xs
xsm
sm
md
lg

ศรีสะเกษทวงคืน ขอชื่อ“พระวิหาร” ลั่นไทยมีเอกราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.ว.คำนูณ" ข้องใจ จ.ศรีสะเกษ จะใช้ป้าย "เปรี๊ยะวิเฮีย" ตามแบบเขมร แทนเขาพระวิหาร ใช่หรือไม่ ด้านชาวศรีสะเกษ วอนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแก้ไขป้ายกลับมาใช้ป้าย " พระวิหาร " ตามแบบเดิม หวั่นบานปลายเขมรนำไปอ้างสิทธิกลายเป็นปัญหาพิพาทระหว่างประเทศ ขณะที่โฆษกปชป. จวก"นพดล" ฟ้องกลับแก้เกี้ยว อัด"สุรเกียรติ์" อย่าอ้างไปลงนามเอ็มโอยู 44 เพื่อแสดงว่าไทยเป็นเจ้าของอธิปไตยที่เกาะกูด เหตุมีอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี 1907 แจงไว้ชัดแล้ว ย้ำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลต้องเป็นธรรม

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (5 ก.ย.) มีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยในช่วงที่เปิดให้สมาชิกหารือ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้หารือ เรื่องป้ายของแขวงการทางพิเศษ จ.ศรีสะเกษ ที่ได้มีการทำป้ายใหม่ชี้ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ จำนวน 30 ป้ายนั้น กลับพบว่า ป้ายชี้ทางไปเขาพระวิหาร โดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ภาษาโรมันตามกัมพูชาว่า เปรี๊ยะ วิ เฮีย ( Preah Vihear ออกเสียง เปรี๊ยะ-วิ-เฮีย) ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยเขียนโดยใช้ภาษาโรมันตามภาษาไทย คือ เขาพระวิหาร เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ต้องมองด้วยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ในปี 51 และ 52 ได้มีความพยายามตกลงกันระหว่างไทย- กัมพูชา ว่า จะใช้คำเขียนแบบไทย หรือกัมพูชา จึงอยากจะถามว่า ขณะนี้ตกลงกันได้แล้ว ใช่หรือไม่ ที่จะเรียกเปรี๊ยะวิเหีย ตามกัมพูชา เพราะไม่เช่นนั้นทาง จ.ศรีสะเกษ จะมีการแก้ไขอย่างไร

** จวก"นพดล"ฟ้องกลับแก้เกี้ยว

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า จะฟ้องร้องตนหรือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ออกมากล่าวพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการลงนามในบันทึกความเข้าใจทางทะเลระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา ปี 2544 นั้น ส่วนตัวมองว่าจริงๆแล้วนายนพดลเองไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้ และเป็นการตอบโต้ที่ไม่มีสาระข้อมูลใดๆ เป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กำลังดำเนินการอยู่คือ เมื่อเรามีความพยายามที่จะสอบถาม หรือตั้งข้อสงสัย เขาก็พยายามที่จะตัดกระบวนการดังล่าวด้วยการฟ้องร้อง ซึ่งตนพร้อมเสมอที่จะมีการฟ้องร้อง และขอให้นายนพดล รีบดำเนินการ เพื่อจะได้พิสูจน์ทางศาลว่า ใครกันแน่ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย และขอให้นายนพดล กลับไปศึกษาข้อมูลในเรื่องนี้ก่อน เพราะมีเทคนิคมากมาย และหากไม่รู้จริงก็จะทำให้เสียเวลาเปล่าที่จะไปตอบโต้

***ชาวศรีสะเกษจี้ใช้ป้าย“พระวิหาร”เช่นเดิม

วานนี้ (5 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ศรีสะเกษว่า ขณะนี้ตามถนนทุกสายที่เข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ และเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสู่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ชายแดนไทย-กัมพูชา ปรากฏว่า ป้ายบอกเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว “ปราสาทเขาพระวิหาร” ชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ทุกป้ายในพื้นที่ความรับผิดชอบของ แขวงการทางจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักทางหลวงที่ 7 (อุบลราชธานี) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษใหม่ จากเดิมเคยใช้ทับศัพท์ตามภาษาไทยว่า “ Khoa Phra wihan” เปลี่ยนไปเป็น “Khao Preah Vihear Sanctuary” แทนโดย “พระวิหาร” ใช้คำว่า “Preah Vihear” หรือ “เปรี๊ยะ วิเฮีย” ตามแบบที่ประเทศกัมพูชาใช้มาตลอด ซึ่งป้ายใหม่ดังกล่าวถูกนำมาติดตั้งจำนวนกว่า 30 จุด ตลอดข้างทางที่มุ่งไปสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

นายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนา จ.ศรีสะเกษ (คปศ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนข้อความภาษาอังกฤษคำว่า “พระวิหาร”ใหม่ไปเป็น “เปรี๊ยะ วิเฮีย” ของป้ายบอกเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวตามแบบของกัมพูชา นั้น ตนเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชไม่ใช่เมืองขึ้นของใครเหมือนกับประเทศกัมพูชาที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นป้ายชื่อจึงควรเป็นภาษาที่ประเทศไทยกำหนดขึ้นมาเองตามหลักภาษาสากลที่ถูกต้องไม่ใช่ไปเปลี่ยนชื่อไปตามแบบของกัมพูชาที่เขียนไว้

จึงขอเรียกร้องไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าขอให้ดำเนินการเปลี่ยนมาใช้ตามแบบเดิมจะเหมาะสมถูกต้องมากกว่า และที่สำคัญคือไม่กระทบกับความรู้สึกของชาวไทยทั้งชาติ รวมทั้งปัญหาการนำไปเป็นข้ออ้างสิทธิต่างๆ ของฝ่ายกัมพูชาที่จะกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศตามมาในภายหลังได้

