xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาทวงคืนปตท. กลับมาเป็นของแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


คนที่ต้องการซื้อหุ้นบริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นปตท. คงจำกันได้ถึงบรรยากาศเมื่อเช้าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการเปิดให้จองหุ้น ในเวลา 09.30 น. ตามประกาศของใบชี้ชวน

บางคนไปรอเข้าคิวกันข้ามคืน บางคนไปรอตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาเปิดจอง หุ้นจำนวนหลายร้อยล้านหุ้น กลับถูกจองหมดชั่วพริบตา ภายในเวลาแค่นาทีเศษ

ประชาชนที่ผิดหวังต่างด่ากันขรม ว่าเป็นไปได้อย่างไร แค่กรอกข้อมูลของผู้จองเพียง 1 ราย ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 นาที 10 นาที

แน่นอนว่าหุ้นส่วนใหญ่ ตกอยู่ในมือของนักการเมือง ส.ส.-ส.ว. ข้าราชการระดับสูง ที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ และนายทุนเงินหนา โดยมีการงุบงิบจัดสรร ใส่ชื่อจองกันล่วงหน้า

นับเป็นการกระจายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครสามารถทักท้วงแก้ไขได้ นอกจากเก็บความคับแค้นใจไว้ลึกๆ

ต่อมามีผู้ไปร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าการแปรรูป ปตท.ในครั้งนั้น มิชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำพิพากษา ว่าไม่ผิดพ.ร.บ.แปรรูปฯ พ.ศ. 2544

เรื่องจึงเงียบไป ขณะที่หุ้นปตท.ที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ก็ขึ้นราคามาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นหุ้นตัวหลัก ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุด

การแปรรูปปตท.ดังกล่าวนี้ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นำมาเปิดโปงระหว่างการชุมนุม เพื่อให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการบริหารราชการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

และได้จัดตั้งทีมทนายความ หาข้อมูลที่จะร้องต่อศาล เพื่อทวงคืนปตท. กลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม. ) พร้อมด้วยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความในฐานะตัวแทนมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน และประชาชนประมาณ 30 คน ที่ได้ผลกระทบจากการเปิดกระจายหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม ของ บริษัท ปตท. ได้ยื่นฟ้อง บริษัทปตท. และ กระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้

1. เพิกถอนใบหุ้น และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. ขอให้ศาลพิพากษาให้หุ้นในโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 4 โรง ที่บริษัทปตท. ถือครอง ตกเป็นของแผ่นดิน
3. ขอให้ศาลพิพากษาให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการทวงคืนสาธารณะสมบัติอันได้มาจากอำนาจตามกฎหมายมหาชน คือ โรงกลั่น ท่อส่งก๊าซ และอุปกรณ์ ส่วนที่ยังไม่ได้คืน ทั้งบนบก และในทะเล รวมทั้งเงินค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซ และดอกผล ของการใช้ท่อส่งก๊าซทั้งหมด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้ เป็นหมายเลขคดีดำ ที่ 1912/2554

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ ได้ชี้แจงถึงการยื่นฟ้องในครั้งนี้ว่า เป็นการดำเนินการตามจุดยืนของพันธมิตรฯ ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งชุมนุม 193 วัน เนื่องจากปตท. เป็นสมบัติของชาติ ที่ถูกรัฐบาลในขณะนั้นนำมาหาประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง

ซึ่งในปีนี้ ปตท.ระบุว่า มีกำไร 1.3 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งที่ถูกกระจายออกไปก็เป็นเงินถึง 6.5 หมื่นล้านบาท หากปตท. ยังเป็นของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็สามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค หรือระบบขนส่งมวลชนได้ทั้งประเทศ

แต่น่าเสียดายที่วันนี้ เงินจำนวนดังกล่าวกลับไปตกไปเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ที่เป็นนอมินีของนักการเมือง อันเนื่องมาจากการแปรที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

" อย่ามาถามว่าทำไมพันธมิตรฯ ถึงเพิ่งมาทำเรื่องนี้ ทำไมไม่ทำแต่ต้น คนที่ตั้งคำถามเช่นนี้ ถือว่าเป็นคนที่ด้อยปัญญา และอย่ามาถามว่า เมื่อแปรรูปไปแล้ว จะมาฟ้องอีกทำไม ถามอย่างนี้ก็ด้อยปัญญาอีก เพราะเรื่องนี้ข้อมูลมันหายาก ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าแปรรูปปตท.ไปแล้วถึงไม่ถูกเราก็ต้องยอมรับ คิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะในเมื่อเรามีจุดยืนว่าต้องทำต้องรักษาคุณธรรม จริยธรรม ให้กับสังคม เมื่อมันผิดก็ไม่ควรที่จะปล่อยทิ้งไว้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมาทวงคืนสมบัติชาติ"

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ อีกคนหนึ่ง ยืนยันหนักแน่นว่า การกระจายหุ้นของปตท. ในครั้งนั้น ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน หรือ ทีโออาร์ เนื่องจากขั้นตอนในการจะจายหุ้นเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม

