ผู้ร้องจึงร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายออกใช้บังคับกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองโดยออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลาย อันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๓๕ วรรคสอง รวมทั้งวางระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และการดำเนินการใดๆของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาคและมีโอกาสทัดเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๖ ( ๑) ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่ในการใช้บังคับกฎหมาย ( ใช้บังคับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ) และตีความกฎหมายทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๕ วรรคสองประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ามีความผูกพันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและตีความกฎหมายทั้งปวงนั้น จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญนี้ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายด้วย โดยจะตรากฎหมาย ใช้บังคับและตีความกฎหมาย โดยละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไวโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายหาได้ไม่
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประกาศมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยการใช้บังคับกฎหมาย การตีความกฎหมายโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับกฎหมาย และตีความในกฎหมายและออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย ใช้การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเป็นกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน ออกกฎหมายเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจในการจัดการเลือกตั้งและดำเนินการเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจ ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมดังเหตุผลจะกราบเรียนต่อไป
๔.๑ ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวัน และเวลาลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ.ที่เลือกตั้งกลาง โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ นั้น ประกาศของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้อ้างการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๖ ( ๑) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๙ ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้ในการออกประกาศซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นประชาชนเลย จึงเป็นการใช้อำนาจออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดต่อสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ เป็นการออกกฎหมายใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามอำเภอใจและโดยพลการ โดยเป็นประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ จึงเป็นการออกกฎหมายโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและละเมิดต่อสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาจะออกประกาศโดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๖ (๑) เพียงมาตราเดียวไม่ได้ แต่จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ และมาตรา ๙๙ มาเป็นหลักในการออกประกาศดังกล่าวด้วย เพราะประกาศมีผลใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกาศตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการออกกฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองได้ไปซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ , ๖๙
๔.๒ การออกประกาศให้มีการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ได้อ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ นั้น จะเห็นได้ว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสองนั้นได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ โดยให้เป็นอำนาจของประธานกรรมการเลือกตั้ง และ/หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาได้บัญญัติไว้ สิทธิของผู้เลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๙ วรรคสอง เท่านั้น ที่จะนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาใช้บังคับได้ รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรก และวรรคสอง ได้บัญญัติแยกไว้ชัดเจน ถึงการนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาใช้เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๙๙ วรรคสอง เท่านั้น จะนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ มาใช้ในกรณีผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง โดยจะบังคับให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวไปใช้สิทธิที่อื่นนอกเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ตามมาตรา ๙๙ วรรคแรกไม่ได้เลย การออกประกาศของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่จะเอามาตรา ๙๗ มาใช้บังคับ เพื่อให้ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่อื่น โดยนำเอาการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๐ มาตีกรอบโดยใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๗ มาใช้บังคับ เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้นั้น จึงเป็นการใช้บังคับกฎหมายโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะจะนำมาตรา ๙๕ หรือมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภาฯมาใช้กับรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคแรกไม่ได้เลย การออกประกาศดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจึงเป็นการกระทำที่ออกประกาศโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ เพราะจะนำมาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๙๙ วรรคแรกไม่ได้ การจัดการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงเป็นการจัดการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๕ เป็นการจัดการเลือกตั้งและดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองได้ไปซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘
