แพทยสภาแจงไม่เคยขัดขวางสิทธิการตาย เสียงแข็ง แค่ค้านวิธีปฏิบัติที่ขัดต่อมนุษยธรรม นักกฎหมายแจงไม่ขัดต่อกฎหมายลูกใดๆ เพราะปกติแพทย์ก็ทำหน้าที่เสี่ยงอยู่แล้ว
วันนี้ (13 ก.ค.) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวในเวทีราชดำเนินเสวนา เรื่อง “สิทธิการตายอย่างสงบ ทางเลือกอันชอบธรรมของผู้ป่วย” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบัน อิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎกระทรวงตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือ สิทธิการตายนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวมีการกำหนดวิธีการที่ไม่ชัดเจนสำหรับการปฏิบัติจริง และอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการกำหนดว่าให้แพทย์ทำหน้าที่ถอดสายท่อ หรือที่เรียกว่า Un Plug ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่แสดงความไม่ประสงค์รับการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีแพทย์คนใดอยากทำ ไม่ใช่กลัวถูกฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งแพทยสภาไม่ได้ขัดขวางการสิทธิดังกล่าว แต่เราไม่เห็นด้วยในวิธีการปฏิบัติ ซึ่งขัดกับความเป็นจริง และในมาตรา 12 ก็ไม่ได้กำหนดไว้ ขณะเดียวกันการกระทำลักษณะนี้กลับเข้าข่ายขัดกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่กำหนดชัดเจนให้แพทย์ต้องทำการรักษาให้ดีที่สุด แต่การ Un Plug เป็นการผลักภาระให้แพทย์ ซึ่งไม่ถูกต้อง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นการออกแบบการตาย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะตายอย่างไร” นพ.เมธี กล่าว และว่า เรื่องนี้ควรชะลอไปก่อน เพื่อหารือร่วมกันว่าจะปรับปรุงอย่างไรให้สามารถปฏิบัติได้จริง ส่วนจะมีการฟ้องศาลปกครองในการออกกฎกระทรวงเกินขอบเขตของมาตรา 12 นั้น ต้องรอผลการประชุมของคณะกรรมการแพทยสภาในวันที่ 14 ก.ค.นี้
ด้าน นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า จริงๆ การทำตามสิทธิของผู้แสดงเจตจำนงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ เพราะถ้าไม่ใช่แพทย์ ภารโรงคงทำหน้าที่นี้ไม่ได้ การที่แพทย์บางกลุ่มออกมากังวลเกี่ยวกับคำจำกัดความ “วาระสุดท้ายของชีวิต” และกังวลว่า หนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าวอาจเป็นของปลอม ซึ่งในความเป็นจริงแพทย์มีการทำงานเสี่ยงกว่านี้อีก อย่างการผ่าตัดผู้ป่วยก็ต้องให้ญาติเซ็นรับรอง ซึ่งแพทย์ก็ไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นญาติจริงหรือไม่ ก็ยังทำการผ่าตัด จึงไม่เข้าใจว่าจะกังวลเรื่องนี้ทำไม
“ทั้งนี้ หากพบว่า กฎหมายลูกขัดกันจริง ย่อมสามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้เลย เนื่องจากเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย แต่ปัญหา คือ ต้องพิจารณาว่า ศาลจะรับฟ้องหรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ อย่างไร ซึ่งกรณีนี้มองว่า ไม่น่าจะขัด อย่างประเด็น “วาระสุดท้ายของชีวิต” เหตุผล ที่แพทยสภาระบุ คือ ในตัวกฎกระทรวงไปจำกัดความคำนี้ว่า เป็นภาวะคล้ายในเวลาอันใกล้ และมีการหยุดทำงานของเปลือกสมองใหญ่ ซึ่งมากเกินไปนั้น ตนมองว่า ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะเมื่อสมองหยุดทำงานก็รักษาไม่ได้อยู่แล้ว แต่คำจำกัดความดังกล่าวก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่า ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่อง ของเรื่องไม่มีอะไร แต่อาจเป็นความขัดกันขององค์กรแพทย์หรือไม่ อันนี้ไม่ทราบ เพราะประเด็นข้อกฎหมายแทบไม่มี แต่เป็นเรื่องแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจริงๆ แล้วควรคุยกันให้รู้เรื่องมากกว่า” นายสมผล กล่าว
ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ในฐานะผู้ร่างกฎกระทรวง ว่า ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ หรือประเทศแถบยุโรป มีการใช้สิทธินี้มานานร่วม 30 ปี เพื่อลดปัญหาการโต้เถียงต่างๆ แต่ประเทศไทยกลับมีปัญหา โดยเฉพาะการตีความ ซึ่งจริงๆ แล้วกฎกระทรวงนี้จะช่วยให้แพทย์ทำงานได้ แต่กลับมาตีความยุบยิบ ซึ่งทำแบบนี้แสดงว่าตีความกฎหมายไม่เป็น