xs
xsm
sm
md
lg

5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทักษิณ-กองทัพยังไม่วางใจกัน

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

19 กันยายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนถูก คมช.นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหาร

ผ่านไป 5 ปี เต็ม 19 กันยายน 2554 ทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ต่างประเทศเช่นกัน คราวนี้อยู่ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทย โดยมีน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนอมินี

ครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วันนี้ หลายคนก็เห็นชัดว่า ทักษิณยังคงมีอำนาจการเมืองเช่นเดิม แม้โดนทั้งรัฐประหาร-ยึดทรัพย์-ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกสองปี-ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์อย่างคดีก่อการร้าย

กลับแผ่นดินเกิดไม่ได้
 

สิ่งที่คนเห็นและประจักษ์ชัดตอนนี้ก็คือ การทำรัฐประหาร แม้หลายคนยังเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับการเมืองไทย แต่การทำรัฐประหารก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองที่ถูกต้องและสมควรได้รับการสนับสนุน

รัฐประหาร คมช. จึงเป็นรัฐประหารที่สูญเปล่า นอกจากไม่ได้ทำให้ระบอบทักษิณเสื่อมอำนาจ แต่กลับยิ่งทำให้ทักษิณมีอำนาจการเมืองมากขึ้น

แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่น ทักษิณก็เป็นผู้กำหนดความเป็นไปทุกอย่างของการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม มาวันนี้ ปี 2554 วันที่ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยคือผู้กุมอำนาจทุกอย่างในการเมืองไทย แต่ก็จะเห็นได้ว่าแกนนำรัฐบาลทุกคนก็รู้ตัวดีว่า วันนี้รัฐบาลเพื่อไทยยังไม่ได้คุมอำนาจการเมืองทุกส่วนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยังคงหวาดระแวงว่าฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มที่แกนนำเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเรียกว่า “ระบอบอำมาตย์” ยังคงรับไม่ได้กับชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง

เพียงแต่คนในเพื่อไทยมองว่า ฝ่ายอำมาตย์ยังหาจังหวะเหมาะ และวิธีการในการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ ครั้นจะใช้วิธีเดิมๆ คือรัฐประหารด้วยกฎหมาย แบบการตัดสินยุบพรรค ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว แต่คนในรัฐบาลเพื่อไทยก็ยังไม่ประมาท

สถานการณ์ในวันนี้ต่างคุมเชิงกันอยู่

ขณะที่ฝ่ายทักษิณจะใช้วิธีการเดิมๆ คือเข้าไปรุกคืบ แทรกแซงองค์กรอำนาจอื่นๆ ก็ยังไม่กล้า เพราะมีบทเรียนความผิดพลาดจากรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามจะเข้าไปรุกคืบคุมอำนาจทุกส่วนแบบเกินพอดี จนถูกโค่นมาแล้ว

สิ่งที่เพื่อไทยและทักษิณกำลังวางแผนอยู่ในตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อกระชับอำนาจทุกอย่างให้อยู่ในมือตัวเองมากที่สุด โดยไร้แรงต้าน

วิธีการต่างๆ ที่เริ่มออกมาก็พอเห็นแล้ว เช่น การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งฝ่ายทักษิณพูดมาตลอดว่า เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นธรรมและสองมาตรฐาน รัฐบาลจึงรีบใช้โอกาสที่ประชาชนกำลังให้โอกาสยิ่งลักษณ์ ในการบริหารประเทศต้องรีบทบทวนกระบวนการยุติธรรม-กฎหมาย รวมถึงตรวจสอบการมีอยู่และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งหมด โดยผ่านการตั้งคณะกรรมการอิสระ ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ “คอ.นธ.” ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน

แม้รัฐบาลและตัวอุกฤษจะอ้างว่า คอ.นธ.ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ไปศึกษาเรื่องปัญหาการใช้กฎหมายต่างๆ รวมถึงไปดูว่าทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมมีความเสมอภาค ไม่เป็นสองมาตรฐาน จะไม่เข้าไปแทรกแซงศาลและองค์กรอื่นๆ รวมถึงจะไม่เข้าไปช่วย ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นความผิดคดีที่ดินรัชดาฯ

แต่ก็เห็นได้เลยว่า รัฐบาลโดยทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งกรรมการชุดนี้และให้อำนาจผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... มีเจตนาแฝงการเมืองอยู่เบื้องหลังในวันข้างหน้าแน่นอน

เพื่อหวังใช้ผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเครื่องมือในการไปอ้างเพื่อแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงการทำงานขององค์กรตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อตอบสนองการเมืองให้กับรัฐบาลเพื่อไทยรวมถึงทักษิณ และคนเสื้อแดงแน่นอน