๔.๓ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ใช้บังคับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ ตลอดจนตีความรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๗ ดังกล่าว โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ใช้บังคับกฎหมายและตีความในกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้นำเอาสิทธิในการขอลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๕ มาใช้รวมกับการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๗ การขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการขอใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง การขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งจะมีได้ก็แต่เฉพาะในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือผู้ที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเดินทางไปนอกเขตเลือกตั้งที่ตนต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ.ที่เลือกตั้งได้ การขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งที่ไม่ใช่เหตุดังกล่าวแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งไม่ได้ ทั้งสิทธิของการขอใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งไม่ใช่เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้แต่อย่างใด แต่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ เท่านั้น
แต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง เป็นกรณีขอใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดไว้เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้ง คือวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ไม่ใช่เป็นการขอลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง และการจะใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า ๙๐ วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯให้ผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจะต้องไปลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งสามสิบวัน สิทธิการขอให้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเป็นสิทธิที่ได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ วรรคสอง
การที่เงื่อนไขตามกฎหมายของการใช้สิทธิลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งตามมาตรา ๙๕ กับเงื่อนไขการใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง ตามมาตรา ๙๗ และตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง นั้น มีเงื่อนไขตามกฎหมายที่ต่างกันและเป็นสิทธิที่ต่างกัน สิทธิที่ได้รับรองโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง การรับรองและคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น จะรับรองและคุ้มครองทุกครั้งและทันทีที่เกิดสิทธิ หรือมีการก่อให้เกิดสิทธิ ดังนั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งได้ประกาศในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นั้น การรับรองและการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙ และมาตรา ๒๗ จึงเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุที่ต้องใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ และ มาตรา ๒๗ ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร การคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงผูกพันผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่จะต้องคุ้มครองสิทธิในการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๗ มาตีความและใช้บังคับกับมีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมาใช้บังคับ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสูญสิทธิในการเลือกตั้งไม่ได้เลย และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะออกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นประกาศ หรือ ระเบียบมาใช้บังคับเพื่อลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ร่วมกันออกกฎหมาย คือระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๒๘ ตอนที่ ๓๗ ก. วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ “ เรื่อง กำหนดวันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ณ.ที่เลือกตั้งกลาง” ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ โดยนำเอาประกาศหมายเลข ๓ นี้ มาใช้กับผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดของตนตามที่ระบุไว้ในประกาศข้อ ๒ อันเป็นการประกาศโดยการบังคับผู้ที่ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตต้องมาลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งด้วย จึงเป็นการออกประกาศที่เอาสิทธิในการลงคะแนนของผู้ขอใช้สิทธิลงคะแนนในเงื่อนไขของกฎหมายที่ต่างกันให้มาลงคะแนนในวันเวลาเดียวกัน อันเป็นการออกประกาศเพิ่มภาระให้แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเป็นประกาศที่จำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามวันเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปคือไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยที่ผู้ขอลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตไม่ได้มีความประสงค์จะลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งแต่อย่างใด
การออกประกาศของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงเป็นการออกประกาศที่ปิดกั้นการใช้สิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไม่ให้ไปใช้สิทธินอกเขตในวันเลือกตั้ง วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และจำกัดสิทธิของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตให้ต้องไปใช้สิทธิในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา การออกประกาศ โดยกำจัดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง จึงกระทำมิได้ เป็นการออกประกาศโดยนำเอาสิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งตามมาตรา ๙๓ กับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตามมาตรา ๙๗ มาระคนปนกันแล้วเหมารวมกันให้ผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตมาเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งด้วย จึงเป็นการออกประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๖ (๑) เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่ผู้ถูกกล่าวหาออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าออกประกาศเพื่อให้มีการปฏิบัติโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๙๗ได้แต่อย่างใดเลย และเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายให้กระทำได้แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะออกประกาศจำกัดสิทธิ เสรีภาพ โดยออกประกาศบังคับให้ไปใช้สิทธินอกเขตก่อนวันเลือกตั้งหาได้ไม่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งตามหมายเลข ๓ จึงเป็นประกาศที่ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ , ๒๘ ,๒๙ ,๙๙ และมาตรา ๒๓๖ (๑)การจัดการเลือกตั้งและการดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงเป็นการจัดการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการจัดการเลือกตั้งที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสูญเสียสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าดำเนินการและจัดการเลือกตั้งโดยบังคับให้ผู้ใช้ขอสิทธิเลือกตั้งนอกเขต ต้องใช้สิทธินอกเขตโดยต้องใช้สิทธิก่อนถึงวันเลือกตั้งด้วยนั้น เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยจึงแน่นขนัดไปด้วยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และเกิดปัญหาทำให้ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ทัน ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวกันแล้ว ( หลักฐานเอกสารจะเสนอในชั้นพิจารณา )
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ได้นำเอาการขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา ๙๕ กับการขอใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙๙ วรรคสอง ออกเป็นประกาศให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันในคราวเดียวกัน โดยให้มีการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ นั้น ได้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้อง เพราะผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ในหน่วยเลือกตั้งที่ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง โดยผู้ร้องได้ไปตั้งแต่ ๘ นาฬิกา และไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามที่ได้กราบเรียนมาแล้วตามคำร้องข้างต้น ผู้ร้องได้สอบถามเจ้าพนักงานประจำหน่วยเลือกตั้งเขตที่ ๕ ที่ผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นว่า ผู้ร้องจะไปใช้สิทธิที่จังหวัดกาญจนบุรีตามที่เจ้าพนักงานประจำหน่วยเลือกตั้งได้แจ้งให้ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่เจ้าพนักงานผู้นั้นได้แจ้งว่า ผู้ร้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่จังหวัดกาญจนบุรีไม่ได้แล้ว เพราะล่วงพ้นเวลาไปแล้ว ผู้ร้องต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตก่อนวันเลือกตั้ง คือต้องไปลงคะแนนในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ด้วย ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหามิได้กระทำการอัน มิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเห็นว่าผู้ที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๕๐ จะต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ได้ขอใช้สิทธิในปี ๒๕๕๐ โดยจะใช้สิทธิในเขตท้องที่ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ได้แล้ว ผู้ร้องก็ย่อมจะไปใช้สิทธิลงคะแนนในจังหวัดกาญจนบุรีได้ในวันเลือกตั้งวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งผู้ร้องก็สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ทันในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้นำเอาการใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งมากำหนดให้ผู้ขอใช้สิทธินอกเขตมาใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งด้วย จึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง หรือกระทำการหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นการกระทำที่ตัดสิทธิการใช้สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหลายล้านคนในคราวเดียวกัน การดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการดำเนินการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองได้ไปซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างใด จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาไต่สวนคำร้องต่อไปด้วย
๔.๔. ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง ณ.