xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟใต้ ต้อง “บูรณาการ” จริงจัง-ตั้งหลักทบทวนใหม่!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

ณ สถานการณ์วันนี้ สมควรที่จะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เพราะเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วยังหนักหนาสาหัส มีทั้งปัจจุบันที่ฝนยังตกหนักในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ และอีสาน ล่าสุดที่จังหวัดเชียงใหม่น้ำได้ไหลทะลักเข้าตัวเมืองแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านั้นก็มีน้ำป่าสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องในอำเภอแม่แตง สันทราย โดยเฉพาะที่อำเภอแม่แตงมีผู้เสียชีวิตถึง 5 ศพ

ขณะที่ภาคอีสานในหลายจังหวัดระดับน้ำก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าวิกฤตแทบจะทุกจังหวัดแล้ว

อย่างไรก็ดี ปัญหาอุทกภัยดังกล่าวถือว่ามีการรายงานของสื่อที่เกาะติดในพื้นที่มีการระดมความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็พอเยียวยาได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในขณะที่กำลังสนใจจดจ่ออยู่กับปัญหาอุทกภัยอยู่นั้น เมื่อหันมาดูทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็กลับพบว่ามีความรุนแรงปะทุขึ้นมาอย่างน่ากลัว ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาก็ได้เกิดเหตุคนร้ายที่พรางตัวมาในชุดทหารพรานจำนวนนับสิบคนใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเข้าใส่ทหารชุดร้อย ร.15322 หน่วยเฉพาะกิจ นราธิวาสที่ 30 ชุดคุ้มครองความปลอดภัยครูโรงเรียนบ้านห้วยสาเมาะ ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 2 นายและก่อนหลบหนีไปคนร้ายยังได้เดินมาจ่อยิงทหารที่ศรีษะคนละนัดอย่างโหดเหี้ยมพร้อมทั้งนำอาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 5 กระบอกติดมือไปด้วย ทั้งนี้ในเหตุการณ์ดังกล่าวยังมีเด็กนักเรียนวัย 7 ขวบถูลูกหลงได้รับบาดเจ็บสาหัสอาการเป็นตายเท่ากัน

จากความสูญเสียดังกล่าวน่าจะทำให้ต้องมาขบคิดกันว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาถึงเวลานี้ได้พัฒนาความรุนแรงมาถึงระดับที่น่าจะต้องมีการทบทวน มีการระดมความเห็นครั้งใหญ่อีกครั้งหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ความรุนแรง เอาแค่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุลอบวางระเบิด ลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจและทหาร เสียชีวิต บาดเจ็บเป็นประจำวัน รวมแล้วเสียชีวิตนับสิบศพ เพียงชั่วระยะเวลาสองสามวันติดต่อกัน

สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น “ป่วยการ” ที่จะพูดว่าเกิดขึ้นในยุครัฐบาลใด หรือว่าเป็นช่วง “สุญญกาศ” ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ลดลงเลยในความรู้สึกของชาวบ้าน มีเพียงฝ่ายเจ้าหน้าที่ระดับวางนโยบายระดับบนเท่านั้นที่พูดในทางตรงกันข้ามว่า “ความรุนแรงลดลง” แล้ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาออกมาให้ชัดเจน แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งตัวบุคคลที่กำกับดูแลคือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงคือ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยออกมาอธิบายถึงแนวทางการทำงานให้ชัดเจนแต่อย่างใด

สำหรับหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆโดยเฉพาะผู้นำกองทัพมาถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้เหมือนก่อนแล้ว เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้รับมอบหมาย มอบอำนาจลงไปอย่างเต็มที่ แต่ผลที่ออกมามันยังไม่มีความคืบหน้า และแนวโน้มยังออกไปในทางถดถอยเสียด้วยซ้ำไป

สำหรับผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นาทีนี้ถือว่ามีอำนาจแทบจะเรียกว่า “สูงสุด” ในการบังคับบัญชาทั้งหมด มีทั้งกำลังพล และงบประมาณ รวมไปถึงกฎหมาย “พิเศษ” อยู่ในมือ ทั้งในรูปแบบรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ใช้อำนาจแทนนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่อาจ “กระชับพื้นที่” และเป็นฝ่ายรุกฝ่ายตรงข้ามต้องถอยร่นได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะยอมรับว่าปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวมีความ “ละเอียดอ่อน” และอ่อนไหว ยากมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะมีเงื่อนไขในเรื่องประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งปัญหาทางประวัติศาสตร์สารพัด แต่ที่ผ่านมาก็มักอ้างว่าได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านจนเกิดความร่วมมือ แต่ผลที่ปรากฏออกมาอย่างที่เห็นก็ต้องถือว่า ยังล้มเหลว

สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ระหว่างที่เดินทางลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ ยังเน้นย้ำว่าในปีหน้าคือปี 2555 คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสำหรับใช้ในการรักษาความสงบไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการเพิ่มกำลังพลทั้งในแบบอาสาสมัครทหารพรานที่จะต้องตั้งหน่วยขึ้นมาเพิ่มให้ครบทุกพื้นที่รวม 3,000 นาย เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าทั้งเรื่องงบประมาณและกำลังคนยังเป็นเรื่องหลัก ซึ่งหากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วทั้งสองเรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาให้ตรงจุดก็เป็นได้

จากสภาพที่เกิดขึ้นมันทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่าบางครั้ง บางสถานการณ์ทั้งเรื่องเงิน และกำลังคนอาจไม่ใช่คำตอบแท้จริงเสมอไป เพราะยังมีปัญหาอื่นที่จะต้องเร่งแก้ไข ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากภายในหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยกันเองที่ยังทำงานไม่มีการประสานงาน ไม่มีการ “บูรณาการ” อย่างแท้จริงอย่างที่ชอบพูดกันก็ได้ เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ชิงดีชิงเด่น แย่งงบประมาณ ขณะเดียวกันในช่วงสิ้นปีงบประมาณกำลังอยู่ในช่วงฤดูโยกย้ายต้องวิ่งเต้น ทำให้เกิดช่องว่างทำให้ทวีความรุนแรงขึ้นมาก็ได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากภาพรวมจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มั่นใจว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจะต้องหันกลับมาทบทวนการทำงานในพื้นที่เสียใหม่ แต่ในที่นี้คงไม่ใช่หมายความว่าต้องมีการโยก “ย้ายล้างบาง” กันขนานใหญ่ เพียงแต่ว่าต้องมีการประสานงานเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่!!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น