“ประพันธ์” เตือนอย่าดูถูกประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกแม้เกิดจากรัฐประหาร แต่ก็ผ่านประชามติ มอง 2 องค์กรอิสระ กกต.-คตง.ควรต้องอยู่ เมินข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ เสนอให้คำตัดสินองค์กรที่เกิดหลังยึดอำนาจ 19 ก.ย.ไม่มีผลทางกฎหมาย บอกจะทำอะไรต้องมมีเหตุผล
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบายในการเปิดอบรมหลักสูตรพนักงาน กกต.ระดับกลาง รุ่นที่ 1 ว่า ขอให้พนักงานทุกคนยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ในการทำงานที่กำหนดให้ กกต.ต้องควบคุมจัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลาง สุจริตเที่ยงธรรม ถ้ายึดหลักนี้ได้ กกต.ก็จะมั่นคง ได้รับความน่าเชื่อถือ ศรัทธา เพราะความเป็นกลางเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการเลือกตั้งมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้สมัครด้วยกัน ซึ่งการที่พนักงาน กกต.ไปรู้จักคุ้นเคยผู้สมัคร หรือนักการเมือง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้สมัครไม่ได้เป็นศัตรูหรือคู่ต่อสู้ แต่พนักงานต้องรู้จักแบ่งแยกหน้าที่ ยึดหลักความเป็นกลางเป็นที่ตั้ง
“เวลานี้มีกระแสข่าวว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ ก็ขอให้ทุกคนอย่าหวั่นไหวไปกับกระแส เพราะการจะเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระต้องมีเหตุผลว่าสมควรหรือไม่ และหากวิเคราะห์แล้วจะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยฝ่ายบริหาร นักวิชาการ นักการเมือง ก็จะไม่มีความเชื่อมั่นว่า การจัดการเลือกตั้งจะสุจริต เป็นธรรม อีกทั้งถ้าฝ่ายบริหารจัดแล้วเกิดการแพ้เลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจะเกิดสิ่งใดขึ้น ตรงนี้ทำให้เกิดองค์กร กกต.ซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก ว่า จัดการเลือกตั้งเป็นกลาง ดังนั้น กกต.ยังเป็นองค์กรสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง จึงขอให้พนักงานกกต.ทุกคนอย่าได้เป็นกังวลว่า กกต.จะมีปัญหา”
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ในส่วนของ กกต.ควรปรับปรุงในเรื่องของการสืบสอบสวนและวินิจฉัย แต่ก็อยากให้ไปพิจารณาในเรื่องอำนาจของการสั่งเลือกตั้งใหม่และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือใบเหลือง-ใบแดง ว่าควรเป็นอย่างไร รวมทั้งที่ให้ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ก็ให้ กกต.มีอำนาจที่จะยุบพรรคการเมือง ทำให้ กกต.ถูกมองว่าเป็นคู่ต่อสู้คดีกับนักการเมือง ทั้งที่ความจริงแล้ว กกต.ไม่อยากทำ
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า องค์กรอิสระที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งที่สมควรคงอยู่คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เนื่องจากฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายใช้เงิน จะมาตรวจสอบการใช้เงินที่ใช้เองคงไม่ได้ ส่วนองค์กรอิสระอื่นๆ ก็แล้วแต่เหตุแต่ผล ว่า มีความจำเป็นในการปรับปรุงอย่างไร
นายประพันธ์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณี คณะนิติราษฎร์ เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้กฎหมายที่มาจากรัฐประหารไม่มีผลทางกฎหมาย ว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องคนมีอำนาจและรัฐสภา การที่มีการตั้งคณะกรรมการอิสระซึ่งมีนักวิชาการเข้าไปร่วม ก็มีหน้าที่เพียงให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการดังกล่าวจะทำการรื้อกฎหมาย หรือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่มีความเห็น
“โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ผมร่วมยกร่างมา แม้จะถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หรือถูกมองว่าเขียนขึ้นเพื่อวางหมาก แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากเห็นว่าไม่เหมาะสม มีเหตุอันควรก็สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่อธิบายกับประชาชนถึงเหตุผลในการแก้ให้ได้เท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีจะชั่วอย่างไรก็ผ่านการทำประชามติมา อย่าไปคิดว่าประชาชนลงประชามติไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะถ้ามองอย่างนั้นก็เป็นการดูถูกประชาชนเกินไป ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญไม่ยาก แค่ใช้เสียงเพียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็แก้ได้แล้ว แต่ก็ต้องดูบรรยากาศว่าเอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่”
ส่วนที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้คำวินิจฉัยขององค์กรที่เกิดภายหลัง 19 ก.ย.ไม่มีผลทางกฎหมายจะทำได้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียงการพูดกันไป แต่ตนคิดว่าคนที่จะทำเช่นนั้นต้องมีเหตุมีผล เพราะจะไม่สามารถทำอะไรตามใจชอบได้ ซึ่งยุคสมัยนี้ไม่ใช่บอกว่าตัวเองมีมวลชนแล้วทำอะไรตามใจชอบได้แต่ยุคนี้ต้องทำด้วยเหตุและผล ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ล้มล้างคำวินิจฉัยของศาลที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารก็เห็นว่า ถ้าออกกฎหมายผ่านสภาก็สามารถทำได้ทั้งนั้น
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่มีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้มีองค์กรอิสระว่า ยังไม่เห็นมีใครบอกเช่นนั้น แต่ต้องดูว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ ซึ่งไม่ควรไปคาดหมายว่า จะมีการทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีการเลือกตั้งมาแล้ว ก็อยากให้มีการพูดคุยด้วยเหตุและผล ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีความพยายามที่จะไม่ให้มีองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร อีกทั้งการมีกกต.ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อเข้าข้างนักการเมือง แต่ต้องการให้ กกต.เป็นกลาง และไม่ต้องการให้การจัดการเลือกตั้งอยู่ภายใต้ของอำนาจฝ่ายบริหาร