ที่เลือกตั้งกลาง ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ ซึ่งผู้ร้อง ภรรยาและผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคน ได้ถูกตัดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ในเขตเลือกตั้งที่มีทะเบียนบ้านของตนในเขตเลือกตั้ง ได้มีการอ้างถึงมติคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมครั้งที่ ๔๕ / ๒๕๕๔ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ อันเป็นสาเหตุอ้างไม่ให้ผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๕๐ ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเดิมที่ได้เคยขอใช้สิทธิไว้ โดยจะให้ผู้ร้องไปใช้สิทธิที่จังหวัดกาญจนบุรี การตัดสิทธิไม่ให้ผู้ร้องและผู้ที่เคยขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๕๐ สามารถใช้สิทธิลงคะแนนในเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้ รับรองไว้ตามมาตรา ๙๙ วรรคแรก (๓)ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ามีความผูกพันที่จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง ภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นๆให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในเขตทะเบียนบ้านที่ผู้คนมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้งได้ และไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ามาจำกัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะอ้างมติที่ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นเหตุลิดรอนสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งของผู้ร้องก็หาอาจทำได้ไม่ เพราะมติของคณะกรรมการเลือกตั้งไม่ใช่กฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาจะใช้มติที่ประชุมมาดำเนินการไม่คุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และกระทำละเมิดต่อสิทธิในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญได้รับรองโดยชัดแจ้งแล้ว หาได้ไม่ การดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งตามวิถีทางปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่เป็นการกระทำตามอำเภอใจ อันเป็นการประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง หรือเป็นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จึงขอศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้โปรดพิจารณาต่อไปด้วย
ข้อ ๕. เมื่อผู้ร้องถูกตัดสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยผู้ร้องเห็นว่า การจัดการเลือกตั้งและการดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ใช่เป็นการจัดการเลือกตั้งและดำเนินการเลือกตั้งตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ทำการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๓ แต่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจาการดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ไม่ชอบดังกล่าว จึงเป็นการที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้รู้แล้วว่า การเลือกตั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้จัดให้มีการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเกิดจากการกระทำในการดำเนินการและจัดการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า
ด้วยเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และได้ประกาศให้มีการเลือกทั้งไปในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยมีนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และต้องดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทั้งต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยจะกระทำการใดๆอันเป็นการละเมิด หรือลิดรอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้
แต่จากการตรวจสอบก็ได้พบว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้มีเจตนาโดยไม่สุจริตในการดำเนินการเลือกตั้ง มีเจตนาจะกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ มีเจตนากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง หรือกระทำการละเว้นกระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจึงได้ร่วมกันออกระเบียบเพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิดในการเลือกตั้ง และให้อำนาจแก่ตนเองในการที่จะดำเนินการใดๆ ในการดำเนินการเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจ โดยได้ออกระเบียบยกเว้นให้ตนเองไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องเอกสารหมายเลข ๔ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจึงได้ออกระเบียบที่ตนเองไม่ต้องปฏิบัติการเลือกตั้งให้เป็นตามรัฐธรรมนูญ และละเว้นไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและโดยปริยาย ทั้งๆที่มีความผู้ถูกกล่าวหามีความผูกพันที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิ ดังนั้นในการออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังกล่าว จึงไม่ปรากฏบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และความผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไว้เลย โดยระเบียบดังกล่าวจึงไม่ได้อ้างถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ , มาตรา ๒๘,มาตรา ๒๗ ,มาตรา ๒๙ , มาตรา ๙๙ ไว้เลย แต่จะอ้างการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเฉพาะตามมาตรา ๒๓๖ ( ๑) เท่านั้น แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่มีเจตนาที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยละเมิดต่อสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยอาศัยระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๔ ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๕ ดังกล่าว
และตามระเบียบดังกล่าวยังปรากฏหลักฐานที่ชัดแจ้งที่แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่จะกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ เพราะผู้ถูกกล่าวหาได้ออกระเบียบ มีข้อความที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าดำเนินการเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีความผิดใดๆไว้ โดยไม่ต้องยึดหลักกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งๆที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความในระเบียบข้อ ๕.