xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานแจงเขื่อนเชียงใหม่ยังรับน้ำไหว เสนอผันน้ำแม่คาวลงน้ำปิงแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวินัย พงษ์จินดา ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานที่ 1 เชียงใหม่แจงสถานการณ์น้ำ 2 เขื่อนหลักยังรับน้ำไหว “แม่งัด” ยังรับได้อีกเยอะ ส่วน “แม่กวง” ใกล้ถึงระดับวิกฤตแต่ยันไม่มีแผนระบายน้ำหากหลังเขื่อนยังน้ำท่วม แต่ระยะยาวต้องหาทางพร่องน้ำเตรียมรับน้ำใหม่ ส่วนเหตุน้ำท่วมชี้อยู่ที่น้ำกวงรับน้ำไม่ไหว-ระบายไม่ทัน พร้อมเสนอแนวคิดผันน้ำแม่คาวมาลงน้ำปิงแทนเพื่อแก้ปัญหา

นายวินัย พงษ์จินดา ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธาราว่า ขณะนี้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำ 189.297 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 71.43 ของความจุ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 75.703 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำ 232.088 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 88.25 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 30.912 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 12 แห่ง ซึ่งมีความจุรวมกันทั้งสิ้น 86.657 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 61.452 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70.91 โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำแม่ออน อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง อ่างเก็บน้ำแม่โก๋น และอ่างเก็บน้ำสันหนอง

จากสถานการณ์น้ำดังกล่าว นายวินัยระบุว่า กรณีของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมากพอสมควร และยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธาราอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนได้ หากยังมีปริมาณเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่องจนเกินระดับที่เขื่อนสามารถรองรับได้ ทั้งนี้ เขื่อนมีมาตรการในการบริหารจัดการ ด้วยการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อไม่ให้น้ำภายในอ่างอยู่ในภาวะวิกฤต รวมทั้งเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำจะพิจารณาจากสถานการณ์ของพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยหากมีเหตุน้ำท่วมหรือสถานการณ์วิกฤตจะไม่มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำอย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมาเขื่อนแม่กวงอุดมธารายังไม่มีการระบายน้ำลงพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ แต่หลังจากนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในอ่างมีปริมาณมากจนเกินไป เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกและมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างอีกเป็นจำนวนมากในปีนี้

สำหรับปัญหาการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด ในช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการที่น้ำระบายออกจากพื้นที่ไม่ทัน เนื่องจากลำน้ำธรรมชาติที่ใช้ระบายน้ำมีสิ่งกีดขวาง มีการรุกล้ำทางน้ำ ประกอบกับ ลำน้ำแม่กวงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่รองรับน้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ ในพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำท่วมก็มีปริมาณน้ำเพิ่มสูง จนไม่สามารถรองรับน้ำที่มาจากลำน้ำสาขาต่างๆ ได้ทัน

ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่กล่าวกับเอเอสทีวีผู้จัดการต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าว ได้มีการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไว้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัย ด้วยการขุดลอกหรือขุดขยายทางน้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะในลำน้ำแม่กวง ให้สามารถรองรับน้ำในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น และระบายน้ำได้รวดเร็วขึ้น การก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีต พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงตามความเหมาะสม และการผันน้ำอ้อมพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ชุมชนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

2. การกำหนดพื้นที่การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์น้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังและรายงานข้อมูลความเสียหายในแต่ละพื้นที่ และ 3.การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและแก้มลิงในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ในกรณีของการผันน้ำอ้อมพื้นที่เสี่ยง มีแนวความคิดที่จะผันน้ำจากต้นน้ำแม่คาวเข้าสู่แม่น้ำปิงโดยไม่ต้องผ่านลำน้ำแม่กวง ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่กวงในกรณีที่เกิดเหตุน้ำท่วม และการระบายน้ำในพื้นที่ อ.สันกำแพงได้

จากการศึกษาในเบื้องต้นเห็นว่า อาจใช้วิธีสร้างคลองส่งน้ำจากลำน้ำแม่คาวเข้าสู่แม่น้ำปิงผ่านพื้นที่บริเวณ ต.สันผีเสื้อ ความยาวประมาณ 500 ม. อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังถือเป็นเพียงแนวทางการแก้ไขปัญหาเท่านั้น หากจะมีการดำเนินการจะต้องมีการศึกษาถึงผลดีผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น