ปธ.ศาล ปค.สูงสุด ชี้ ไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ขาดการสมดุลของการพัฒนา เหตุ ปชช.ยังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ลั่นศาลปกครองพร้อมทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (8 ก.ย.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง สิทธิในการพัฒนา:สิทธิมนุษยชนกับความเป็นธรรมในสังคม ในการประชุมความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีเอฟ) ครั้งที่ 16 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 แม้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานของความไม่สมดุลของการพัฒนา เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และผลประโยชน์จากการพัฒนาระหว่างภาค ระหว่างชนบทกับเมือง และระหว่างกลุ่มคนในสังคม ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์อย่างสิ้นเปลือง จนนำไปสู่ความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
นายหัสวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัญหาการพัฒนาที่สำคัญ คือ การที่ประชาชนมักได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน การทำเหมืองแร่ บ่อกำจัดขยะ การสร้างท่อก๊าซ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมไปถึงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สำหรับบทบาทของศาลปกครองกับสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นหน้าที่หลักของรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลให้เกิดการเคารพสิทธิต่างๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นเกี่ยวข้อง รวมถึงให้การคุ้มครองบุคคลเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าการละเมิดนั้นจะเกิดจากเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ศาลถือเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ เมื่อเกิดกรณีละเมิดสิทธิใดๆ ที่กฎหมายรับรอง คู่กรณีสามารถเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อพิจารณาและตัดสินให้บุคคลได้รับการเคารพสิทธิตามที่กฎหมายรับรองไว้ และการละเมิดสิทธิมักเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ กรณีการละเมิดสิทธิส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อพิพาททางปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลปกครองจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย รวมถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการละเมิดสิทธิด้วย
“ศาลปกครองเป็นกลไกหนึ่งของรัฐในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการพัฒนาและสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนา ศาลจะทำหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวโยงกับสิทธิในการพัฒนาตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว ทันต่อการแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การกำหนดคำบังคับในคำพิพากษาที่เหมาะสม เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่บุคคล ผู้ถูกละเมิดสิทธิ ในบางกรณีอาจต้องกำหนดมาตรการ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตามการมีมาตรการบังคับคดี เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในการดำเนินงานนั้นถือเป็นการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนาให้ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม