xs
xsm
sm
md
lg

“กษิต” ข้องใจย้ายทีมเจรจาข้อพิพาทไทย-เขมร จับตาถกเขตทับซ้อนทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษิต ภิรมย์  (แฟ้มภาพ)
“กษิต” ข้องใจข่าวย้ายข้าราชการประจำทีมคณะเจรจาข้อพิพาทไทย-เขมร ทวงถาม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ถึงความคืบหน้าถกกรอบเจบีซีกับกัมพูชา พร้อมจับตาเจรจากรอบทับซ้อนทางทะเลรอบใหม่รอดู ครม.พิจารณากรอบทับซ้อนทางทะเล ย้าย “สมปอง” ต้องแจงได้ “มาร์ค” ชี้ รัฐบาลมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงกลไกในองค์กร แต่หัวใจสำคัญคือ จุดยืนการต่อสู้ในศาล เตือน ขรก.ต้องอยู่บนผลประโยชน์ ปท.แนะให้ดูสมัย รบ.สมัคร เป็นอุทาหรณ์

นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีข่าวการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา ว่า เป็นสิทธิของรัฐบาลใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักการ แต่คนที่เคยอยู่ในตำแหน่งเดิม อาทิ นายอัษฎา ชัยนาม หัวหน้าคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) นั้นเป็นคนที่มีความรู้ เป็นนักวิชาการ ที่ได้รับการแต่งตั้งเพราะขีดความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเจรจาระหว่างประเทศเพราะเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์กจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายองค์ความรู้และความสามารถ

ส่วนข้าราชการประจำที่รายชื่อโยกย้ายนั้น ตนเห็นว่า ไม่ถูกต้องนัก เพราะนายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเล มีชื่อเสียงกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ในกรรมาธิการด้านกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติอยู่ และขณะนี้ยังไม่ทราบคำชี้แจงของรัฐมนตรีต่างประเทศว่าทำไมต้องโยกย้าย เพราะข้าราชการประจำนั้นฝนจะตกฟ้าจะร้องก็ต้องเป็นมืออาชีพรัฐบาลไหนจะมาก็ต้องทำงาน มีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในอดีตจนถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ไม่เคยรับแผนที่ระวางดงรัก 1 ต่อ 200,000 จึงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา ที่มีการทำแผนบริหาร นั่นเพราะเราบอกว่าเขาไม่สามารถทำได้จนกว่าจะมีการทำกรอบเจบีซี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับบุคลากรว่าจะส่งผลถึงทิศทางนโยบายด้านการต่างประเทศ หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า คงเป็นเช่นนั้นแต่รายละเอียดยังไม่ชัด ต้องไปดูประเด็นปัญหากับกัมพูชาก่อน โดยอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนนี้เราต้องส่งเอกสารความเห็นต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายกัมพูชาที่มีต่อศาลโลก ในเรื่องที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารก็หวังว่าทีมที่เคยทำงานอยู่จะมีความต่อเนื่อง เพราะทีมชุดนี้ทำงานเป็นปีแล้ว เคยไปศาลโลก 2 ครั้ง อยากให้ทีมนี้ทำถึงที่สุด ไม่มีการเปลี่ยนกลางลำ

นายกษิต กล่าวว่า เรายังยืนยันไม่ให้มีแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทจนกว่าการเจรจากรอบเจบีซีจะคืบหน้า นอกจากนี้ ศาลโลกยังมีคำสั่งให้ถอนทหารทั้งภายในตัวปราสาทพระวิหารและตัวรอบๆ ในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.โดย ศาลโลกเองก็ได้ระบุอนาบริเวณโดยรอบ ที่ให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาถอนทหารกว้างกว่า 4.6 ตร.กม.และอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็ต้องมาช่วยดูในเรื่องผู้สังเกตการณ์ถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบไม่ให้มีการปะทะกันอีก

“ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยว่า ได้มีการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับการถอนทหารอย่างไร เพราะเมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริประเทศ รมว.กลาโหม ก็ได้ประสานจะมีการคุยเจบีซี พูดว่าจะมีการเจรจาถอนทหารโดยฝ่ายกัมพูชาก็บอกเองว่าอินโดนีเซียไม่จำเป็นต้องเข้ามาแล้ว เพราะสามารถทำได้แค่2ฝ่ายได้ แต่ไปๆ มาๆ ก็เปลี่ยนท่าที และที่เราคุยกันว่าจะคุยเรื่องจีบีซี ก็ไม่เห็นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและกัมพูชามีพันธกรณีต่อศาลโลกที่เราต้องถอนทหาร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นรัฐบาลต้องชี้แจง”

ส่วนประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น นายกษิต กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ระดับเจ้าหน้าที่เพื่อศึกษาท่าทีของไทยเพื่อศึกษาเป็นกรอบก่อนรายงานต่อรัฐสภาว่าจะเจรจากับกัมพูชาอย่างไร ตอนนี้ยังไม่แล้วเสร็จ มีการว่าจ้างที่ปรึกษาที่กฎหมายระหว่างประเทศมา ดังนั้น ท่าทีต่อพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระดับข้าราชการประจำมีการเตรียมการอยู่แล้ว ดังนั้นต้องเสนอมาที่ฝ่ายการเมือง ดังนั้นต่อไปนี้อยู่ที่ว่า ครม.ชุดใหม่จะทำอย่างไร

ส่วนที่มีข่าวว่า จะย้าย นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาด้วยนั้น นายกษิต กล่าวว่า นายสมปอง ทำงานด้วยดี อีก 1 ปีจะเกษียณอายุราชการ หากจะเปลี่ยนก็ต้องถามว่าเป็นเพราะนโยบายเปลี่ยนหรืออย่างไร ดังนั้น รัฐบาลต้องชี้แจงต้องสาธารณชนให้ได้

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีสิทธิ์ในการตัดองค์กรที่จะทำงานเรื่องนี้ตามที่เห็นสมควร แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเนื้อหาสาระการกำหนดจุดยืนไปต่อสู่ในการต่อสู้คดีในศาลโลกทั้งทางบกและทะเล ซึ่งนายกฯต้องยืนยันจุดยืนให้หนักเน่นชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีปัญหา และเรามีที่มาจากสนธิสัญญา และแนวที่จะคลี่คลายสถานการณ์จะใช้กลไกไหนอย่างไรตรงนี้ คือ หัวใจสำคัญ ส่วนเรื่องกลไกสามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่เป็นไรแต่รัฐบาลก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดโดยทิศทางท่าที บางเรื่องต้องอาศัยมติครม. หรือต้องนำเสนอต่อรัฐสภา ส่วนตัวบุคคลตนยังอยากให้คนเดิมทำงานต่อไปเพราะรู้สถานการณ์ดี เพื่อให้เดินต่อไปได้ เพราะในช่วงหลังค่อนข้างมีการแข่งขันกันพอสมควรในการต่อสู้กับศาลโลก โดยเฉพาะช่วงที่กัมพูชาขอให้มีการถอนทหาร เราสามารถดำเนินการไม่ให้เป็นไปตามที่กัมพูชาต้องการได้

นายอภิสิทธิ์ ย้ำกับผู้ที่จะมาทำงานว่า ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่เช่นนั้นจะมีปัญหากับตัวเอง อย่างกรณีสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่มีปัญหาเรื่องแถลงการณ์ร่วม ที่ข้าราชการก็ถูกดำเนินการด้วยในที่สุด อย่าไปกังวลเรื่อความต้องการทางการเมืองถ้าไม่ถูกต้อง และรัฐบาลต้องมีการทบทวนเรื่องการบริหารพื้นที่ใหม่ ว่า มีความสุ่มเสียงอย่างไร เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา สังคมรับรู้ว่าเป็นอย่างไร จึงไม่ควรย้อนกลับไป สิ่งที่ ครม.ต้องเร่งหาข้อยุติในเรื่องนี้คือ กรณีมรดกโลกว่าจะยืนยันถอนตัวอย่างไร ต้องตรวจสอบว่ามติของที่ประชุมมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ซึ่งตนก็เป็นห่วงเพราะคำพูดของคนในรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในการปักหลักยืนหยัดในความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น