ว่า “ ให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ กรณีจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือเห็นสมควรให้มีการปฏิบัตินอกเหนือระเบียบนี้ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนเป็นกรณีๆไป” การออกระเบียบดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า และเป็นเจตนาที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ โดยได้ออกระเบียบให้ตนเองไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ตนออกไว้ก็ได้โดยไม่มีความผิดใดๆ การออกระเบียบดังกล่าวองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถออกระเบียบให้ตนเองสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบหาได้ไม่ การออกระเบียบดังกล่าวเป็นการออกระเบียบโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ให้อำนาจผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจอธิปไตยเหนือปวงชนชาวไทย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ เป็นการออกระเบียบให้ตนเองอยู่เหนือกฎหมายและมีอำนาจเหนือกฎหมาย จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ โดยเพียงแต่อาศัยความเห็นชอบจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเท่านั้น เป็นการออกระเบียบเพื่อให้ตนเองทิ้งหน้าที่ ละเว้นการทำหน้าที่ได้โดยไม่มีความผิด ทั้งๆที่ต้องรักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัยความเห็นชอบจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเท่านั้น ละเว้นไม่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต การโกงการเลือกตั้งก็ได้โดยไม่มีความผิด ละเว้นไม่ทำหน้าที่ในความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองก็ได้โดยที่ไม่มีความผิด ไม่ทำหน้าที่ของการเป็นผู้เสียหายแทนประชาชนและแผ่นดินก็ได้ โดยอาศัยเห็นชอบของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเท่านั้น เมื่อมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งที่ไม่ชอบ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจะไม่ดำเนินการใดๆก็ได้โดยไม่มีความผิด โดยอาศัยความเห็นชอบของตนเองเท่านั้น ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานจากการแถลงของผู้ถูกกล่าวหาว่า มีการร้องคัดค้านเข้ามาล่าสุด ( ก่อนวันเลือกตั้ง ) รวมทั้งสิ้น ๑๘๕ เรื่อง และมีเรื่องแจ้งเบาะแสรวม ๑,๙๒๙ เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง เจ้าหน้าที่รัฐวางตัวไม่เป็นกลาง การขมขู่ หลอกลวง ผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถไม่ดำเนินการใดๆก็ได้ โดยอาศัยความเห็นชอบของตนเอง ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิจารณาปัญหาเรื่องหนึ่งกลับไปกลับมาได้ เพราะอาศัยความเห็นชอบร่วมกันได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าสามารถไปรับประทานอาหารกับผู้สมัครรับเลือกตั้งในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะเห็นชอบร่วมกันให้ทำได้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถรับอานิสสินจ้างใดๆก็ได้ หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นชอบพร้อมกันโดยสามารถทำได้ทำเรื่อง ทุกกรณี โดยอาศัยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้ร่วมกันทำขึ้น ตามเอกสารหมายเลข ๕
การออกระเบียบตามเอกสารหมายเลข ๕ ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า แสดงให้เห็นเจตนาที่จะร่วมกันกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นเจตนาที่จะกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าทราบดีว่า การออกระเบียบข้อ ๕ ดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้การกระทำความผิดของตนเองหลุดพ้นจากความผิดและไม่ต้องรับผิดต่อความผิดทุกอย่างทุกประเภทได้ โดยอาศัยความเห็นชอบร่วมกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า และผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าทราบดีว่าหากตนไม่ออกระเบียบข้อ ๕ นี้ ใช้บังคับ ตนเองก็อาจต้องรับผิดในการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันมีโทษทางอาญาได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าจึงได้ร่วมกันเพิ่มข้อความเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองในการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ของตนเอง หรือในการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งของตนเอง การออกระเบียบตามข้อ ๕ นี้ เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่อาจทำได้เลยในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความผูกพันที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ การออกระเบียบของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๕๔ จึงต่างกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งไม่มีข้อความตามข้อ ๕ ในระเบียบดังกล่าวไว้เลย ปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๐ ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๒๔ ตอนที่ ๗๒ ก วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข ๕ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าที่ได้มีการออกระเบียบข้อ ๕ ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๕๔ อย่างชัดเจน
การออกระเบียบเพื่อยกเว้นไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่ต้องรับผิดในการกระทำความผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายโดยอาศัยความเห็นชอบร่วมกันของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้านั้น หาทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าพ้นจากความรับผิดในการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย เพราะการออกระเบียบซึ่งใช้เป็นกฎหมายในการดำเนินการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งนั้น เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนในการเลือกตั้ง การออกกฎหมายของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ซึ่งปวงชนชาวไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าใช้อำนาจของปวงชนชาวไทย ในการออกกฎหมายใช้บังคับกับประชาชนในการเลือกตั้ง โดยยกเว้นให้ตนเองไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายในกรณีทำผิดกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือกฎหมายโดยอาศัยความเห็นชอบจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้านั้น จึงเป็นการใช้อำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งไม่มีกฎหมายหรืออำนาจใดๆให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ากระทำได้ “ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๒๘ ตอนที่ ๓๗ ก. ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ซึ่งใช้ในการดำเนินการและจัดการเลือกตั้ง จึงเป็นระเบียบที่ไม่สามารถใช้บังคับในการเลือกตั้งได้ เป็นการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการออกระเบียบดังกล่าว การนำระเบียบดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า เป็นการกระทำโดยทุจริต ประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ส่อพฤติการณ์เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้การเลือกตั้งเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง เพื่อให้ได้ไปซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ( หลักฐานและเอกสารจะเสนอในชั้นพิจารณา )