แต่ที่ฝ่ายทักษิณ ยังไม่กล้าเปิดหน้าชน หรือเข้าไปจัดระเบียบก็คือ “กองทัพ” เพราะทักษิณรู้ดีว่า ด้วยบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หากการเมืองเข้าไปแตะเกินเส้นแบ่งเข้าไปในพื้นที่อำนาจของกองทัพ “บิ๊กตู่” ไม่มีทางยอมแน่นอน

ทักษิณจึงยังปล่อยให้กองทัพที่ทักษิณมองว่าอยู่คนละฝั่งกับตัวเอง และพรรคเพื่อไทยรวมถึงคนเสื้อแดงอยู่กันไปก่อน ตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปทำอะไร เพราะทักษิณเชื่อว่าหากฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปทำอะไรกับทหาร พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงไม่โอเวอร์แอ็กชั่น

เวลานี้ ทักษิณกับกองทัพ อยู่ในสภาพต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันไป

แม้บางจังหวะรัฐบาลอาจหน้าแตกเสียเครดิตไปบ้างที่ผู้นำทหารไม่แสดงท่าทีตอบรับรัฐบาลชุดนี้มากนัก เห็นได้จากวันแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ของนักศึกษา 5 สถาบัน คือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, วิทยาลัยเสนาธิการทหาร, วิทยาลัยการทัพบก, วิทยาลัยการทัพเรือ และวิทยาลัยการทัพอากาศ เมื่อ 8 กันยายนที่ผ่านมา

ฝ่ายรัฐบาลไปกันแบบคณะใหญ่ ทั้ง ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี-เฉลิม อยู่บำรุง-พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก-พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม

แต่ปรากฏว่า ไร้เงา ผบ.เหล่าทัพทุกคน

ทั้งที่การแถลงเรื่องสำคัญๆ ทางด้านความมั่นคงและการทหารแบบนี้ ผู้นำเหล่าทัพจะปรากฏตัวร่วมงานทุกครั้ง วันดังกล่าว ผบ.เหล่าทัพทุกคนไม่มีใครไปเลย แค่ส่งผู้แทนมาร่วมงานทั้งหมด เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ไปร่วมงาน

ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นต่างอ้างว่าติดภารกิจ เช่น พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด ไปอังกฤษ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. ติดภารกิจพิธีย่ำพระสุริย์ศรี ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สำหรับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ.ติดภารกิจเยือนรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลมีปัญหากับกองทัพก็พอได้เข้าใจ แต่เมื่อยังไม่มีเหตุอะไรที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในช่วงดังกล่าว มีกระแสข่าวแค่ว่ายิ่งลักษณ์ไม่ได้ไปร่วมอวยพรวันเกิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เสาหลักของผู้นำกองทัพด้วยการอ้างว่าป๋าเปรมไม่เปิดบ้าน รวมถึงตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงท่าทีจะสร้างสัมพันธ์อันดีทางการทูตกับฮุนเซน ที่ก่อนหน้านี้เคยสั่งให้เหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนไทย ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทหารกัมพูชาเปิดฉากรบกับทหารไทย จนนำมาซึ่งความสูญเสียของทหารไทยหลายคนใน

ความขัดแย้งแบบตรงๆ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังไม่มี การที่ผู้นำเหล่าทัพไม่ได้ไปร่วมงานการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร กับยิ่งลักษณ์ จึงถูกจับตาในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และก็วิเคราะห์กันว่าดูแล้ว การกระชับพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับผู้นำกองทัพยังต้องใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดปัญหาความไม่ลงตัวกันในเรื่องการทำโผทหาร ของฝ่ายการเมืองคือ พลเอกยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหม กับผู้นำเหล่าทัพ กับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม จน พล.อ.ยุทธศักดิ์แก้ปัญหาด้วยการขอให้ยิ่งลักษณ์นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติตำแหน่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อัตราจอมพล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กระบวนการเริ่มจะติดขัด

แถม รมว.กลาโหม ก็แสดงท่าทีขึงขัง ต้องเอาให้ได้กับการดัน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ใช่คนที่ผู้นำกองทัพต้องการให้มาทำงานร่วมกัน

ประเด็นนี้เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า การเดินไปด้วยกันของฝ่ายการเมืองกับกองทัพ หากยังมีปัญหาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลแน่นอน

แต่ระยะอันใกล้นี้คงไม่ถึงขั้นจะมีอะไร ฮึ่มๆ ออกมาจากกองทัพหรอก เพราะเวลาและสถานการณ์ยังไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง เพียงแต่การยื่นมือขอปรองดองกับผู้นำกองทัพจากคนในรัฐบาลชุดนี้ แค่เริ่มก็เห็นแล้วว่า

อีกฝ่ายยังไม่ยอมยื่นมือมาจับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น