xs
xsm
sm
md
lg

รายละเอียดคำร้อง พล.ต.จำลอง ยื่นศาลฎีกาฯ คัดค้านเลือกตั้ง 3 ก.ค.54(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำร้อง คดีดำร้องที่ ลต. / ๒๕๕๔

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔

ระหว่าง พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกกล่าวหา
นายอภิชาติ สุขขัคคานนท์ ที่ ๑ , นายประพันธ์ นัยโกวิท ที่ ๒
นายสมชัย จึงประเสริฐ ที่ ๓ , นางสดศรี สัตยธรรม ที่ ๔
นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ที่ ๕

เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ฯ หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง,โมฆะกรรม, ขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ข้าพเจ้าพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ร้อง เกิดวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ อายุ ๗๖ ปี อาชีพข้าราชการบำนาญ มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ ๕๘๐ / ๒ ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร

ที่อยู่เพื่อจัดส่งเอกสาร : ๑๐๙ / ๑๒ ซ.ลาดพร้าว ๒๓ แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๕๑๓๐๑๓๐-๔ โทรสาร ๐๒ - ๕๑๓๐๑๑๓๕

ข้อ ๑. เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป อันเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ได้แก้ไข โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปในระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเลือกตั้งสองแบบในการเลือกตั้งครั้งเดียวกัน คือแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔ อันเป็นการใช้บังคับก่อนวันเลือกตั้ง ๓ เดือนเศษ

รัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขใหม่ได้บัญญัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและที่มารวมทั้งกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ โดยกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละ ๑ คน และรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้เพียงบัญชีเดียวและให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และในการคำนวณจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อว่าจะมีจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนเท่าใดต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๑ คนนั้น รัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติให้ใช้หลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยค่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามร้อยเจ็ดสิบคนเป็นการคำนวณจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนในการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อดังกล่าว และจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัดจะพึงมีก็ให้นำจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนที่คำนวณได้ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้งนั้นมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้นด้วย ดังนั้นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในจังหวัดใดจะมีจำนวนเท่าใดที่จะเป็นผู้แทนราษฎรได้ จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้งนั้นด้วย หลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จึงเป็นหลักฐานของการมีสิทธิและใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง และหลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้งที่มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ก็เป็นหลักฐานของการมีสิทธิและการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อด้วย ดังนั้นหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ( ซึ่งรวมทั้งทะเบียนบ้าน ) จึงเป็นหลักฐานของการเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามทะเบียนราษฎรที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยปริยาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และที่แก้ไข (ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ.๒๕๕๔ มาตรา ๙๓ , ๙๔ , ๙๕, ๙๖ , ๙๗ , ๙๘ และตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคแรกว่า บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ( 3 ) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง ” รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก (๓) ได้บัญญัติให้การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เป็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ( STATUS ) เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง เป็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือบุคคลใดหรือองค์กรรัฐอื่นใดก็ไม่มีอำนาจใดๆที่จะมาเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านของตนเองได้ เพราะเป็นคุณสมบัติที่ได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคแรก และมาตรา ๒๗

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง ได้บัญญัติว่า “ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งน้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ” บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสองไม่ได้บัญญัติรับรองคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ดังเช่นมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) แต่เป็นบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลผู้มีหน้าที่ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติบังคับให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๒ โดยต้องบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปทำหน้าที่เลือกตั้งได้สะดวกขึ้น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในขณะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกตั้งในเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่มีทะเบียนบ้านได้ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้สิทธิตามมาตรา ๙๙ วรรคสอง หรือ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งน้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง ก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง ได้เช่นกัน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสองนี้ จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขได้บัญญัติไว้ เพราะการมีคุณสมบัติโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งได้เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกเลือกตั้งเป็นผู้มีหน้าที่รับรองหรือควบคุมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนการมีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ในการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายตามมาตรา ๙๖ , ๙๗ ,๙๘ และในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๙๖ , ๙๗ ดังกล่าว ในการเลือกตั้งทั่วไปของการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๙๖ , ๙๗ ดังกล่าวนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนทราบและปฏิบัติ โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาสำหรับมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเป็นมาตรการในการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีหน้าที่เลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้มีหน้าที่เลือกตั้งไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคสอง และรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) กับมาตรา ๙๙ วรรคสอง จึงเป็นบุคคลที่มีสถานะของการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายที่ต่างกัน โดยรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) ได้บัญญัติรับรองให้บุคคลใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านของตน โดยบัญญัติให้การมีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งซึ่งสิทธิของผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ต้องไปใช้สิทธิในเขตทะเบียนบ้านของตนเท่านั้น และไม่มีอำนาจใดๆที่จะบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่อใน ทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตทะเบียนบ้านได้ ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสองเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนน้อยกว่า ๙๐ วันก็มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งตามหน้าที่ได้ หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรก็สามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ เพราะการไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามหน้าที่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำให้ต้องสูญเสียสิทธิบางประการ รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง จึงต้องบัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้มีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งไว้ตามมาตรา ๙๙ วรรคสองและรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ดังกล่าว

เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ในเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไว้โดยชัดแจ้งและโดยปริยายแล้ว สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ และมาตรา ๙๓, ๙๔ , ๙๕ ,๙๖, ๙๗ , ๙๘ และที่แก้ไข โดยคณะกรรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆที่จะบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในที่อื่นนอกเขตที่ปรากฏชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไม่ว่ากรณีใด และเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้ดุลพินิจไม่ได้ด้วย เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๗๒ แล้ว บุคคลผู้มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ที่จะมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยชัดแจ้งได้ และการขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตทะเบียนบ้านตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้นั้น ก็จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง เท่านั้น จึงจะมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านของตนได้ ซึ่งหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙๙ วรรคสองแล้ว ก็ไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทะเบียนบ้านของตนเองได้

การใช้สิทธิการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หรือการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกับการขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา ๙๕ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้บังคับกฎหมายโดยผิดฝาผิดตัวไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๕ วรรคแรก เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งจะกระทำมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ ,๒๘, ๒๙ การนำเอาสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ไปใช้ปะปนกับการขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อเจตนาเป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ร้องจะได้กราบเรียนศาลต่อไป

ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๕ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลื อกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมืองฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในการควบคุมและดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งให้อำนาจหน้าที่ประธานกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มีอำนาจ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะออกกฎหมายได้ด้วยตนเอง โดยออกประกาศหรือออกระเบียบกำหนดการทั้งหลาย อันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวางระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินการใดๆของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีอำนาจสืบสวน สอบสวน เพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย ทั้งนี้ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๕ มาตรา ๒๓๖ ( ๑) ( ๕ )

โดยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ที่จะออกระเบียบ ประกาศ เพื่อควบคุมดูแลและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ ในการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น จะต้องให้มีความสุจริตและเที่ยงธรรมไม่เฉพาะแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องสุจริตและเที่ยงธรรมต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การใช้อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรของรัฐนั้น จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชน และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในกรณีที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย และบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะ “ ออกกฎหมาย ” “ ใช้บังคับกฎหมาย” หรือ“ตีความกฎหมาย ” นั้น จะต้องออกกฎหมายใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมายในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ทราบถึงอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างดีว่ามีความสำคัญและยิ่งใหญ่ต่อการปกครองประเทศเพียงใด เป็นผู้กุมบังเหียนและทิศทางการปกครองประเทศว่า จะดำเนินไปในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ เพียงใด เป็นอำนาจหน้าที่มีมากยิ่งกว่าศาล หรือองค์กรใดในประเทศ เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ออกกฎหมายได้ ใช้บังคับกฎหมายได้ ตีความในกฎหมายทั้งปวงได้ และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ มีอำนาจหน้าที่ทำหน้าที่เป็นผู้เสียหายแทนประชาชนทั้งประเทศและแผ่นดินได้ ในความผิดอาญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง รวมทั้งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อได้กระทำผิดอาญาในการเลือกตั้ง และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าย่อมทราบดีว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีอำนาจหน้าที่ยิ่งใหญ่และสำคัญเพียงใด แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายของผู้ถูกกล่าวหาที่จะใช้บังคับกับการเลือกตั้ง ก็ต้องออกกฎหมายให้การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆที่จะออกกฎหมายให้ตนเองเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย และไม่ต้องทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับโทษในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่จะออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจหาได้ไม่ ทั้งจะต้องออกฎหมายที่จะใช้บังคับในการเลือกตั้งนั้น จะต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้โดยชัดแจ้งและโดยปริยายด้วย หากการออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย หรือออกกฎหมายไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้แล้ว การเลือกตั้งนั้นก็เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และของพรรคการเมืองที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นการเลือกตั้งเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเข้าข่ายของการกระทำละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ วรรคแรก ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ วรรคสองประกอบกับมาตรา ๖๙ และมาตรา ๒๓๕ ซึ่งผู้ร้องจะกราบเรียนต่อศาลในลำดับหลังต่อไป

ข้อ ๒ . ผู้ร้องเป็นผู้มีหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงเป็นผู้ถูกบังคับให้ใช้สิทธิของผู้ร้องเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหน้าที่ต้องไปออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อในเขตเลือกตั้ง โดยผู้ร้องได้ถูกกำหนดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านโดยที่ผู้มีชื่อผู้ร้องอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓ )

ผู้ร้องมีภูมิลำเนาโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า๙๐ สิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง แต่อย่างใด ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาหรือแสดงความประสงค์ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่เคยแสดงเจตนาที่จะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดอื่นที่ตนอยู่ ทั้งไม่เคยไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ภายหลังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งมาเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อแต่อย่างใด

ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะผู้ร้องเป็นมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ร้องให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทมหานคร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๑) ( ๒ ) ( ๓ ) อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิอย่างชัดแจ้ง สิทธิของผู้ร้องที่จะลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร จึงผูกพันคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะตรากฎหมาย เพื่อใช้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่จะต้องให้ผู้ร้องลงคะแนนเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรากฎหมายปิดกั้นเพื่อลิดรอนสิทธิหรือจำกัดสิทธิของผู้ร้องไม่ให้ผู้ร้องได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในเขตอื่นที่ผู้ร้องไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่ได้เลย รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้บังคับกฎหมาย หรือตีความในกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิ หรือจำกัดสิทธิของผู้ร้องไม่ให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในเขตอื่นที่ผู้ร้องไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันจะทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๑ ) ( ๒ ) ( ๓), มาตรา ๒๗ , มาตรา ๒๘ , มาตรา ๒๙ , มาตรา ๒๓๕ การเลือกตั้งที่ได้กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งได้กระทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ได้รับ ชัยชนะในการเลือกตั้งได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้จัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อให้พิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งและให้ผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้งเสียใหม่ได้ตามอำนาจทั่วไปของศาล ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ วรรคสอง วรรคสาม ซึ่งผู้ร้องจะได้กราบเรียนในรายละเอียดต่อไป

ข้อ. ๓ ในการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งที่ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ร้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง แต่ผู้ร้องไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ ผู้ร้องและภรรยาไปตรวจดูรายชื่อในแผ่นทะเบียนบ้านได้พบเห็นชื่อของผู้ร้องและภรรยา แต่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้แจ้งว่าผู้ร้องและกรรยาว่าไม่มีสิทธิลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวได้ แต่ต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะผู้ร้องได้เคยแจ้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรีไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้ร้องได้ถามเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าไปลงคะแนนที่จังหวัดกาญจนบุรีในวันนี้ได้ไหม เพราะผู้ร้องมีเวลาที่จะเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรีได้ทันเวลา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าไปลงคะแนนวันนี้ไม่ได้ เพราะต้องไปลงคะแนนล่วงหน้าซึ่งพ้นเวลาลงคะแนนล่วงหน้าไปแล้ว ผู้ร้องได้ยืนยันว่ามีสิทธิลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งนั้นได้เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ร้องไม่ได้แจ้งความจำนงไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหรือขอลงคะแนนนอกเขต หรือใช้สิทธิเลือกตั้งที่อื่นไว้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมและได้นำแบบฟอร์มคำร้องและบันทึกถ้อยคำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยืนยันว่า ตนมีสิทธิที่จะลงคะแนนมาให้ผู้ร้องและภรรยาทำบันทึกและลงลายมือชื่อไว้ ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๑ ในวันนั้นเองผู้ร้องได้ทราบจากสื่อสาธารณะ โดยการให้สัมภาษณ์ของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้งในทำนองว่า ผู้ที่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ ถ้ายังไม่ไปถอนการใช้สิทธินอกเขตก็จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเดิมที่เคยแจ้งขอไว้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต แต่ยังไม่ได้ถอนการใช้สิทธินอกเขตนั้นให้ผู้เลือกตั้งต้องไปใช้สิทธินอกเขตในวันลงคะแนนที่กำหนดให้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทุกคน

ผู้ร้องได้ติดตามตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรในปี ๒๕๕๐ รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐ คน ที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๙๕ ซึ่งได้บัญญัติสาระสำคัญให้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อเพียงบัญชีเดียว และให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งแล้ว การที่ผู้ร้องและผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อได้แล้ว การตัดสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องจึงมีผลกระทบต่อเขตเลือกตั้งเขตประเทศด้วย เอกสารและพยานหลักฐานจะเสนอศาลในชั้นพิจารณา

การที่ผู้ร้อง ภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคน ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น ย่อมมีผลโดยตรงต่อผู้ร้องที่ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ กับมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ร้อง เพราะหากผู้ร้องและผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า ๒ ล้านคน ไม่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งโดยไม่ชอบแล้ว ผลของการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนไปตามจำนวนคะแนนที่ถูกตัดสิทธิไปทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ อันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมต่อเขตเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและเขตประเทศได้

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ตามกฎหมาย และ/หรือได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ได้กระทำการโดยผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเลือกตั้ง แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๕ , ๒๓๖ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ดังที่ผู้ร้องจะกราบเรียนต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในลำดับต่อไป

๓.๑ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ มีความรู้เชี่ยวชาญในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่และเสรีภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนหลักการปกครองทั้งทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เป็นอย่างดีในสถานะของการเป็นกรรมการการเลือกตั้ง เพราะเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหาและการเลือกมาตามรัฐธรรมนูญจากบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในทางวิชาการเป็นอย่างสูง จึงเป็นผู้มีความรอบรู้และมีความเชี่ยวชาญในการเลือกตั้งเป็นอย่างดี และจะต้องมีความรอบรู้ผลของการเลือกตั้ง ซึ่งหากการเลือกตั้งได้ทำขึ้นโดยไม่ดำเนินการเลือกตั้งหรือไม่ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งนั้นก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม การเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งนั้นก็จะไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะได้

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ร่วมกันจงใจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อให้เป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง หรือกระทำการหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ร่วมกันลิดรอนสิทธิ หรือ จำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า ๒ ล้านคน รวมทั้งผู้ร้องและภรรยาของผู้ร้องไม่ให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อในเขตที่ผู้ร้องและภรรยามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้ร้องและภรรยามีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) ซึ่งต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องและภรรยาไม่มีสิทธิใดๆที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตหรือจังหวัดอื่นที่ผู้ร้องและภรรยาไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตอื่นดังกล่าวได้ เพราะผู้ร้องและภรรยาไม่ได้อยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ผู้ร้องและภรรยามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ หากผู้ร้องและภรรยาไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตที่ไม่มีชื่อและไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องและภรรยาก็เป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องและภรรยาเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ชัดแจ้งให้ผู้ร้องและภรรยาใช้สิทธิจะลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้ร้องและภรรยามีชื่อในทะเบียนบ้านได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าย่อมจะต้องทราบดีถึงการมีคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องและภรรยา ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะต้องลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตตามภูมิลำเนาที่ผู้ร้องมีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆและไม่มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องให้เป็นผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยการจัดการให้ผู้ร้องและภรรยาไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่ผู้ร้องและภรรยาไม่มีชื่อและไม่มีทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งอื่นได้เลย และการจัดการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ได้จัดการให้ผู้ร้องและภรรยาไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่อื่น ( จังหวัดกาญจนบุรี ) โดยที่ผู้ร้องและภรรยาไม่มีชื่อและมีทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้น ก็เป็นการจัดการให้ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้ง ( ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ) ให้กลายเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง( ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี )ได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆที่จะกระทำได้ และถึงแม้ว่าผู้ร้องและภรรยาจะไปใช้สิทธิลงคะแนนที่จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นเขตที่ผู้ร้องไม่มีชื่อและไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตตามความประสงค์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะทำให้คะแนนที่ผู้ร้องและภรรยาลงคะแนนเลือกตั้งไปนั้นไม่มีผลเป็นคะแนนเลือกตั้งได้แต่อย่างใด เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก (๓) การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓ ) และวรรคสอง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา ๒๙ เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ภรรยาผู้ร้อง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกกว่า ๒ ล้านคน ที่จะต้องดำเนินการให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากลับดำเนินการโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓ ) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกสภาวุฒิสภาฯมาตรา ๙๖ วรรคแรก และที่แก้ไข( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓๓ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ในเขตเลือกตั้งตามทะเบียนที่มีชื่อผู้ร้องและภรรยาเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป โดยอ้างถึงผู้ร้องและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้เคยลงทะเบียนขอลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตไว้ในปี ๒๕๕๐ มาเป็นเหตุขัดขวางลิดรอนและจำกัดการใช้สิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจผู้ถูกกล่าวหากระทำการเช่นนั้นได้