ด้วยเหตุผลดังกราบเรียนเป็นลำดับมาในข้างต้น คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบ ซึ่งเป็นกฎหมายให้อำนาจตนเองมีอำนาจเห็นชอบให้ตนเองทำผิดกฎหมายได้ ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบในการออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยจงใจลิดรอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ให้ลงคะแนนเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมากกว่า ๒ ล้านคน รวมทั้งผู้ร้องและภรรยาผู้ร้อง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ , มาตรา ๒๖ , มาตรา ๒๗ , มาตรา ๒๘ , มาตรา ๒๙ , มาตรา ๖๘ , มาตรา ๖๙ มาตรา ๙๓ , ๙๔ , ๙๕ , ๙๖ , ๙๗ , ๙๘ ( และที่แก้ไข ) และมาตรา ๙๙ , มาตรา ๒๑๙ , มาตรา ๒๓๕ , มาตรา ๒๓๖ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาฯ ( และที่แก้ไข ) มาตรา ๙๕ , ๙๖ ,๙๗ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งฯ มาตรา ๒๙ จึงขอให้ศาลได้โปรดทำการไต่สวนและมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้รับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วทั้งหมด และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปด้วย
ข้อ ๖. ผู้ร้อง ภรรยา และผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า ๒ ล้านคน ไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ในวันเลือกตั้งวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าได้กระทำโดยละเมิดต่อสิทธิของผู้ร้อง ภรรยา ในการลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๙วรรคแรก (๓) โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ , ๒๗ และ ๒๙ ในการคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจึงไม่สุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นการเลือกต้องที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงมีสิทธิจะร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม และในฐานะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทน ปวงชนชาวไทย ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งที่จะต้องมีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อให้ได้ผู้แทนปวงชนชาวไทยมาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการเลือกตั้งตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ มาตรา ๖๙ ผู้ร้องจึงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้”
(๗) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอการตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้ร้องจึงขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งตามอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ
๑.ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด อันเกิดจากการดำเนินการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ( และที่แก้ไข ) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ , ๒๖ , ๒๗ , ๒๘ , ๒๙ , ๖๘ , ๖๙ , ๙๓ , ๙๔ , ๙๕ , ๙๖ , ๙๗ ,๙๘ ( และที่แก้ไข ) ๙๙ , ๒๑๙ ,๒๓๕ และมาตรา ๒๓๖ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯมาตรา ๙๕ ,๙๖, ๙๗ ( และที่แก้ไข ) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งฯ มาตรา ๒๙
๒. มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ผู้มีอำนาจดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ตามอำนาจ หน้าที่ ตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญต่อไปตามอำนาจทั่วไปของศาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ , มาตรา ๖๘ ,มาตรา ๖๙ ประกอบกับมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้า พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
บัญชีระบุพยานควรจะมีบุคคลและเอกสาร ภาพข่าว คือ
๑. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
๒. ภรรยา พล.ต.จำลอง
๓. นายปานเทพ
๔. ผู้อำนวยการเขตในเขตเลือกตั้งของผู้ร้อง หรือกรรมการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งผู้ร้อง
๕. นายสุทธิผล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน กกต.
๖. พยานอื่นๆที่ลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้หลายๆ คนเท่าที่จำได้
๗. รายงานการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มี ( หมายเรียก ) การประชุมเพื่อออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔
๘. รายงานการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ ๔๕/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ( เพื่อให้เห็นว่า กกต.ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ )
๙. ภาพและข่าวจากสื่อมวลชนเรื่องผู้ใช้สิทธิเลือกไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันดังกล่าว ( เพื่อให้เห็นว่า กกต.ทำหน้าที่โดยผิดกฎหมาย )
๑๐. การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่สัญญาจะให้ ( เพื่อให้เห็นว่า กกต.ไม่ทำหน้าที่ )
๑๑. การโฆษณาหาเสียงว่า ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ ( เพื่อให้เห็นว่า กกต.ไม่ทำหน้าที่ )