย และแบบที่เป็นเรือนไทย ที่มีทั้งหน้าจั่วแหลม ทรงมะลิลา ทรงปั้นหยา โดยที่หลังคาจะมุงด้วยหญ้าแฝก และสร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ มีการทำพื้น ตั้งเสา ทำคาน คล้ายๆ กับบ้านที่อยู่บนบก
เรือนแพที่นี่มีเลขที่บ้าน และทะเบียนบ้านรับรองการอยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย ในสมัยก่อนมีบ้านเรือนแพอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในทุกวันนี้มีจำนวนลดลงไป ส่วนหนึ่งก็เพราะยากต่อการดูแลรักษา เนื่องจากระดับน้ำที่มีการขึ้นลงอาจจะทำให้ลูกบวบใต้เรือนแพเสียหายได้ และปัจจุบันทางการไม่อนุญาตให้มีการออกทะเบียนบ้านให้เรือนแพที่สร้างใหม่แล้ว
วิถีความเป็นอยู่ของชุมชนเรือนแพ ก็เหมือนกับชุมชนทั่วไป มีผู้นำชุมชนก็คือแพผู้ใหญ่ ซึ่งองค์ประกอบก็คล้ายคลึงกับชุมชนบนบก ส่วนอาชีพของชาวเรือนแพ ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำการประมงน้ำจืด โดยการเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งก็มีทั้งปลาสวาย ปลาแรด ปลาเทโพ โดยเฉพาะปลาแรดที่เลี้ยงในกระชังของที่นี่ถือว่าขึ้นชื่อเรื่องเนื้อนุ่ม หวาน อร่อยกว่าที่อื่นๆ
นอกจากจะเลี้ยงปลาในกระชังแล้ว ชาวเรือนแพก็ยังจับปลาจากในลำน้ำสะแกกรัง หรือแหล่งน้ำอื่นๆ มาทำเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม แล้วนำไปขายในตลาด เพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของรายได้เหล่านั้นก็ต้องนำไปซื้อลูกบวบมาซ่อมแซมแพเพื่อให้ยังคงลอยอยู่ได้
ลุงฉลอง สุดเขต ผู้คุ้นเคยกับสายน้ำสะแกกรังมาตั้งแต่เด็ก เล่าว่า ในอดีตนั้น แม่น้ำสะแกกรังเป็นลำน้ำที่ใสสะอาด ธรรมชาติรอบด้านก็งดงาม ความเป็นอยู่ของชาวเรือนแพก็สงบสุข เรียบง่าย สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ทุกเรื่อง ในบางครั้งก็จะมีเรือเอี้ยมจุ๊น ที่บรรทุกสินค้าขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ - อุทัยธานี สัญจรผ่านไปมาช่วยเพิ่มความมีสีสันให้กับลำน้ำแห่งนี้
เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป น้ำในลำน้ำมีสารพิษเจือปน ปลาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติก็หาได้ยากขึ้น วิถีชีวิตของชุมชนเรือนแพก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่เคยมีเรือนแพอยู่มากมาย ปัจจุบันก็ลดน้อยลงไปทุกที บางครอบครัวก็ย้ายตามลูกหลานขึ้นไปอยู่บนบก แต่ส่วนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนแพนั้นก็เพราะใจที่ยังรักลำน้ำสะแกกรังแห่งนี้
ลุงสมบัติ พูนสวัสดิ์(ลุงบัติ) ที่อยู่กับลำน้ำสะแกกรังแห่งนี้มาร่วม 50 ปี เล่าให้ฟังว่า ชุมชนเรือนแพมีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และมีอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากในอดีต บนฝั่งเป็นป่าทึบหนาแน่น คนจึงนิยมลงมาสร้างเรือนแพริมน้ำที่สามารถสร้างได้ง่ายกว่า อีกทั้งวัสดุในการก่อสร้างเรือนแพ อย่างเช่นไม้ไผ่ก็มีราคาถูกกว่า เพียงลำลำประมาณ 5 บาท ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ราคาไม้ไผ่ตกอยู่ที่ลำละกว่า 50 บาท
“ส่วนอาชีพของชาวเรือนแพในอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือการเลี้ยงปลา แต่สมัยก่อนจะเลี้ยงปลาในกระชังได้จำนวนน้อยกว่าสมัยนี้ เนื่องจากใช้กระชังที่ทำจากไม้ไผ่ กระชังจะมีขนาดเล็กกว่า แต่ปัจจุบันจะใช้กระชังที่ทำจากไม้ยาง ขนาดกว้างประมาณ 6 ศอก ยาว 3 วา ทำให้เลี้ยงปลาได้จำนวนเยอะกว่า และกระชังก็มีความทนทานกว่า สามารถใช้งานได้นานขึ้น”ลุงบัติเล่า
ปัจจุบัน แม่น้ำสะแกกรังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม สองฟากฝั่งน่ายลด้วยบรรยากาศวิธีเรือนแพอันเป็นเอกลักษณ์ สงบงาม มีวัดอุโปสถารามอันเก่าขลังทรงเสน่ห์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งยังมีป่าไผ่ ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี ให้ชมกันไปตลอด 2 ฝั่งน้ำ โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็จะมีดอกไม้ป่าที่ผลิบานมาให้ยลโฉมกันหลายชนิด ทั้งดอกบวบขม ดอกสร้อยไก่ ดอกหงอนไก่
นอกจากนี้ ก็ยังมีกิจกรรมมากมายที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกทำได้ อาทิ ล่องเรือรับประทานอาหาร สัมผัสธรรมชาติที่สดชื่นของแม่น้ำสะแกกรัง พร้อมทั้งสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนเรือนแพสองฝั่งลำน้ำ หรือหากอยากใกล้ชิดให้มากกว่านี้ ก็ยังมีโฮมสเตย์เรือนแพไว้คอยบริการ ให้ลองมาใช้ชีวิตแบบชาวเรือนแพดูได้
แต่ที่ปัจจุบันมีจำนวนเรือนแพลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็มาจากปัญหาหลายๆ อย่าง เริ่มจากปัญหาน้ำท่วม ที่จะสร้างความเสียหายให้กับเรือนแพ ประกอบกับที่ตัวเรือนแพเองก็ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ทำให้ชาวเรือนแพต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการซื้ออุปกรณ์มาซ่อมแซมให้ยังคงสภาพอยู่ได้
ในส่วนของวัสดุที่เป็นไม้ ที่นำมาสร้างและซ่อมแซมเรือนแพก็มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตอยู่บนเรือนแพนั้นแพงกว่าที่จะขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนบกเสียอีก นั่นก็เป็นส่วนที่ทำให้ชาวเรือนแพย้ายขึ้นไปอยู่บนบกกันเสียมาก และยังประกอบกับการคุมกำเนิดเรือนแพ ไม่ให้มีการสร้างเพิ่มเติม ปัญหาทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสูญของชุมชนเรือนแพที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่มีเหลือให้คนรุ่นหลังสัมผัสอีกแล้วก็เป็นได้
และเมื่อถึงวันนั้น บรรยากาศอดีตแห่งลุ่มน้ำสะแกกรังแบบ ...เรือนแพ สุขจริงอิงกระแส...อาจจะกลายเป็นตำนาน