๓.๒ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้อ้างถึงการขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ร้องและภรรยาในปี ๒๕๕๐ มาเป็นเหตุผลให้ผู้ร้องและภรรยา ตลอดจนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตและต้องไปใช้สิทธิล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้เป็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ นั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลือกตั้ง จะต้องทราบการใช้บังคับกฎหมายเป็นอย่างดีว่า การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตนั้น เพราะมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคสองเท่านั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคสอง เท่านั้น จึงจะใช้สิทธิดังกล่าวได้ คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละบุคคล แต่ละครั้งของการใช้สิทธิลงคะแนนย่อมไม่เหมือนกัน และต่างกันได้ตามความจำเป็นของแต่ละคน การขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตไม่ใช่เป็นสัญญา หรือข้อผูกมัดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะยึดถือให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาดังกล่าวนั้นตลอดไป หาได้ไม่ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาของการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตของผู้ร้องและภรรยา และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตผู้อื่นกว่า ๒ ล้านคน ซึ่งได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๕๐ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาดังกล่าวได้หมดสิ้นไปแล้ว เพราะมีการเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา เดิมที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้จนสิ้นไปแล้วโดยการยุบสภา การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ของการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๐ แต่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขใหม่ปี ๒๕๕๔ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่มีอำนาจ หน้าที่ตามกฎหมายใดๆที่จะมาบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอยู่ในบังคับของเงื่อนไข เงื่อนเวลาที่สิ้นสุดไปแล้วของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นเงื่อนไข เงื่อนเวลาที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๐ ได้แต่อย่างใด เพราะผู้ร้องและภรรยาได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทะเบียนบ้านโดยขอใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดกาญจนบุรี และได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนในจังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ.๒๕๕๐ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญ( ฉบับที่ ๑ ) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓ โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วนที่ผู้ร้องและภรรยาได้เคยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรีได้อีกต่อไป แต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อมาใช้บังคับแทนโดยที่ผู้ร้องและภรรยาไม่ได้ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่จังหวัดกาญจนบุรีไว้แต่อย่างใด การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ดำเนินการใดๆที่จะบังคับให้ผู้ร้องและภรรยาและผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดิมที่ได้เคยขอใช้สิทธิไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นการดำเนินการเลือกตั้งโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) และวรรคสอง โดยจะนำเอาการแสดงเจตนาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๕๐ มาเป็นข้อผูกพันผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ต้องใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตลอดไปหาได้ไม่ ทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่นอกบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้เป็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ชัดเจน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) การจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้ผู้ร้องขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) ทันที การลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ร้องหากต้องไปลงคะแนนในเขตจังหวัดกาญจนบุรีที่ผู้ร้องเคยขอใช้สิทธิไว้ในปี ๒๕๕๐ คะแนนเลือกตั้งที่ผู้ร้องหากไปลงคะแนน ก็ไม่ใช่เป็นการลงคะแนนของผู้มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะนับเป็นคะแนนเลือกตั้งตามกฎหมายไม่ได้ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นการดำเนินการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และมิใช่เป็นการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างใด

