xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.เปิดพิพิธภัณฑ์ -“อักขราทร” แนะนำคำพิพากษาออกมติ ครม.แนวปฏิบัติ ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอักขราทร จุฬารัตน์ อดัตประธานศาลปกครองสูงสุด (แฟ้มภาพ)
ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดพิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ถือฤกษ์วันพระราชสมภพรัชกาลที่ 5 ก่อนจัดเสวนา “อักขราทร” ชี้ ศาลทำรัฐใช้อำนาจเริ่มเป็นธรรม แนะเอาคำพิพากษาออกมติครม.จะช่วยคดีความหน่วยราชการน้อยลง รับเบื่อคำ “ตุลาการภิวัฒน์” ยันไม่ได้ล้ำเส้นฝ่ายบริหาร

วันนี้ (20 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานในเปิดพิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ด้วยการตีกลองวินิจฉัยเภรี 3 ครั้ง ซึ่งเป็นกลองที่จำลองการร้องทุกข์เมื่อสมัยโบราณ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปิดประตูสู่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกระบวนการยุติธรรม ทางการปกครองของไทย ซึ่งการเปิดพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 20 ก.ย.เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงริเริ่มแนวคิดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีปกครองในประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะพระบิดาแห่งกฎหมายมหาชนไทย และเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าสำหรับค้นคว้าและเรียนรู้ต้นกำเนิดและพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของไทย

สำหรับพิพิธภัณฑ์ศาลปกครองเป็นลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่ได้จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เป็น 3 ส่วน คือ ความเป็นมาของศาลปกครอง วิวัฒนาการขององค์กรวินิจฉัยคดีปกครองและจุดกำเนิดศาลปกครอง อีกทั้งจุดถ่ายภาพที่ระลึกซึ่งสามารถส่งภาพถ่ายเป็นจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ให้ผู้เข้าชมเก็บเป็นที่ระลึกได้ โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารศาลปกครอง ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวันราชการ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น.

ทั้งนี้ หลังการเปิดพิพิธภัณฑ์ฯแล้วก็ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ร้อยเรื่องราวกล่าวขานศาลปกครอง” ซึ่ง นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเสวนา ว่า ในอดีตไม่มีองค์กรที่มีลักษณะเหมือนศาลปกครองมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงทำให้การใช้อำนาจของรัฐถูกมองว่าลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่เมื่อมีศาลปกครองเกิดขึ้นและมีการพิพากษาคดีปกครองต่อเนื่องมา การใช้อำนาจรัฐในปัจจุบันค่อยข้างดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรัฐเองก็รู้ว่ามีคนคอยตรวจสอบอยู่และคิดว่าต้องใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเป็นธรรม อย่างมีเหตุมีผล แต่ก็ยังมีบางคนที่รู้สึกว่ามีองค์กรนี้แล้วทำงานยาก แต่ในประเทศอื่นที่เขามีศาลปกครอง เขาจะใช้คำพิพากษาของศาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเมืองไทยหน่วยราชการต่าง ๆ จะยึดมติครม.เป็นหลักในการปฏิบัติ ดังนั้น หลายๆ เรื่องถ้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมีการเอาคำพิพากษาไปเป็นแนวปฏิบัติโดยให้ออกเป็นมติ ครม.ก็เชื่อว่าจะทำให้การฟ้องคดีปกครองในบ้านเราลดน้อยลง

นอกจากนี้ นายอักขราทร ยังกล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ถูกมองไม่เป็นธรรม แต่เมื่อรัฐอ้างเป็นการดำเนินการตามนโยบาย จึงไม่อาจที่จะนำมาฟ้องร้องได้ว่า นโยบายรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งถ้านโยบายเหล่านั้นเขามองว่ามันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เขาก็ฟ้องได้ แต่การแต่งตั้งโยกย้าย ก็มีขั้นตอนกลไก ในการให้ความเป็นธรรมอยู่ แต่ทั้งหมดมันจะเอามาอ้างไม่ได้ว่าเป็นนโยบายแล้วทำได้ เพราะนโยบายมันก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย

“ในระบบศาลคู่ปัญหาใหญ่ ก็คือ การตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง จนเกิดคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งผมเบื่อที่จะได้ยินคำนี้เต็มประดา เพราะเป็นการพูดที่เข้าใจผิดว่า ศาลปกครองเข้ามาตัดสินคดีล่วงล้ำไปในการบริหารของฝ่ายบริหาร ซึ่งในอดีตมันมีแต่คดีแพ่ง คดีอาญา ที่เขามีหลักกฎหมายพิจารณาที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของคดีปกครองมันไม่มี มีเฉพาะตัวบทที่กำหนดอำนาจหน้าที่ ทำให้สิ่งที่ศาลตัดสินไปคนรู้สึกว่าใช้หลักกฎหมายที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยมี และมองว่า เป็นการล้ำอำนาจของฝ่ายบริหาร แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นเพราะเราไม่เข้าใจกฎหมายมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการที่ศาลจะวินิจฉัยและเขียนคำพิพากษาที่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของประชาชน กับประโยชน์สาธารณะที่รัฐต้องเป็นผู้ดูแล”
กำลังโหลดความคิดเห็น