" มีอย่างที่ไหน หุ้นหลายร้อยล้านหุ้น ขายหมดเพียงภายในเวลานาทีเศษ แสดงให้เห็นว่า มีการเตรียมการกันมาก่อนล่วงหน้า คนซื้อต้องเป็นคนที่มีบุญหนัก ศักดิ์ใหญ่ ถึงจะได้ ประชาชนตาดำๆ ไปยื่นต่อแถวกันตั้งแต่ก่อนเปิดการซื้อ-ขาย ไม่มีใครได้สักราย "

ขณะที่นายสุวัฒน์ อภัยภักดิ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องในครั้งนี้ ยืนยันว่า จุดประสงค์ในการฟ้องครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเอาปตท. มาเป็นสมบัติของพันธมิตรฯ แต่ต้องการให้กลับมาเป็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้นำมันในราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้วยเล่ห์กลของปตท.ต่อไปอีก

ที่ผ่านมาทางพันธมิตรฯ ได้พยายามที่จะสืบค้นข้อมูลการเกี่ยวกับการขายหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนพบว่ามีการขายหุ้นจำนวนกว่า 900 ล้านหุ้น ไม่เป็นไปตามหนังสือชี้ชวน โดยตามหนังสือชี้ชวนกำหนดให้ผู้ที่ต้องการซื้อหุ้น มาซื้อหุ้นได้ตั้งแต่เวลา 09.30 น.ของ วันที่ 15 พ.ย. 44 แต่ปรากฏว่า ประชาชนที่มาร่วมฟ้องในครั้งนี้ ซึ่งได้ไปแสดงตนก่อนเวลาดังกล่าว กลับได้รับคำตอบเมื่อถึงเวลาเปิดซื้อขายว่า หุ้นหมดไปแล้ว 

เมื่อทีมงานของพันธมิตรฯ ที่ติดตาม สืบค้นข้อมูลในเรื่องนี้ พบว่า 863 ราย ซึ่งได้ถือหุ้นที่มีการเปิดขายนั้น ล้วนแต่เป็นญาติของนักการเมืองทั้งสิ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่ามีการออกใบจองหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อหุ้นมากกว่า 1 ใบจองรวม 428 ราย

" การกระทำนี้ เป็นการร่วมกับธนาคาร ร่วมกันโกงประชาชน จึงถือว่าการซื้อขายนั้นไม่ชอบ อีกทั้งพบว่า คณะกรรมการของปตท. ได้มีการอนุมัติให้ขายหุ้นราคาพาร์ จำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคา 10 บาท ให้กับผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งผู้มีอุปการะคุณ เหล่านี้ เมื่อไปตรวจสอบก็พบว่าเป็นนักการเมือง ส.ว. , ส.ส. ผู้พิพากษา อัยการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงอยากทราบว่า คณะกรรมการฯ ใช้อำนาจอะไรในการอนุมัติ รวมทั้งการกำหนดการจำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 320 ล้านหุ้น ให้กับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งก็อยู่ในฐานนอมินี ที่ดูแลทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นการจำหน่ายหุ้นให้แก่บุคคลในรัฐบาลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดต่อกฎหมายป.ป.ช. เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ จึงถือว่าขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ เพราะเป็นการขายที่ไม่โปร่งใสเป็นธรรม สมควรที่ศาลจะสั่งเพิกถอนให้การซื้อขายหุ้นทั้งหมดของปตท. เป็นโมฆะ และคืนให้ตกเป็นของแผ่นดิน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะโฆษกพันธมิตรฯ กล่าวถึงภารกิจการทวงคืนปตท.ในครั้งนี้ว่า แม้ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุด จะเคยมีคำพิพากษาให้ยกคำร้อง ในเรื่องของการแปรรูปปตท.มาแล้ว แต่ในครั้งนั้นเป็นการฟ้องว่า พ.ร.บ.แปรรูปฯ พ.ศ.2544 ที่ใช้ในการแปรรูปปตท.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลเห็นว่า พ.ร.บ.แปรรูปไม่ผิด และมีคำสั่งให้รัฐแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติ สิทธิ การใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งการปิโตเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิ ในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชน ของรัฐออกจากอำนาจ และสิทธิของปตท.

แต่การฟ้องของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ เป็นคนละประเด็นกัน โดยในครั้งนี้ ข้อมูลที่นำเสนอต่อศาล เน้นไปที่วิธีการที่มีการกระจายหุ้น เนื่องจากมีการกระทำไม่ชอบ ผิดจากหนังสือชี้ชวน ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดจากคดีเก่า ที่ศาลเคยมีคำพิพากษาไปแล้ว ไม่ใช่ต้องไปรื้อ และไม่ได้เป็นการให้ศาลกลับคำพิพากษาที่เคยมี เพียงแต่เราต้องการให้ศาลพิจารณา ในเรื่องของการกระจายหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องทวงคืนปตท.กลับมาเป็นสมบัติของชาติ ของประชาชน

กำลังโหลดความคิดเห็น