** ยันเกาะกูดเป็นของไทยนายแล้ว

นายชวนนท์ ยังกล่าวถึง แถลงการณ์ของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เรื่องการลงนามใน MOU 2544 รับรอง “เกาะกูด” ของไทยนั้น มีหลายประเด็นที่ตนเห็นว่า มีความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง รวมทั้งไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์

ดังนั้น เพื่อความกระจ่างตนจึงขอชี้แจงว่า การเจรจาเพื่อแบ่งเขต และแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลนั้น แม้จะมีการเจรจาติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้วจริง และไม่ใช่เริ่มต้นที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่คำถามก็คือการเจรจาต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 ปี ยังมีประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะเส้นเขตทางทะเลของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูด โดยไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย ทำไมรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่เพียง 5 เดือนจึงมั่นใจและกล้าที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิไหล่ทวีปซ้อนกัน หรือ MOU 2544 ช่วงเวลา 6 เดือนของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับข้อมูลใหม่อะไร จึงทำให้การเจรจาลงตัว หลังการถกเถียงกันนับ 10 ปี

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่า MOU 2544 ทำให้กัมพูชายอมรับว่า เกาะกูดเป็นของไทย นับเป็นการสร้างความเสียเปรียบ และเป็นข้ออ้างที่ผิดทั้งในข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์ เพราะเกาะกูดนั้น เป็นของประเทศไทยชัดเจน ตามที่ได้มีการระบุไว้ใน "หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม กับเปรสิเดนต์แห่งริปับลิกฝรั่งเสศ" 23 มีนาคม ร.ศ.125 พ.ศ.2449 /50" ในข้อ 2 ซึ่งระบุว่า

"รัฐบาลฝรั่งเสศ ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย แลเมืองตราษ กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยามตามกำหนดเขตแดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าวมาแล้ว"

ที่สำคัญที่สุดในปี 2513 ประเทศไทยได้ประกาศเส้นฐานตรง (Straight baseline)บริเวณเกาะกูด ซึ่งเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายทางทะเล ยืนยันว่าเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยและน่านน้ำของประเทศไทยอย่างชัดเจน

ต่อมาประเทศไทยได้ประกาศเส้นไหล่ทวีปทางทะเล ดังนั้นข้ออ้างที่ว่า การมี MOU 2544 ทำให้กัมพูชายอมรับว่า อธิปไตยเหนือเกาะกูดเป็นของไทยนั้น จึงเป็นพื้นฐานที่ผิดจากข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ปราศจากข้อเท็จจริง และทำให้ประเทศต้องเสียเปรียบโดยไม่จำเป็น และต้องทำให้ประเทศไทยยอมรับเส้นเขตทางทะเลของกัมพูชา ซึ่งไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ รวมทั้งเสียผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งเป็นของไทยชัดเจนแต่กลับต้องมาพัฒนาร่วมกันกับกัมพูชา และการยกเลิก MOU ก็ไม่เป็นเหตุผลใดเลยที่กัมพูชาจะมีสิทธิอ้างอธิปไตย เหนือเกาะกูด

นอกจากนี้ เมื่อเกาะกูดเป็นของไทย ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เกาะกูด ย่อมมีเขตทางทะเลเป็นของตนเอง การที่ประเทศไทยประกาศเส้นฐานตรงบริเวณที่ 1 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2513 เป็นผลให้น่านน้ำภายในเส้นฐานตรงเป็นน่านน้ำภายในของประเทศไทย และบริเวณที่ถัดออกมาจากเส้นฐานตรงเป็นทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง

ดังนั้น การทำ MOU 2544 ซึ่งมีแผนที่แนบท้าย จึงไม่สอดคล้องประกาศเส้นฐานตรงของไทย และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้น กล่าวคือ มาตรา 224 ที่ระบุว่า

" หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา"

แม้ MOU จะมีข้อบทว่า ในข้อ 5 ว่า "จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคี" ก็ตาม เนื่องจากการยอมรับแผนที่ใน MOU อาจมีนัยเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตอำนาจแห่งรัฐของไทยได้ จึงไม่น่ายอมรับ และเป็นประโยชน์กับไทย

**ไม่เอาผลประโยชน์ชาติมาเล่นการเมือง

นายชวนนท์ ยืนยันว่า ตนไม่เคยคิดจะนำเรื่องผลประโยชน์ของชาติมาเป็นประเด็นการเมืองให้เกิดความเสียหาย และมีความตั้งใจจะทำงานการเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับพี่น้องประชาชน

แต่ในกรณี MOU 2544 นั้น ตนไม่สามารถหาเหตุผลใดๆ ได้เลย ในการที่ประเทศไทย จะต้องไปลงนามยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชา ซึ่งไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายและที่สำคัญที่สุดคือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างมหาศาล

"เป็นหน้าที่ ในฐานะคนไทยที่จะต้องตั้งคำถาม และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไว้ และ สนับสนุนการเจรจาแบ่งเขต หรือแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อประโยชน์ และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม และความถูกต้องตามหลักกฎหมาย มิใช่เร่งรัดให้เกิดการเจรจา แต่ประเทศกลับต้องเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ และต้องมาแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับกัมพูชาโดยไม่ถูกต้อง เพราะในอนาคตหากมีการพัฒนาและแบ่งเขตในลักษณะนี้แล้ว มีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้โดยกัมพูชา แล้วเมื่อมีการแบ่งเขตทางทะเลในภายหลังในพื้นที่ดังกล่าว โดยทรัพยากรธรรมชาติอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย ผู้ใดจะรับผิดชอบความเสียหายของประเทศ" นายชวนนท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น