๓.๓ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ทราบเป็นอย่างดีแล้วว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้เลือกตั้งไว้โดยชัดแจ้งให้ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๙๐ วันถึงวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓) อันเป็นการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ชัดแจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านของตนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคแรก ( ๓ ) และมาตรา ๒๗

ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบด้วยว่า รัฐธรรมนูญได้มีการแก้ไขบทมาตราเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้หลักฐานทางทะเบียนราษฎรที่มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งมาเป็นเกณฑ์คำนวณจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๓ ,๙๔ ,๙๕ ,๙๖ , ๙๗ ,๙๘ และที่แก้ไข พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๓ นั้น เป็นการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเลือกตั้ง โดยปริยายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดแจ้งโดยปริยายไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖, ๒๗ และสิทธิ เสรีภาพของผู้ร้อง ภรรยา รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนจะต้องได้รับความคุ้มครองที่ผู้ร้องและภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนจะต้องได้สิทธิเลือกตั้งในเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านของตน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะออกกฎหมาย จะใช้บังคับกฎหมายตีความในกฎหมาย หรือจะออกระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือจะมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ร้อง ภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าสองล้านคนไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีชื่อของตนอยู่ในทะเบียนบ้านนั้นไม่อาจทำได้เลย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ , ๒๗ ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องและภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าสองล้านคน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ วรรคสอง ทั้งเป็นการกำจัดสิทธิและเสรีภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลตามที่รัฐได้รับรองได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ และเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นการจงใจกระทำโดยผิดต่อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ โดยผู้ร้องภรรยาและผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคนไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งเขตเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต เที่ยงธรรม เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่สุจริตเที่ยงธรรมได้เกิดขึ้น จากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการและจัดการการเลือกตั้งและเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเลือกตั้งทั้งเขตประเทศ

ข้อ ๔. ภายหลังจากการไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ร้องในเขตเลือกตั้งที่ ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และถูกห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งจากเจ้าพนักงานประจำหน่วยเลือกตั้งแล้ว ผู้ร้องได้ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ดำเนินการเลือกตั้งโดยให้ผู้ที่ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้าไว้ในปี ๒๕๕๐ นั้นต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตที่เคยขอใช้สิทธิไว้ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยจะมาใช้สิทธิลงคะแนนในเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่ได้ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ออกประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งโดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เรื่องกำหนดวันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ. ที่เลือกตั้งกลาง โดยกำหนดให้วันลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ. ที่เลือกตั้งกลาง และวันลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ.ที่เลือกตั้งนอกเขตจังหวัด เป็นวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ปรากฏตามเอกสารที่แนบท้ายคำร้องหมายเลข ๒ โดยไม่ปรากฏข้อความในประกาศดังกล่าวมีข้อความที่ระบุให้ผู้ที่ได้เคยใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ด้วยแต่อย่างใด แต่จากการตรวจสอบและสอบถามได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้มีการประชุมกันที่จะให้ผู้ที่ได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๕๐ นั้น ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้าตามที่ได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้เดิม เพราะการทำบัญชีรายชื่อโดยให้ผู้ที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๕๐ ต้องกลับมาใช้สิทธิในเขตทะเบียนบ้านเดิม โดยต้องทำทะเบียนบ้านผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่นั้น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึงได้ใช้วิธีการให้ผู้ที่ได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้าที่ได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งในปี ๒๕๕๐ นั้น จะใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเดิมที่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ได้อีกต่อไป เพราะได้เคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งไว้แล้ว จึงหมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งจนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง โดยทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้อ้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๗ มาใช้บังคับในกรณีดังกล่าว

รายละเอียดคำร้อง พล.ต.จำลอง ยื่นศาลฎีกาฯ คัดค้านเลือกตั้ง 3 ก.ค.54(ต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น