ผ่าประเด็นร้อน
กลายเป็นว่าสารพัดนโยบาย “ประชานิยม” ที่พรรคเพื่อไทย “จัดหนัก” ปล่อยออกมากำลังสร้างปัญหาและย้อนกลับมาทำลายเครดิตของตัวเองมากขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากขึ้นทุกวัน เพราะหากสังเกตให้ดีจะพบว่าแต่ละเรื่องที่เริ่มดำเนินการล้วนแต่สร้างปัญหา ทำไม่ได้จริง ถูกวิจารณ์ว่าผลาญงบประมาณ ฯลฯ
เริ่มตั้งแต่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ในที่สุดก็ทำไม่ได้อย่างที่พูดเอาไว้ เพราะเมื่อมีการปฏิบัติจริงกลับบิดพลิ้ว บิดเบือนอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ ถัดมาก็เป็นเรื่อง “รถคันแรก” ที่ตอนแรกจำกัดขอบเขตอยู่ที่รถยนต์ที่ประกอบในประเทศและไม่เกิน 1500 ซีซี แต่เมื่อถูกท้วงติงคัดค้านจากบริษัทรถยนต์ต่างประเทศว่า “กีดกันทางการค้า” ทำให้แข่งขันไม่เป็นธรรม ก็ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่กลายเปิดกว้างให้รถที่ “นำเข้า” และมีแนวโน้มขยายเป็นไม่เกิน 1600 ซีซีก็ไม่มีปัญหา นี่ยังไม่นับเรื่องเสียงวิจารณ์ที่ดังกันขรมว่าเป็นการส่งเสริมให้ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือย แทนที่จะส่งเสริมให้ก่อสร้างโครงการขนส่งมวลชน สรุปก็คือไม่เห็นความจำเป็น
ส่วนบ้านหลังแรก ก็ถูกตำหนิไม่แพ้กันว่าแท้ที่จริงในรายละเอียดแล้วคนชั้นกลางระดับล่างลงมาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามกลับไปส่งเสริมให้คนรวยรับกันไปเต็มๆ และที่สำคัญกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีธุรกิจในครอบครัวของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น บริษัทแอสซีแอสเซทฯ ยังถูกกล่าวหาว่ามี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” จากการขยายราคาจากหลังละ 3 ล้านเป็น 5 ล้านบาท แต่ล่าสุดเมื่อมีเสียงวิจารณ์ก็ต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ให้บ้านราคา 1-2 ล้านบาทโดยยกเว้นภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 3 ปี ครอบคลุมถึงบ้านมือสอง เพื่อลดเสียงวิจารณ์ แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนในรายละเอียดใหม่ แต่ประเด็นสำคัญก็คือทำให้ถูกมองว่าแต่ละโครงการที่ปล่อยออกมานั้น “ไม่รอบคอบ” จนต้องมีการแก้ไขกันรายวัน
ทั้ง 2-3 นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเสียรายได้ และนำเงินภาษีของชาวบ้านทั่วประเทศมาจุนเจือคนเพียงกลุ่มน้อย และไม่ได้ประโยชน์อะไร ได้ไม่คุ้มเสีย ประกอบกับในยุคที่บ้านเมืองกำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น ในกลุ่ม “ยูโรโซน” และสหรัฐอเมริกา ทำให้มีเสียงเรียกร้องว่าควรหยุดนโยบายประชานิยมเอาไว้ก่อน แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระเป๋าให้มากที่สุด เพื่อรองรับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตจะดีกว่า
สำหรับปัญหาภายในประเทศที่เผชิญอยู่ตรงหน้าก็คือ ปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และมีทีท่าว่าจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะขณะที่ปริมาณน้ำในภาคเหนือ ภาคกลางยังไม่ลด แล้วยังขยายไปในภาคอีสาน ขณะเดียวกัน ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเข้าสู่เดือนตุลาคมก็จะเข้าสู่ฤดูฝนในภาคใต้ เข้าฤดูมรสุมจะเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มคลื่นลมแรง
มีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำเติมเข้ามาอีก ก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนเพิ่มปัญหาให้รัฐบาลต้องแก้ไขเยียวยา
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มาตรการในการแก้ปัญหาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวบ้านได้เท่าใดนัก ส่วนใหญ่ออกมาในลักษณะพื้นๆ ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วหากรวมกับนโยบายประชานิยมที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้แล้วถือว่ายิ่งเพิ่มความเสื่อมถอยลงมาได้เรื่อยๆ พิสูจน์ได้จากผลสำรวจความรู้สึกของชาวบ้านทั่วประเทศเมื่อไม่กี่วันก็สรุปในทำนองว่า “ห่วยแตก” มีแต่ภาพลบ
อย่างไรก็ดี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นั่นคือ วันที่ 7 ตุลาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลเตรียมดีเดย์นโยบายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ “จำนำข้าว” ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งก็ต้องถือว่านี่คือการชี้ชะตารัฐบาลเช่นเดียวกัน เพราะถ้า “ล้มเหลว” รับรองว่าอ่วมแน่ๆ
อย่างที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้นก็คือปัญหาน้ำท่วมได้สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างพอสมควร และที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อโครงการประชานิยมหลักๆ อีกด้วย นั่นก็คือโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
เพราะเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่นาข้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าชาวนา “ไม่มีข้าวในมือไปจำนำ” กับรัฐบาล ขณะเดียวกันกำลังมีเสียงเรียกร้องชาวนาในพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัดให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือจ่ายเงินค่าชดเชยส่วนต่างในเรื่องราคาจากกรณีที่เก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วรวมไปถึงข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนแปลงนโยบายจาก “ประกันรายได้” จากรัฐบาลชุดก่อนมาเป็นโครงการ “จำนำ” ในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีได้ยอมชดเชยส่วนต่างราคาแบบ “เหมาจ่าย” ให้ไร่ละ 1,437 บาท รวมทั้งชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมเสียหายไร่ละ 2,222 บาท
หากแยกพิจารณาเฉพาะนโยบายจำนำข้าวที่เริ่มมีเสียงท้วงติงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการทุจริต บิดเบือนราคาตลาด และที่สำคัญก็คือ ชาวนาไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากบรรดาโรงสี นายทุนที่สมคบกับข้าราชการและนักการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนแบบนี้มาซ้ำซาก และในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยใช้นโยบายดังกล่าวก็มีปัญหาไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้คราวนี้มีหลายฝ่ายออกมาท้วงติง เริ่มตั้งแต่ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และล่าสุด อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ยังออกมาแสดงความกังวลในเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้รัฐต้องขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท
แต่นั่นไม่เลวร้ายเท่ากับผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือถึงชาวนา ซึ่งเป็นระดับรากหญ้าของประเทศ ซึ่งแม้ว่านาทีนี้รัฐบาลไม่มีทางเลือกต้องเดินหน้าต่อไป แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องทุจริตและความล้มเหลวก็ตาม อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะทั้งเรื่องน้ำท่วม และจำนำข้าวมันเกี่ยวโยงกัน เพราะถ้าล้มเหลวก็จบเห่ และเมื่อพิจารณาในภาพรวมดังกล่าวมาทั้งหมดทำให้มีแนวโน้มว่ามันน่าไปทางนั้นเสียด้วย!!