โฆษกเพื่อไทย ปัดพรรคแจกเงินเดือน ส.ส.ชู นิติราษฎร์คิดเห็นเป็นประชาธิปไตย แนะลิ่วล้อ คมช.เข้าใจหน่อย อ้างข้อเสนอทำสิ่งผิดให้ถูก ซัดพวกโต้เสพติดอำนาจ โอ่สร้างนิติรัฐให้สมบูรณ์ ชี้ “นช.แม้ว” แค่ผลพลอยได้ จี้ ประชาธิปัตย์ ยอมรับดุลพินิจอัยการสูงสุด ไม่สั่งฟ้อง “นายหญิง” เย้ย ไปเร่งช่วยคดีซีซีทีวีดีกว่า
วันนี้ (28 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สำหรับเงินเดือน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย นั้น ตนขอปฏิเสธว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และคงมีผลมาจากการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้ประชุมในเรื่องนี้ และมีการตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่มีการจ่ายเงินให้กับ ส.ส.แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า ส.ส.ทั้ง 500 คน ในสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็มีจิตอาสาที่จะเข้ามารับใช้ประชาชนทุกคน อีกทั้งก็ยังได้รับความตอบแทนจากรัฐสภาอยู่แล้ว
โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะนิติราษฎร์ เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา 49 ว่า ตนเห็นว่า คณะนิติราษฎร์ล้วนเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมองเห็นความไม่ถูกต้องของรัฐประหาร และการรัฐประหาร ก็เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญของไทยไม่มีความเป็นนิติรัฐ ประกาศของคณะรัฐประหารจึงไม่มีค่าบังคับใช้เป็นกฎหมายแต่อย่างใด ตนจึงอยากจะขอให้นักวิชาการและลิ่วล้อของ คมช.เข้าใจหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การที่คณะนิติราษฎร์เสนอแนวความคิดดังกล่าว ก็เพื่อทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและยึดถือเป็นธรรมเนียมผิดๆ มาโดยตลอดให้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง การที่ลิ่วล้อ คมช.ออกมาโต้ตอบคณะนิติราษฎร์ จึงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากต้องการเสพติดอำนาจที่ตนเองเคยได้รับจากการหยิบยื่นของ คมช.
“ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้มีเจตนาที่จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ถูกกล่าวหา แต่ต้องการสร้างนิติรัฐของประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ส่วนใครจะได้ประโยชน์บ้างจากข้อเสนอดังกล่าว ก็เป็นเรื่องผลพลอยได้ แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคณะนิติราษฎร์” นายพร้อมพงศ์ กล่าว
นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฎีกาในคดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นของคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาตอบโต้ และต่อว่าอัยการสูงสุด และขู่ว่า จะเข้าชื่อถอดถอนนั้น ตนเห็นว่าตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 อัยการย่อมมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นเช่นนี้ ถือว่าได้เป็นการใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายให้อำนาจแล้ว แม้ความเห็นดังกล่าวจะไม่ถูกใจพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ควรที่จะยอมรับดุลพินิจของอัยการ
นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ผู้อื่นเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด แต่พอความเห็นของอัยการไม่ถูกใจตนเอง ก็มีปฏิกิริยาทันที ตนจึงขอเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยุติการโจมตีสถาบันอัยการในเรื่องดังกล่าว แต่ควรที่จะเร่งช่วยกันไปตรวจสอบในเรื่องที่คนของพรรคกำลังถูกตรวจสอบในเรื่องกล้องซีซีทีวี ของ กทม.รวมถึงมารดาของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ บางคนที่ถูกกล่าวหาในคดีฉ้อโกงธนาคารมูลค่าพันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังหลบหนีการจับกุมอยู่ เมื่อกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็ขอให้ทุกฝ่ายยุติการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของอัยการ เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากอัยการมีความเห็นในคดีใดที่ไม่ถูกใจพวกตนเองแล้ว ก็ออมาตอบโต้เช่นนี้ก็มีผลเท่ากับไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้